กัมพูชาร่วมมาเลเซียเพิ่มรักษาสิทธิ-ปลอดภัยลูกจ้างแม่บ้าน

กัมพูชาร่วมมาเลเซียเพิ่มรักษาสิทธิ-ปลอดภัยลูกจ้างแม่บ้าน

ในปี 2554 กัมพูชาสั่งยุติการส่งแรงงานไปทำงานเป็นแม่บ้านที่มาเลเซีย หลังพบว่ามีแรงงานจำนวนมากถูกนายจ้างข่มเหง

แต่ปัจจุบันกัมพูชาได้หันมาส่งเสริมการส่งออกแม่บ้านไปยังมาเลเซียอีกครั้ง ด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับมาเลเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นว่า จะเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัย พร้อมรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่แรงงานพึงได้รับ

สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ได้มีการพูดคุยร่วมกับนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ในเรื่องการส่งแรงงานสตรีกัมพูชาไปทำงานเป็นแม่บ้านที่มาเลเซียเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวกัมพูชา และเปิดโอกาสให้ชาวกัมพูชาได้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากมาเลเซียเป็นประเทศที่ต้องการลูกจ้างแม่บ้านในอัตราสูง

ขณะที่มาเลเซียตอบรับแนวทางพร้อมร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ ที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อรับรองความปลอดภัยให้แก่หญิงกัมพูชาที่จะเดินทางไปเป็นแม่บ้านที่มาเลเซีย และป้องกันการค้ามนุษย์ การข้ามแดนผิดกฎหมาย (maid-trade) รวมทั้งเรียกร้องให้นายจ้างเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของลูกจ้างเป็นสำคัญ โดยมาเลเซียจะจัดเตรียมเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ตรวจตรา และดูแลความปลอดภัยให้กับแรงงานแม่บ้านชาวกัมพูชา ผ่านการเก็บรวบรวมอัตลักษณ์และประวัติบุคคลของแรงงานแต่ละคน แต่ระบบดังกล่าวยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังไม่มีข้อสรุปว่าจะใช้เทคโนโลยีชนิดใด

สาเหตุที่ทำให้ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของแรงงาน เพราะในปี 2554 สมเด็จฮุน เซน เคยสั่งระงับการส่งแรงงานกัมพูชาไปทำหน้าที่แม่บ้านในมาเลเซีย หลังพบว่าหญิงกัมพูชาจำนวนมากถูกนายจ้างชาวมาเลเซียกดขี่จากนายจ้างในรูปแบบต่างๆ การตัดสินใจครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจากภาคประชาสังคมและนักสิทธิมนุษยชน ทั้งในกัมพูชาและมาเลเซียโดยในช่วงเวลาดังกล่าวอินโดนีเซียได้สั่งระงับการส่งแรงงานแม่บ้านไปมาเลเซีย หลังพบกรณีที่ถูกนายจ้างมาเลเซียทำร้ายร่างกายเป็นจำนวนมาก แม้มาเลเซียจะแสดงท่าทีรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อินโดนีเซียยืนยันที่จะไม่ส่งแรงงานไปทำงานอีก ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้รับแรงกดดันจากกลุ่มต่อต้านมาเลเซียที่ออกมาชุมนุมประท้วงในกรุงจาการ์ตา

องค์กรฝึกอบรมแม่บ้านของกัมพูชา (Maid in Cambodia: MIC) ระบุผ่านเว็บไซต์ maidincambodia.com ว่า อัตราค่าจ้างที่ยุติธรรมควรอยู่ที่ 5,250 บาทต่อเดือน สำหรับการทำความสะอาดที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก มีสมาชิกไม่เกิน 4 คน ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน โดยทำงานเพียงครึ่งวันในแต่ละครั้ง และเพิ่มค่าจ้างเป็น 10,500 บาทต่อเดือน สำหรับที่พักและครอบครัวขนาดใหญ่ แต่มีสมาชิกไม่เกิน 10 คน โดย MIC นำหลักการมาจากอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ 189 ที่กำหนดให้ลูกจ้างทำงานบ้านมีสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับแรงงานประเภทอื่นๆ เช่น ให้มีวันหยุด ชั่วโมงทำงาน รายได้ขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา จากข้อมูลในปี 2557 ระบุว่า อนุสัญญาฉบับนี้ มีเพียง 9 ประเทศในโลกเท่านั้นที่นำมาปฏิบัติตาม และหนึ่งในนั้นคือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นประเทศเดียวในเอเชีย

อย่างไรก็ดี เครือข่ายแรงงานผู้ทำงานบ้านของกัมพูชา ได้ร่วมงานกับสหพันธ์แรงงานผู้ทำงานบ้านนานาชาติ (International Domestic Workers Federation: IDWF) ดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานแก่หญิงกัมพูชาที่จะเดินทางไปทำงานเป็นแม่บ้านในต่างประเทศ โดยเน้นถึงวิธีการในการสื่อสารกับนายจ้างให้ชัดเจนก่อนเดินทางไป เช่น ขอบข่ายงานที่รับผิดชอบ ระยะเวลาในการทำงาน รวมถึงความสะอาดปลอดภัยในการพักอาศัย หลังพบว่าแม่บ้านจำนวนมากไม่ได้ตกลงในเรื่องดังกล่าวก่อนเข้าปฏิบัติงาน

เพราะเหตุใดหญิงชาวกัมพูชาจำนวนมากจึงตัดสินใจเดินทางไปทำงานในต่างประเทศสาเหตุประการหนึ่งมาจากความยากจนและรายได้จากการทำงานภายในประเทศไม่เพียงพอ และเพื่อรายได้ที่มากขึ้น แต่ก็อาจต้องแลกกับการถูกกดขี่จากนายจ้าง และการสูญเสียความเป็นส่วนตัวในการดำรงชีวิตประจำวัน แม้เธอมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะเดินทางไปงานที่ประเทศใด ไม่จำกัดเฉพาะมาเลเซียเท่านั้น แต่กลไกตลาดยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่าแรงงานเหล่านี้จะสามารถย้ายไปทำงานในประเทศใดได้บ้าง

ในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐของกัมพูชาจึงเร่งจัดฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานเป็นแม่บ้านให้แก่หญิงที่มีความประสงค์เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมส่งแรงงานเหล่านี้ไปยังมาเลเซียในปี 2560 ตามที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจ

ทั้งสองฝ่ายต่างยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางสนับสนุนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของลูกจ้างว่าจะออกมาในรูปแบบใด หลายฝ่ายจึงหวั่นใจว่า อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ลูกจ้างจะถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบซ้ำเดิม ยังไม่นับรวมกระแสข่าวเก่าๆ เกี่ยวกับการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของแม่บ้านกัมพูชาในมาเลเซีย อันจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินความร่วมมือในประเด็นเกี่ยวกับแรงงานแม่บ้านนี้ได้

----------------------

กุลระวี สุขีโมกข์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน”สกว.