ถ้าไทยไม่สร้าง ‘ทุนมนุษย์’ อย่างจริงจัง อนาคตก็มืดมน
ไทยเราจะต้องทำอะไรเพื่อสร้าง “ทุนมนุษย์”
ให้สอดคล้องกับความต้องการสร้างเศรษฐกิจให้แข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้?
เมื่อเร็ว ๆ นี้สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จัดงานใหญ่ในหัวข้อนี้เป็นครั้งแรก เพื่อระดมสมองผู้รู้ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ปฏิบัติ มาตั้งวงเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างตรงไปตรงมา
ผมได้รับเชิญไปเป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำเสนอทางออกจากทุกฝ่าย อย่างเปิดกว้างเพื่อเป็นแนวทาง ของการปรับปรุงแก้ไขกันอย่างจริงจัง หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอตัวช่วยเหลือ ทั้งด้านเงินทองและผู้เชี่ยวชาญมาหลายปี
ท่านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประเทศประเทศไทย ที่เป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมนี้ยืนยันกับผู้เข้าร่วมฟังกว่า 200 คนว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยสร้างให้ไทยเป็น “ฮับ” หรือศูนย์กลางของการสร้างทรัพยากรมนุษย์ในย่านนี้อย่างเต็มภาคภูมิ
ความเห็นและข้อเสนอที่กระชับและตรงประเด็น ได้รับการนำเสนออย่างคึกคักและเข้มข้น เพราะผู้ขึ้นเวทีร่วมเสวนาล้วนเป็น “กูรู” และ “นักปฏิบัติ” ที่ทำเรื่องสร้างคน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศมาช้านานเช่น
- นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- ฯพณฯ นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
- นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
- นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานที่ปรึกษาฝ่ายจัดการ เอสซีจี
- รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- รศ.ดร.บัณฑิต โรจน์อารยานนท์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
ประเด็นที่เป็นหัวใจของการ “ยกระดับมาตรฐานทรัพยากรมนุษย์” ต้องเริ่มที่กระทรวงศึกษาธิการแน่นอน
แต่กระทรวงฯเองก็มีปัญหาระบบราชการและความเทอะทะที่มีมาช้านาน ได้ยินรัฐมนตรีช่วยศึกษาฯ ดร. ธีรเกียรติประกาศกลางที่สัมมนาว่าอาจจะมีการ “ทิ้งระเบิดอีกหลายลูก” เพื่อปรับโครงสร้างและการทำงานของกระทรวงฯ ก็สร้างความหวังว่าอะไร ๆ น่าจะต้องดีขึ้น
ผู้นำเอกชนและนักวิชาการ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า สถานบันการศึกษาจะต้องทำงานใกล้ชิดกับเอกชน เพื่อสามารถผลิตนักเรียนและนักศึกษา ที่เหมาะกับความต้องการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ
การเน้นความสำคัญระดับอาชีวะศึกษา เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ได้รับการตอกย้ำอย่างชัดเจนอีกครั้ง เพราะทุกวันนี้นักศึกษาที่จบปริญญาตรีออกมา จำนวนไม่น้อยไม่สามารถหางานทำได้ เพราะไม่มีความรู้ความสามารถที่เอกชนต้องการ
ขณะที่เอกชนก็บ่นว่าไม่สามารถจะหาคนทำงานด้านต่าง ๆ ที่อาศัยทักษะอาชีวะที่อุตสาหกรรมต้องการ เพราะนโยบายและวิธีปฏิบัติปัจจุบัน ยังให้ความสำคัญกับปริญญามากกว่าความรู้ความสามารถ
การ “ปฏิรูป” อย่างเป็นระบบ และต้องทำอย่างเป็นเอกภาพระหว่างรัฐบาล, เอกชน, วิชาการและพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดในอันที่จะแก้ปัญหา “ขาดคนทำงานอาชีวะขณะที่คนจบปริญญาตกงาน” ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากความล้มเหลวของระบบการศึกษาของชาติโดยสิ้นเชิง
อีกด้านหนึ่ง เอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลและเอกชนจับมือกับทุ่มเทด้าน “วิจัยและพัฒนา” หรือ Research and Development (R&D) อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อยกระดับมาตรฐานของประเทศทางด้านนวัตกรรม ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
แม้ว่ารัฐบาลจะออกกฎกติกา เพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนา ที่สามารถหักภาษีได้เป็น 300% แล้ว ก็ในทางปฏิบัติก็ยังล่าช้าเอื่อยเฉื่อยอย่างยิ่ง
สรุปว่าถ้าไทยเราไม่สร้าง “ทุนมนุษย์” ให้ตรงกับความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป, โอกาสที่เราจะหลุดออกจาก “กับดัก” รายได้ปานกลางก็จะหดหายไป
และอย่าได้หวังว่าเราจะแข่งขันกับเพื่อนบ้านในอนาคตได้หากไม่ทำเรื่อง “คน” อย่างจริงจัง
ติดตามการเสวนาหัวข้ออันสำคัญนี้ใน “ไทม์ไลน์สุทธิชัย หยุ่น” คืนนี้และคืนพรุ่งนี้ (เสาร์-อาทิตย์) นี้ทาง Nation TV เริ่ม 22.30 น. ครับ