700 บริษัท CAC สู้คอร์รัปชัน
โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC ที่บริษัทเอกชนสมัครใจเข้าร่วมประกาศ
เจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่รับ ไม่จ่าย ไม่ให้สินบนในการทำธุรกิจ และพร้อมเข้ารับการรับรองว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบาย มีระบบควบคุมภายใน และมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ล่าสุดมีความคืบหน้าที่น่าพอใจ มีบริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์แล้ว 700 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียน 349 บริษัท บริษัทจำกัด 351 บริษัท และใน 700 บริษัทที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ มี 168 บริษัทที่ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันครบตามเกณฑ์ของคณะกรรมการ CAC เป็นบริษัทจดทะเบียน 92 บริษัท ความก้าวหน้าเหล่านี้น่าภูมิใจ จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียง 23 บริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ตอนเริ่มโครงการ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2010 ซึ่งมีสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี เป็นผู้ดำเนินโครงการ
บริษัทที่เข้าร่วมโครงการมีทุกขนาด ตั้งแต่ขนาดใหญ่มีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีถึง 116 บริษัท ลงไปถึงขนาดเล็กระดับบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด มีทั้งบริษัทในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด มีทั้งบริษัทคนไทยและต่างชาติ กระจายอยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม บางบริษัทเข้ามาร่วมด้วยตัวเอง บางบริษัทมาร่วมเป็นกลุ่ม บางบริษัทมาร่วมแบบยกสมาคม เช่น สมาคมธนาคารไทยที่มี 15 ธนาคารพาณิขย์เป็นสมาชิกเข้าร่วมโครงการหมด สมาคมบริษัทจัดการกองทุนมี 22 บริษัท สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยมี 26 บริษัท สมาคมประกันชีวิตไทยมี 25 บริษัท และสมาคมประกันวินาศภัยไทยมี 51 บริษัทเ นอกจากนี้ มีบริษัทต่างประเทศที่มีชื่อเสียงของโลกเข้าร่วมโครงการ รายชื่อทั้ง 700 บริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ และรายชื่อ 168 บริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CACสามารถดูได้ที่เว็บไซต์ของ CAC ที่ www.thai-cac.com
ผมมักถามบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเสมอว่าทำไมถึงเข้าร่วม อะไรเป็นแรงดลใจ ทั้งๆ ที่นักธุรกิจมีศักยภาพพร้อมจ่ายหรือให้สินบน เพื่อให้ได้ธุรกิจหรือเพื่อซื้อความสะดวก คำตอบที่ได้มีหลากหลาย แต่ที่ฟังแล้วประทับใจและเป็นคำตอบส่วนใหญ่ ก็คือ หนึ่ง ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ มองว่าปัญหาคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ บริษัทเหล่านี้ต้องการเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบให้กับประเทศ ไม่ใช่เป็นตัวปัญหาเสียเอง สอง ต้องการการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่ชอบ ไม่สนับสนุนการวิ่งเต้น การให้สินบนเพื่อให้ได้ธุรกิจ เพราะนอกจากคอร์รัปชันจะทำลายการแข่งขันแล้ว ยังทำลายนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นำมาสู่ความเสื่อมถอยของเศรษฐกิจ สาม ต้องการรักษาภาพพจน์ และความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจในประเทศไทย เพราะถ้าปัญหาคอร์รัปชันยังรุนแรง ก็จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในเชิงธุรกิจ เหตุผลเหล่านี้ฟังแล้วน่าภูมิใจ
ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนโครงการให้เติบโต ก็คือ ความน่าเชื่อถือของโครงการ จากที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเป็นมืออาชีพ สร้างความน่าเชื่อถือให้บริษัทต่างๆ เข้าร่วม และถ้าจะมองย้อนกลับไป ผมคิดว่ามีจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างน้อยสามจุดที่ทำให้ก้าวกระโดดต่อเนื่อง
จุดเปลี่ยนแรก คือ การเข้าร่วมโครงการโดยทุกสมาคมธุรกิจในภาคการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทในธุรกิจตลาดทุน และธุรกิจประกัน โดยปรกติในทุกประเทศภาคการเงินจะเป็นธุรกิจเสาหลักของเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ เพื่อให้มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือ ทำให้ธุรกิจการเงินจะระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องภาพลักษณ์ ซึ่งแสดงถึงการยอมรับที่ภาคธุรกิจการเงินมีต่อโครงการ CAC สร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือให้กับโครงการ CAC โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่พร้อมเข้ามาร่วมโครงการ
จุดเปลี่ยนที่สอง คือ แรงสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย ที่ผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ ซึ่งการประกอบธุรกิจอย่างปลอดคอร์รัปชันก็เป็นเครื่องชี้ด้านธรรมาภิบาลของบริษัทที่สำคัญ ทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อต้านการทุจริตทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ นอกจากนี้หน่วยงานกำกับดูแลก็สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลเรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติของบริษัทในเรื่องการต่อต้านทุจริตให้นักลงทุนทราบ ทำให้การเข้าร่วมโครงการ CAC จึงเป็นการสื่อสารที่ดีของบริษัทว่าบริษัทให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต ทำให้มีบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมกับ CAC มาก
จุดเปลี่ยนที่สาม คือ การขยายการทำธุรกิจอย่างสะอาด ปลอดคอร์รัปชันจากบริษัทที่ผ่านการรับรองไปสู่กลุ่มบริษัทที่เป็นบริษัทคู่ค้าให้เข้ามาร่วมโครงการ เพื่อขยายพื้นที่ธุรกิจสะอาดให้กว้างขวางมากขึ้น ล่าสุด มีบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการรับรองแล้วสองบริษัทที่ได้ต่อยอดเชิญชวนบริษัทคู่ค้าในห่วงโซ่การผลิตของบริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC เพื่อขยายการทำธุรกิจอย่างสะอาดให้เกิดขึ้นตลอดกระบวนการผลิต สองบริษัทนี้คือ บริษัท สมบูรณ์แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่ได้ชักชวนบริษัทคู่ค้า 89 บริษัท เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการเมื่อต้นปีนี้ และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ได้ชักชวนบริษัทในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด 41 บริษัท ให้เข้าร่วมโครงการ CAC ในลักษณะนี้ ทั้งสองบริษัทถือได้ว่าเป็นผู้นำในการทำหน้าที่ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง หรือ change agent ให้กับการทำธุรกิจในประเทศ ที่ได้สร้างพื้นที่ธุรกิจสะอาดให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางซึ่งน่าชมเชยมาก
แต่การเติบโตของจำนวนบริษัทในโครงการ CAC อย่างเดียวยังจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เบ็ดเสร็จ ที่ต้องแก้ด้วยและเป็นปัญหาที่ยากกว่าก็คือ ฝ่ายเรียกหรือหน่วยราชการ ภาครัฐ รวมถึงนักการเมืองว่าทำอย่างไรที่จะให้หน่วยงานราชการพร้อมใจกันให้บริการอย่างโปร่งใส ไม่เรียกสินบน หรือทุจริตคอร์รัปชัน นี่คืออีกบททดสอบสำคัญที่ประเทศจะต้องก้าวข้าม