กับดัก ‘ใบเหลือง IUU’ ทำอย่างไร ไม่ย่ำกับที่

กับดัก ‘ใบเหลือง IUU’ ทำอย่างไร ไม่ย่ำกับที่

จากการเฝ้าติดตามตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมายของไทย โดยสหภาพยุโรป (อียู) ที่ขยายระยะเวลาการพิจารณา

มาต่อเนื่อง ท้ายสุดคณะกรรมาธิการยุโรปยังคงมีมติไม่ปลด “ใบเหลืองแก่ไทยเท่ากับว่าความพยายามที่ผ่านมา ยังคงไม่เพียงพอตามมาตรฐานอียู

หากย้อนดูผลกระทบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ประเทศไทยติดกับ “กับดักใบเหลือง” จากอียูมาครบปี ได้ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงอย่างชัดเจน ด้วยมูลค่าการส่งออกเมื่อปี 2558 ของไทยไปสหภาพยุโรปลดลงเหลือ 2.07 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนหน้าเคยสร้างมูลค่าได้ถึง 2.76 หมื่นล้านบาท ซึ่งผลกระทบอาจไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากนี้อุตสาหกรรมประมงของไทยจะต้องเตรียมรับมือกับ มาตรการของประเทศคู่ค้าสินค้าประมงยักษ์ใหญ่อีกรายคือ สหรัฐอเมริกาที่กำลังดำเนินการจัดทำกฎหมายเพื่อขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (Presidential Task Force on Combating IUU Fishing) กฎหมายการทำผิดเกี่ยวกับการค้าอาหารทะเล (Seafood Fraud)

โดยกฎหมายดังกล่าว มีสาระสำคัญคล้ายกับ มาตรการ IUU Fishing ของอียูแต่มีผลบังคับครอบคลุมกว้างขวางลงไปถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เท่ากับว่าอุตสาหกรรมประมงไทยต้องเตรียมรับกฎเกณฑ์มาตรฐานใหม่นี้ ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง ให้หลุดจากกลุ่ม Tier 3 ใน TIP Report ที่สร้างผลกระทบต่อมูลค่าสินค้าประมงส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาลดลงไปแล้ว คิดเป็นมูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท

แต่ใช่ว่า จะมีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบปัญหาจากเงื่อนไขการจำกัดการส่งสินค้าไปยังประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะกรณีการได้รับใบเหลือง จากอียูแต่หลายประเทศก็สามารถรื้ออุตสาหกรรมประมงทั้งระบบจนได้รับ ใบเขียวที่น่าศึกษาเป็นบทเรียนตัวอย่าง ประเทศฟิลิปปินส์ เคยติดอยู่กับกับดักใบเหลืองนาน 1 ปี ตั้งแต่มิถุนายน 2557-พฤษภาคม 2558 ในฐานไม่ให้ความร่วมมือกับต่างประเทศในการจัดการทำประมงแบบ IUU กรมการเกษตรของฟิลิปปินส์ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเข้าเป็นภาคีความร่วมมือระดับทวิภาคีกับประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก

เพื่อให้สามารถติดตามการทำประมงของเรือสัญชาติฟิลิปปินส์ในพื้นที่นอกอาณาเขตทางทะเลและได้ปรับปรุงกฎหมาย Philippine Fisheries Code of 1998 โดยเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำความผิด และเพิ่มมาตรการบังคับบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน รวมทั้งการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งต่างกับประเทศไทยที่ที่ผ่านมาเน้นเพียงการยับยั้งไม่ให้เรือผิดกฎหมายออกเดินเรือเท่านั้น แต่ยังไม่มีการลงโทษที่ชัดเจน

ขณะที่เกาหลีใต้เคยได้รับใบเหลืองจากอียู เนื่องจากมีการทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำเขตแอฟริกาตะวันตก ทางกระทรวงมหาสมุทรและการประมง จึงจัดให้มีระบบตรวจสอบเรือ ที่สามารถติดตามการเคลื่อนไหวของเรือได้จากดาวเทียม และเรือประมงทั้งหมดจะต้องได้รับการติดตั้งระบบ logbook ที่สามารถแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการจับปลาแบบนาทีต่อนาที (real time)

อีกทั้งได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการพัฒนาประมงทางน้ำระยะไกล (Distant Water Fisheries Development Act: DWFD) ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่กรกฎาคม 2558 โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ริบสินค้าประมงผิดกฎหมายได้ที่ท่าเรือ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการดำเนินการกับเรือประมงสัญชาติเกาหลีที่ทำการประมงแบบ IUU ในน่านน้ำนอกเขตอำนาจของเกาหลีและเพิ่มบทลงโทษที่หนักขึ้นแก่ผู้ละเมิดการกระทำดังกล่าว

ส่วนประเทศฟิจิแก้ปัญหาโดยอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงานผ่านการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับเกาะอื่นๆ ในบริเวณเดียวกันเช่นเดียวกับที่ร่วมมือกับตำรวจกองทัพเรือและธนาคารกลาง

อย่างไรก็ดี ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศเหล่านี้ สิ่งที่สำคัญก็คือ ความตั้งใจและมุ่งมั่นต่อการแก้ปัญหา และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง

ดังนั้น สำหรับกรณีของไทยในระยะนี้ สิ่งที่ควรเดินหน้าต่อ เพื่อก้าวพ้นกับดักใบเหลือง ดึงความเชื่อมั่นจากนานาชาติกลับมา คือ

1) บังคับใช้กฎหมายและเร่งแก้ปัญหาระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ

2) ปรับปรุงกฎหมาย และจัดหาให้มีกระบวนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ไขปัญหา IUU Fishing เพราะการออกมาตรการคุมเรือผิดกฎหมายไม่ให้ออกทำการประมง อาจทำให้ขาดรายได้ นำไปสู่การหาช่องทางลักลอบทำประมงอยู่ตลอดเวลา

3) ภาครัฐต้องชี้ให้เห็นว่า ได้มีการกำหนดและควบคุมการจับสัตว์น้ำไม่เกินปริมาณความสมดุลทางธรรมชาติอย่างจริงจัง และไม่โอนอ่อนต่อภาคเอกชนในการแทรกแซงการดำเนินการ โดยแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกับภาคเอกชน เช่น กลุ่มผู้มีอิทธิพล และข้าราชการที่มีส่วนรู้เห็น

4) แก้ไขปัญหาค้ามนุษย์และแรงงานทาสในภาคประมงและโรงงาน โดยปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญขณะนี้คือ เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถสื่อสารภาษาประเทศเพื่อนบ้านได้ ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ยังไม่ตรงจุด ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนว่าแรงงานประสบปัญหาและต้องการอะไร

อีกทั้ง สิ่งที่ควรทำในระยะยาว คือการทำแผนการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อกำหนดจำนวนใบอนุญาตได้อย่างเหมาะสม มีการกำหนดกฎระเบียบ ข้อบังคับ บทลงโทษเพื่อปรับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมดุลกับกระบวนการสร้างตามธรรมชาติ

หากภาครัฐเร่งดำเนินการแก้ไขส่วนนี้ คาดว่าไทยจะมีโอกาสหลุดจากใบเหลือง และจะช่วยลดอุปสรรค ยกระดับความเข้มแข็งทางการค้า สอดคล้องกับที่ภาครัฐ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์มุ่งให้ความสำคัญ เดินหน้าจัดทำยุทธศาสตร์ผลักดันไทยเป็นชาติการค้าอีกด้วย

-------------------

นณริฏ พิศลยบุตร

พนาทิตย์ เลิศประเสริฐกุล