ถอด 'ยาบ้า' จากยาเสพติด ระวังเถียงกันคนละเรื่อง!
ประเด็นที่ รมว.ยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา
โยนโจทย์ให้สังคมช่วยคิด เรื่องการปลด “ยาบ้า” ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 1 แล้วเปลี่ยนไปเป็น “ยา” เพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค
ขณะเดียวกันก็ลดมาตรการปราบปราม โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเหมือนที่ผ่านมาลง แล้วเน้นบำบัดรักษาผู้เสพ พร้อมฝึกอาชีพแทนนั้น
ต้องบอกว่าเรื่องนี้เป็นแนวคิดที่ดีมากๆ แต่หากสื่อสารผิด สื่อสารเร็วเกินไป และไม่ละเอียดพอ อาจเกิดกระแสต่อต้านจากสังคมจนแนวคิดดีๆ นี้ต้องตกหายไปได้
เรื่องนี้ต้องแยกอธิบายเป็น 2 ส่วน คือ
1. ผลจากการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างสุดโต่ง ในการปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า ไม่ได้ทำให้ปัญหาหมดไป แต่กลับเพิ่มขึ้น ปริมาณยาบ้าที่จับกุมได้เพิ่มจาก 54.2 ล้านเม็ดในปี 2553 พุ่งทะลุ 100 ล้านเม็ดในปี 2556 และ 2557
สาเหตุที่ยอดจับกุมเพิ่มขึ้น บางมิติไม่ได้บ่งชี้ว่ามีคนเสพมากขึ้น แต่เพราะยาบ้ามีราคาแพงขึ้นจากความยากลำบากในการซื้อหา เพราะโทษแรงและเจ้าหน้าที่จับกุมอย่างเข้มงวด ทำให้สินค้าราคาแพง ตามกฎ “ดีมานด์-ซัพพลาย” ประกอบกับเจ้าหน้าที่ใช้วิธี “ล่อซื้อ” กลายเป็นการเพิ่ม “ดีมานด์เทียม”
ขณะที่สถิติผู้ต้องขังคดียาเสพติดในเรือนจำทั่วประเทศพุ่งขึ้นจาก 106,966 คนในปี 2543 เป็น 217,408 คนในปี 2557 เรียกว่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นคุก ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ
สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการกวาดจับผู้เสพ ผู้ขน (ทำหน้าที่ขนส่ง ซึ่งมีคนตัดสินใจเข้าสู่วงจรจำนวนมาก เพราะค่าตอบแทนสูง ทำให้กล้าเสี่ยง) แล้วส่งเข้าไปอยู่ในคุกเกือบ 100%
ผลอีกประการหนึ่ง คือ งบประมาณที่ใช้ในการดูแลผู้ต้องขัง ซึ่งก็คืองบของกรมราชทัณฑ์ พุ่งสูงถึง 12,372.9 ล้านบาทในปีนี้ คิดเป็น 52% ของงบกระทรวงยุติธรรมทั้งกระทรวงที่มีหน่วยงานในสังกัดถึง 13 กรม เรียกได้ว่ากรมเดียวใช้งบมากกว่าอีก 12 กรมรวมกัน
ขณะที่หน่วยงานของยูเอ็นก็รายงานผลการศึกษาจากทั่วโลกที่ชี้ชัดว่า การใช้มาตรการปราบปรามด้วยโทษทางอาญาเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดได้จริง
เหล่านี้นำมาสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาของบ้านเรา และกระทรวงยุติธรรมเคยเสนอมาก่อนหน้านี้ คือ ให้แบ่งผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้เสพ, แรงงาน (ผู้ขน) และผู้ค้า โดย 2 กลุ่มแรกให้เบี่ยงออกจากกระบวนการลงโทษทางอาญา แต่ให้มุ่งไปที่การบำบัด รักษา เยียวยา และฝึกอาชีพ เพื่อตัดวงจรการเข้าคุกแล้วออกไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเหมือนเดิม
ส่วนกลุ่มผู้ค้า ให้ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น ไม่เปลี่ยนแปลง
นี่คือส่วนแรกที่คิดว่าถ้าอธิบายกันชัดๆ แบบนี้คงไม่มีใครปฏิเสธหรือคัดค้าน
2. การถอด “ยาบ้า” ออกจากบัญชียาเสพติดร้ายแรงประเภท 1 ส่วนนี้เองที่เป็นเนื้อแท้ของการถกเถียงในสังคม แต่ต้องระวังจะเป็นการเถียงกันคนละเรื่อง เพราะสิ่งที่ รมว.ยุติธรรม พูดนั้น คือ “แอมเฟตามีน” อันเป็นสารตั้งต้นของ “ยาม้า” หรือ “ยาขยัน” ในอดีต อยู่ภายใต้กฎหมายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แต่เมื่อปี 2539 รัฐบาลในขณะนั้นไปย้าย “ยาม้า” โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “ยาบ้า” แล้วบรรจุเป็นยาเสพติดให้โทษร้ายแรงประเภท 1
คำถามก็คือ “ยาบ้า” ที่เสพๆ กันอยู่ทุกวันนี้ คือ “แอมเฟตามีน” ที่ทั่วโลกไม่ได้จัดเป็นยาเสพติดเหมือนไทยหรือไม่ เพราะฤทธิ์ของ “ยาบ้าไทย” ก่อผลร้ายแรงเกินกว่า “แอมเฟตามีน”มากมายนัก
ถ้าเคลียร์ตรงนี้ให้ชัด แล้วแยกแยะชนิดของยาให้ดี ก็น่าจะทำความเข้าใจกับสังคมได้ โดยเฉพาะพวกที่เมายาบ้าแล้วก่ออาชญากรรมร้ายแรง ในทางการแพทย์ต้องเข้ามาวินิจฉัยทุกคดีว่า เป็นเพราะผลของแอมเฟตามีน หรือการใช้แอมเฟตามีนร่วมกันสารเสพติดอื่น หรือเป็นผลจาก “ยาบ้าไทย” ที่มีส่วนผสมเฉพาะ
และที่สำคัญต้องชัดเจนว่า ผู้ที่กระทำผิดอาญาร้ายแรงอย่างอื่น เช่น ข่มขืน ฆ่า ต้องไม่ได้รับการยกเว้นโทษโดยอ้างเป็นผู้ป่วยจากแอมเฟตามีน!