ใช้ธรรมาภิบาลสานต่อธุรกิจครอบครัว

ใช้ธรรมาภิบาลสานต่อธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจครอบครัวเป็นรูปแบบธุรกิจที่มีมากและเก่าแก่ที่สุดในโลก พูดได้ว่าทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน

ล้วนมีพื้นฐาน หรือสายพันธุ์มาจากธุรกิจครอบครัวทั้งสิ้น ล่าสุดมีการประเมินว่าร้อยละ 85 ของธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกใน ปี 2014 เป็นธุรกิจครอบครัว ในแง่ธุรกิจ การทำธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จและสามารถส่งผ่านต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องบริหารจัดการให้ดีทั้งประเด็นธุรกิจและประเด็นครอบครัว

ประเด็นธุรกิจ ก็คือ การบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตและยืนอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันและนวัตกรรมที่นับวันจะมีมากและรุนแรงขึ้น ขณะที่โจทย์การบริหารครอบครัวก็คือการใช้ประโยชน์ความรู้ ประสบการณ์ และความผูกพันที่ครอบครัวมีอยู่ในการทำธุรกิจ ทำให้บริษัทของครอบครัวประสบความสำเร็จ และไม่ให้เรื่องภายในครอบครัว โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสมาชิกมาทำให้ธุรกิจต้องเสียหายหรือล้มหายตายจากไป ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและน่าห่วง พิจารณาจากตัวเลขสถิติธุรกิจครอบครัวทั่วโลกที่ชี้ว่าร้อยละ 70 ของธุรกิจครอบครัวที่เกิดขึ้นจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งชั่วคน คือ เกิดสิบบริษัท ตายเจ็ด รอดสาม

ด้วยเหตุนี้ การทำธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จ และสามารถส่งผ่านไปต่อรุ่นต่อๆ ไป จึงเป็นโจทย์สำคัญของธุรกิจครอบครัว มีปัจจัยที่ต้องดูแลมากทั้งปัจจัยธุรกิจ และการบริหารจัดการครอบครัวซึ่งที่สำคัญมากอันหนึ่ง ก็คือ ประเด็นธรรมาภิบาล ที่ต้องมีกฎเกณฑ์ครอบครัวกำกับดูแลบทบาท หน้าที่ และการมีส่วนร่วมของสมาชิกครอบครัวในธุรกิจ ต้องมีการเตรียมผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทรุ่นต่อไป ต้องดูแลสัดส่วนการถือครองหรือความเป็นเจ้าของของครอบครัวในธุรกิจให้มีอยู่ต่อไป ท่ามกลางความเสี่ยงของการถูกครอบงำกิจการหรือสูญเสียความเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจต้องการระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกิจการ

นอกจากนี้ ก็มีประเด็นการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทเหมือนบริษัททั่วไปที่ต้องมีแม้เป็นธุรกิจครอบครัว เพื่อสร้างความไว้วางใจหรือ Trust ให้เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท นำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เช่น ประเด็นกรรมการบริษัท การแยกแยะระหว่างธุรกิจของบริษัทกับครอบครัว และการทำหน้าที่ของคณะกรรมการและผู้บริหารตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ในประเด็นการกำกับดูแลกิจการหรือธรรมาภิบาล หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธุรกิจครอบครัว จะไม่แตกต่างจากหลักของบริษัททั่วไปที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง สิทธิผู้ถือหุ้น การดูแลผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน สิทธิและประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเปิดเผยข้อมูล และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ทั้งห้าข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่ธุรกิจครอบครัวต้องถือปฏิบัติ ข่าวดีก็คือในโลกธุรกิจปัจจุบัน เรามีบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวทั่วโลกมากมายที่สามารถปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลนี้ได้เป็นอย่างดี ประสบความสำเร็จ และเติบโตเป็นบริษัทชั้นนำของโลก

ในบ้านเรา ธุรกิจครอบครัวก็เป็นพื้นฐานของบริษัทส่วนใหญ่ ประเทศเรามีตัวอย่างมากมายที่บริษัทเหล่านี้ได้เติบโตเป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ แต่ก็มีหลายกรณีที่บริษัทที่เคยเป็นที่รู้จักอย่างดีของคนไทยที่เป็นธุรกิจครอบครัวได้ล้มหายตายจากไป ทำให้ประเด็นที่เราพูดถึงเมื่อตอนต้น คือ การมีธรรมาภิบาลที่ดีในการกำกับดูแลธุรกิจและบริหารครอบครัว จึงสำคัญมาก โดยเฉพาะต่อความอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวในระยะยาว ในประเทศไทยบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (1940’s) โดยหัวหน้าครอบครัวรุ่นแรก ทำให้ปัจจุบันบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย จะมีอายุในการทำธุรกิจระหว่าง 50 ถึง 70 ปี และส่วนใหญ่ก็กำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากเจ้าของรุ่นแรกมาเป็นทายาทรุ่นที่สอง หรือ รุ่นที่สาม จึงมีคำถามว่า ทายาทรุ่นใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อในการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวจากนี้ไปมีความพร้อมหรือไม่ที่จะรับความท้าทายเหล่านี้ ที่จะรับช่วงการบริหารธุรกิจของบริษัทครอบครัวให้เติบโตและประสบความสำเร็จ

ในประเด็นนี้เอกสารวิจัยของบริษัท PwC เรื่อง การคาดหวังที่ยิ่งใหญ่ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป หรือ Great Expectations : The Next Generation of Family Business Leaders เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าผู้นำหรือทายาทรุ่นต่อไปที่จะเข้าบริหารธุรกิจครอบครัวในบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกขณะนี้ มีความพร้อมและมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดีที่จะรับหน้าที่ โดยร้อยละ 70 มีประสบการณ์ทำงานในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวของตนเอง ร้อยละ 80 มีประสบการณ์เคยเข้าสังเกตการณ์การประชุม การทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทของครอบครัว แม้จะยังไม่ได้เป็นกรรมการบริษัท และร้อยละ 88 ต้องการที่จะมีบทบาท ต้องการสร้างผลงานให้เกิดขึ้นเมื่อเข้าบริหารธุรกิจครอบครัวของตน ซึ่งแนวโน้มทั้งหมดล้วนน่ายินดี

สำหรับประเทศไทย สังเกตได้ว่าการเตรียมความพร้อมของทายาทรุ่นใหม่ก็กำลังเกิดขึ้น สังเกตได้จากหลายสิ่งที่มองเห็นได้ ตัวอย่างเช่น ในหลักสูตรพัฒนากรรมการของสถาบันไอโอดี อายุเฉลี่ยของกรรมการที่เข้าอบรมปัจจุบันลดลงมากเกือบสิบปีเทียบกับผู้เข้าอบรมเมื่อสิบกว่าปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการเตรียมตัวเป็นกรรมการของทายาทรุ่นใหม่ ที่จะมารับช่วงต่อในการบริหารบริษัทครอบครัวที่เข้ามาอบรม บางคนมาเข้าอบรมหลักสูตรกรรมการตามคำแนะนำของสถาบันการเงินที่ธุรกิจตนเองเป็นลูกค้า บางคนมาตามคำแนะนำหรือคำสั่งของคุณพ่อที่เป็นเจ้าของกิจการที่กำลังเตรียมทายาทรุ่นต่อไปให้มีความพร้อม

และสำหรับผู้นำหรือทายาทรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาบริหารหรือกำกับดูแลธุรกิจครอบครัวต่อจากรุ่นคุณพ่อหรือคุณปู่ พูดได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาดีกว่าและสูงกว่ารุ่นคุณปู่หรือคุณพ่อ แต่โจทย์ที่ทายาทใหม่รุ่นใหม่ต้องเผชิญ ไม่ใช่โจทย์ของการตั้งหรือสร้างธุรกิจเหมือนรุ่นคุณพ่อหรือคุณปู่ แต่เป็นโจทย์ของการรักษาให้ธุรกิจเติบโตได้ต่อไป ดังนั้นความท้าทายของทายาทรุ่นใหม่ จึงไม่ใช่โจทย์ของการสร้างเมือง แต่เป็นโจทย์ของการรักษาเมือง ซึ่งจะยากกว่า

สำหรับประเด็นความท้าทายที่ทายาทรุ่นใหม่จะต้องเจอและต้องก้าวข้ามก็คือ

หนึ่ง หาความสมดุลย์ระหว่างธุรกิจที่ทำอยู่เดิมซึ่งประสบความสำเร็จกับแนวความคิดทางธุรกิจใหม่ๆ ที่ผู้นำรุ่นใหม่มีและต้องการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อขยายหรือปรับปรุงกิจการของครอบครัว

สอง สร้างความสามารถให้กับบริษัททั้งในระดับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ที่ต้องได้คนที่มีความรู้ ความสามารถ เข้ามาช่วยงานบริษัท รวมถึงการดูแลพนักงานเก่าแก่ของบริษัทที่มีคุณภาพ มีความรักและผูกพันต่อบริษัท (Loyalty) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หายากในการทำธุรกิจ

สาม กำกับดูแลกิจการและบริหารธุรกิจอย่างมืออาชีพ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลและจริยธรรม ทั้งในแง่ธุรกิจและประเด็นครอบครัว เช่น แผนการสืบทอดอำนาจและตำแหน่งบริหาร การแบ่งแยกบทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกครอบครัวในธุรกิจ การจัดสรรผลประโยชน์ที่เกิดจากธุรกิจให้แก่สมาชิกครอบครัว รวมถึงการรักษา Trust ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีกับธุรกิจของครอบครัวต่อไปภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นใหม่ ทั้งหมดนี้ คือ ความท้าทายที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่จะต้องก้าวข้าม เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

เพื่อช่วยตอบคำถามเหล่านี้ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในประเด็นธุรกิจครอบครัวซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกรรมการและเจ้าของธุรกิจ สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี จะจัดสัมมนาวิชาการประจำปี (National Director Conference) ปีนี้ในหัวข้อ สร้างการเติบโตด้วยการกำกับดูแลกิจการที่ดีในธุรกิจครอบครัวในวันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายนนี้ ที่โรงแรมสยามเคนปินสกี้ ตั้งแต่เวลา 8.30 น. โดยในงานจะมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลกิจการ และด้านธุรกิจครอบครัวจากต่างประเทศและในประเทศ เข้าร่วมสัมมนาเกือบสามสิบคน โดยมี ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ  Dr. Andrew Sheng, Distinguished Fellow จากสถาบัน Asia Global Institute เป็นองค์ปาฐก

สำหรับกรรมการและเจ้าของธุรกิจครอบครัว งานนี้จึงพลาดไม่ได้ ก็อยากเชิญชวนให้กรรมการ ผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจครอบครัว และผู้ที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนา โดยสามารถจองที่นั่งได้ที่ คุณสิทธิศักดิ์ โทร. 02-955-1155 ต่อ 407 ก็หวังว่าจะได้พบกันวันพฤหัสฯนี้