มาลงทุนและช่วยต่อต้านคอร์รัปชัน

มาลงทุนและช่วยต่อต้านคอร์รัปชัน

อาทิตย์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไปร่วมการเสวนา “Anti -Corruption พัฒนาตลาด

การเงินได้อย่างไรและได้รับทราบไอเดียที่กำลังมีการพัฒนาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่จะเชื่อมการลงทุนในตลาดหุ้นกับการต่อต้านการทุจริตซึ่งดีและน่าสนใจมาก และก็โยงกับงานที่สถาบันไอโอดีทำโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นด้านซีจี หรือด้านการต่อต้านการทุจริต เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการพัฒนาตลาดทุนและการพัฒนาทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุน ที่เชื่อมโยงประเด็นธรรมาภิบาลและการต่อต้านการทุจริตกับการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียน วันนี้ก็เลยจะเขียนถึงประเด็นนี้

ความคิดที่พูดถึงนี้ เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลงทุนใหม่ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ที่จะพัฒนาพอร์ตการลงทุนที่เน้นลงทุนเฉพาะในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีนโยบายและการปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยในการคัดเลือกบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือมีธรรมาภิบาลที่ดีนั้น การคัดเลือกจะใช้คะแนนประเมิน CGR ของบริษัทจดทะเบียนที่สถาบันไอโอดีจัดทำทุกปี เป็นเกณฑ์คัดเลือก ซึ่งเกณฑ์ CGR ดังกล่าวพิจารณาประเด็นสำคัญในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในทั้งห้าประเด็นตามมาตรฐานสากล คือ (1) สิทธิของผู้ถือหุ้น (2) การดูแลผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน (3) การดูแลสิทธิและประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (4) การเปิดเผยข้อมูล และ (5) การทำหน้าที่ของคณะกรรมการ แต่จะคัดสรรเฉพาะบริษัทที่ได้คะแนนประเมินในระดับดีเลิศ คือ ได้ 90 คะแนนขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งปีที่แล้วมีบริษัทจดทะเบียน 55 บริษัท ที่ได้คะแนนในเกณฑ์ดีเลิศ หรือระดับห้าดาว

สำหรับการคัดเลือกบริษัทที่มีนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริต เกณฑ์คัดเลือกก็คือ บริษัทต้องผ่านหรือได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หรือคณะกรรมการโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ที่สถาบันไอโอดีเป็นองค์กรขับเคลื่อน ซึ่งรับรองว่าบริษัทมีนโยบาย และมีระบบการป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนดซึ่งได้ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีภายนอก หรือจากประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท (ซึ่งต้องเป็นกรรมการอิสระ) แล้วว่ามีนโยบายจริง มีแนวปฏิบัติจริง และมีการนำนโยบายมาปฏิบัติใช้จริง

ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมโครงการ CAC โดยสมัครใจแล้ว 336 บริษัท จากทั้งหมด 655 บริษัทเอกชนที่ได้เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับโครงการ CAC ถึงวันนี้ และจาก 336 บริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมนี้ ขณะนี้มี 76 บริษัทที่ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC แล้ว นี่คือเกณฑ์ที่สอง จากนั้นทางกองทุนวรรณก็จะวิเคราะห์เจาะลึกเพิ่มเติมในบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ทั้งสองนี้ รวมถึงใช้ข้อมูลอื่นๆ และการเข้าพบสัมภาษณ์ผู้บริหารหรือกรรมการบริษัทเพื่อกลั่นกรองให้ละเอียดอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้ได้บริษัทกลุ่มสุดท้ายที่จะอยู่ในพอร์ตการลงทุน

ล่าสุดเท่าที่ทราบ มีบริษัทจดทะเบียน 28 บริษัทที่อยู่ในกลุ่มคัดเลือกสุดท้าย และที่สำคัญทั้ง 28 บริษัทนี้ ดร.วิน กล่าวว่า ได้ทดสอบเชิงสถิติแล้วโดยวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง ปรากฏว่าผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านี้ในอดีตจะสูงกว่าผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยปรกติของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด พูดง่าย ๆ คือ ให้ผลตอบแทนดีกว่าหรือ Outperform ผลตอบแทนของบริษัททั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งน่าสนใจ

ในความเห็นของผม พัฒนาการดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่สำคัญน่าสนใจและเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาสนับสนุนอย่างน้อยด้วยสามเหตุผล

หนึ่ง เป็นพัฒนาการที่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลที่ดี และการต่อต้านคอร์รัปชันของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มักถูกมองข้ามโดยนักลงทุน และการจัดทำรูปแบบลงทุนแบบนี้ จะช่วยให้บริษัทที่มีนโยบายและมีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นที่รู้จักของนักลงทุน เหมือนให้รางวัลบริษัทที่ทำดี และสร้างแรงจูงใจให้บริษัทที่ยังไม่ได้ทำ ให้มีนโยบายและมีแนวปฏิบัติในเรื่องธรรมาภิบาลและการต่อต้านการทุจริตมากขึ้น เพื่อจะได้ถูกคัดเลือกในอนาคต

สอง เป็นพัฒนาการที่ชี้ให้เห็นว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีและการต่อต้านการทุจริต ไม่ใช่เป็นต้นทุนต่อธุรกิจ หรือเป็นข้อจำกัดที่จะทำให้ธุรกิจไม่สามารถเติบโต ตรงกันข้ามการกำกับดูแลกิจการและการทำธุรกิจอย่างสะอาดนั้น เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตระยะยาวของบริษัท เป็นการลงทุนที่จะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะโมเดลธุรกิจของบริษัทมาจากการความสามารถในการแข่งขัน จากประสิทธิภาพและนวัตกรรม ไม่ใช่จากวิ่งเต้น การให้สินบนเพื่อสร้างความได้เปรียบ หรือพึ่งพาอิทธิพลทางการเมือง เพื่อคุ้มครองธุรกิจและการทำผิดกฎหมายของผู้บริหารในอดีต สิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน มีความเสี่ยง และเทียบไม่ได้กับการเติบโตด้วยความสามารถและด้วยฝีมืออย่างมืออาชีพ

สาม เป็นพัฒนาการที่สร้างทางเลือกที่ดีให้กับนักลงทุนทุกระดับ สำหรับนักลงทุนสถาบัน การลงทุนในบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดีนั้น ขณะนี้เป็นทางเลือกอันดับหนึ่งของนักลงทุนสถาบันทั่วโลก เพราะบริษัทที่ขาดธรรมาภิบาลนั้นจะถือเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุน เพราะกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทเหล่านี้สามารถใช้อำนาจความเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ เลือกที่จะสร้างประโยชน์ให้กับตนเองหรือทำในสิ่งที่ไม่ควรทำได้ จากที่การกำกับดูแลของบริษัทไม่เข้มแข็ง ขาดการตรวจสอบและการคานอำนาจอย่างที่ควร ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงต่อผู้ถือหุ้นอื่นๆ และนักลงทุน ตรงกันข้ามบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะถูกมองเป็นบริษัทที่สามารถสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับการลงทุนได้ เพราะมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี นำไปสู่การตัดสินใจที่ระมัดระวัง และการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว

ในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ พอร์ตลงทุนที่เน้นเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการต่อต้านการทุจริต จะเป็นสินค้าเด่นที่จะยกระดับคุณภาพการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในบ้านเราให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพทั้งในแง่ความสามารถ การทำกำไร และการกำกับดูแลกิจการที่ดีอยู่มากมาย สมควรที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการระดมทุนจากนักลงทุนทั่วโลก เพื่อส่งเสริมให้บริษัทเหล่านี้เติบโตได้ดีต่อไป

และสำหรับนักลงทุนรายย่อย การลงทุนในบริษัทเหล่านี้ นอกจากจะให้ผลตอบแทนที่ดีแล้ว ยังเป็นทางเลือกที่จะต้องช่วยให้การลงทุนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไปพร้อมๆ กัน คือ ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทที่ทำดี ที่สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจ และร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ ขณะเดียวกันก็ทำโทษหรือไม่สนับสนุนบริษัทที่มีพฤติกรรมทางธุรกิจที่ไม่ดี ที่ขาดธรรมาภิบาล และทำธุรกิจโดยการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ให้มีพื้นที่อยู่ในตลาดทุนไทย ทำให้นักลงทุนจะได้ทั้งผลตอบแทนและช่วยพัฒนาคุณภาพการทำธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนไปด้วยในตัว

วันนี้ก็ขอสื่อความเพียงแค่นี้ ขอชมเชยและเอาใจช่วยการพัฒนาตลาดทุนของประเทศในเชิงที่สร้างสรรค์ และสำหรับนักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะ มีการศึกษา มีทรัพย์สิน ต้องถือเป็นหน้าที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนแต่ในเรื่องที่ถูกต้อง ช่วยกันแก้ไขและปฏิเสธสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ ไม่ยอมให้พฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น การทุจริตคอร์รัปชันและการขาดธรรมาภิบาลมาฉุดรั้ง และทำลายอนาคตประเทศได้อีกต่อไป