‘Market Intelligence’ เสริมเกษตรกร-เอกชน‘เก่งการค้า’
หากจะเก่งการค้าจำเป็นต้องวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดไว้ล่วงหน้า ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของการวางแผน
ต้องอาศัยข้อมูลการตลาดที่ดีพอ เพื่อจะทำให้ “รู้เขา” และ “รู้เรา”
จากการศึกษาการจัดทำยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางการค้า เพื่อเสาะหาแนวทางปฏิบัติที่ดีของรัฐในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดทำให้กับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ข้อมูลการตลาดที่ดีจะต้องเป็นข้อมูลแบบ ‘Market Intelligence’ ซึ่งเป็นข้อมูลด้านสภาพแวดล้อมทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลอุปสงค์และอุปทานของสินค้า ราคาสินค้า ปริมาณการผลิต ปริมาณการเก็บเกี่ยว รวมถึงข้อมูลการตลาดเชิงลึก ซึ่งจะวิเคราะห์ถึงแนวโน้มและการคาดการณ์ของตลาดต่างประเทศและตลาดคู่แข่ง
แต่ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ต้องเปิดเผยให้ประชาชนทั้งเกษตรกรและภาคเอกชนได้รับข้อมูลที่เท่าเทียมกัน และที่สำคัญคือ ต้องมีความรวดเร็วพอในการเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อย หรือแม้แต่เกษตรกรใช้ประกอบการตัดสินใจทำธุรกิจหรือทำการเกษตร เพื่อตอบสนองให้ทันการณ์และตรงต่อความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จากบทเรียนที่ได้จากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา หน่วยงานรัฐจะทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูล Market Intelligence และเปิดเผยต่อสาธารณชนบนหน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานเพื่อให้ทุกคนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อการทำธุรกิจของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐมีหน่วยงานชื่อ The Foreign Agricultural Service (FAS) ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงเกษตร (USDA) ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลด้านการเกษตรของทุกประเทศทั่วโลก ให้แก่เกษตรกรและเอกชนของสหรัฐ ข้อมูลที่ติดตามและเก็บรวบรวมนั้นไม่ใช่เป็นแค่ข้อมูลของประเทศคู่ค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อมูลของประเทศคู่แข่งด้วย
โดยเจ้าหน้าที่ของ FAS จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาคการเกษตรเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการเพาะปลูก การส่งออก การนำเข้า และการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลปฐมภูมิไม่ใช่ข้อมูลจากการคาดการณ์หรือข้อมูลจากศุลกากร ตัวอย่างเช่น ข้อมูลปริมาณการส่งออกข้าวของไทย FAS ไม่ได้อิงข้อมูลและตัวเลขของศุลกากร แต่ FAS เก็บข้อมูลปริมาณการส่งออกข้าวจากสายการเดินเรือเองเพื่อความแม่นยำของข้อมูล
เจ้าหน้าที่ FAS ประจำกงสุลแต่ละประเทศจะทำหน้าที่ติดตามและรายงานข้อมูลทุกสัปดาห์ เพื่อจัดส่งข้อมูลที่ได้ไปให้ส่วนกลางที่กรุงวอชิงตันเก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูลและเผยแพร่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานเป็นรายสัปดาห์ นอกจากนี้แล้ว ยังจัดทำรายงานข้อมูลเป็นรายเดือน รายไตรมาสและรายปีตลอดจนทำการประมวลผลข้อมูลทั้งหมดเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสินค้าเกษตรในตลาดโลกด้วย (World Production Market and Trade report) เพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตามปรัชญาของการทำงาน “treat farmers like businessmen, give them good information and they will make the right decision”
ภายใต้กรอบภารกิจของ FAS เองไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เก็บข้อมูลด้านการตลาดเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่อื่นที่ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนภาคการเกษตรของสหรัฐด้วย ซึ่งได้แก่
1) ให้ข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมโยงระหว่างภาคการเกษตร การค้า การลงทุนและการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นระเบียบ กฎเกณฑ์การส่งออกสินค้าเกษตร ข้อตกลงทางการค้า มาตรฐานสินค้า ข้อจำกัดต่างๆ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร และสินค้าเกษตรทุกประเภท
2) ส่งเสริมการส่งออก ซึ่ง FAS จะร่วมมือกับสมาคมภาคเอกชน เช่น สมาคมข้าวสาลี (U.S. Wheat Association) เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้า ตลอดจนการขยายและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร โดยที่ FAS จะไม่ทำหน้าที่ในการจับคู่ธุรกิจให้กับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการเอง แต่จะช่วยด้วยการสนับสนุนเงินงบประมาณมากกว่า เพราะเชื่อว่าเอกชนสามารถทำได้ดีกว่าภาครัฐ
3) ช่วยล็อบบี้รัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายทางการค้า เช่นกรณีของไทยที่ไม่ให้นำเนื้อสเต๊กติดกระดูกของสหรัฐ เข้ามาขายในประเทศ
เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ถามว่าประเทศไทยมีข้อมูลแบบ Market Intelligence และเปิดเผยต่อประชาชนทุกกลุ่มทั้งภาคเอกชนและเกษตรกรอย่างเพียงพอและรวดเร็วพอหรือยัง?ภาคเอกชนน่าจะเป็นคนตอบคำถามได้ดีที่สุด เพราะเป็นผู้คลุกคลีในวงการมากที่สุด อีกทั้งภาคเกษตรที่จะทราบดีว่าสามารถรับรู้และเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ทันต่อสถานการณ์หรือไม่
หรือจะดูได้จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ที่สินค้าเกษตรไทยเผชิญภาวะล้นตลาด มีปัญหาราคายางพาราตกต่ำ มะพร้าวขาดตลาด ปลูกและเก็บเกี่ยวไม่ทันต่อความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สาเหตุส่วนหนึ่งที่สำคัญ เพราะข้อมูลของไทยยังไม่ได้มีการพัฒนาให้เป็นแบบ ‘Market Intelligence’ อย่างเป็นระบบนั่นเอง
หากทำได้ ภาคเกษตรจะมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจวางแผนการเพาะปลูก การทำเกษตรและเอกชนสามารถนำมาวางแผนการตลาดได้แม่นยำมากขึ้น สอดรับกับความต้องการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เสริมศักยภาพขีดความสามารถทางการแข่งขัน ‘การค้า’ ไปพร้อมกัน
-----------------
ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ
นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย