Financial “Super” Repression

Financial “Super” Repression

Financial “Super” Repression

ช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่หลังปรากฏการณ์ “Brexit” ธนาคารกลางใหญ่ของ2 ประเทศ ได้แก่ ธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางของอังกฤษ (BOE) ต่างมีมาตรการเพิ่มเติมในทำนองของ Financial Repression ที่หนักข้อ/รุนแรงยิ่งขึ้น กล่าวคือ BOJ ได้เพิ่มวงเงินเป็น 2 เท่าสำหรับการซื้อกองทุน Exchange Traded Fund (ETFs)จากเดิม 3.3 ล้านล้านเยนต่อปี เป็น 6.0 ล้านล้านเยนต่อปี โดยคงนโยบายEasing อื่น ๆ ไว้ตามเดิม ขณะที่ทางฝั่งของ Bank Of England ก็ได้ทำการลดดอกเบี้ยนโยบายของตัวเองลงไปอีกเหลือ 0.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เพิ่มขนาดการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอีก 60,000 ล้านปอนด์ รวมถึงริเริ่มที่จะซื้อหุ้นกู้เอกชนเป็นจำนวนเงินอีก 10,000 ล้านปอนด์ ยังไม่นับรวมEuropean Central Bank (ECB) ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายประเภท Deposit facility ไว้ที่ระดับ -0.4% มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 59 นี้แล้ว

การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับติดลบอาจไม่กระทบกับนักลงทุนทั่วไปเท่าไรหากYield ของพันธบัตรยังเป็นบวกอยู่ แต่ในช่วงที่ผ่านมาเห็นได้ว่าYield ระยะยาวของพันธบัตรของประเทศใหญ่เท่าที่เห็นในขณะนี้มี 3 ประเทศแล้วที่พันธบัตรรัฐบาลครบกำหนดไถ่ถอนในอีก 10 ปี (10 Yr Bond) มีผลตอบแทนติดลบแล้ว อาทิ ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2559 ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น (-0.1% ต่อปี) ประเทศเยอรมันนี(-0.07% ต่อปี) และประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ติดลบมากที่สุดที่ -0.59% ต่อปี

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบาย “Financial Repression” ในรูปแบบของมาตรการ Quantitative Easing ของธนาคารกลางที่ได้ดูดเอาSupply ของพันธบัตรรัฐบาลออกไปจากตลาด จนทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรในบางประเทศตกลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ๆ จนถึงระดับติดลบแต่ในครั้งนี้น่าจะกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่าเป็น “Financial Super Repression” เพราะว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโลก ที่นโยบายส่งผลให้ Nominal Interest Rate ติดลบ ผิดกับครั้งก่อน ๆ ที่เพียงทำให้ Real Interest Rate ติดลบเท่านั้น

"Financial repression" เดิมเป็นคำศัพท์ที่ถูกอ้างอิงมาจากบทความทางวิชาการ เรื่อง "The Liquidation of Government Debt" ของ Prof. Carmen Reinhart และ Belen Sbranciaและจากหนังสือ This time is different ของ Prof. CarmenReinhart และ Kenneth S. Rogoffซึ่งได้รวบรวม วิเคราะห์และสรุปถึงวิธีการในอดีต ที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของแต่ละประเทศโดยเทคนิค Financial Repression ทำได้ด้วยการ 1.การกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นจนทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ 2.การบังคับให้สถาบันการเงินในประเทศ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญหรือ บริษัทประกันให้ซื้อและยังคงถือครองตราสารหนี้ของภาครัฐ 3.การกำกับดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุน และ 4.การเข้าไปครอบงำกิจการภาคธนาคาร

ทางเลือกด้วยการใช้ Financial Repression ในการแก้ปัญหาหนี้ เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นทางออกอย่างง่าย ๆ ของนักการเมือง เนื่องจากไม่ต้องรัดเข็มขัดและขึ้นภาษี(Fiscal Austerity) โดย Reinhart ได้แสดงหลักฐานของการใช้นโยบาย Financial repression แก้ปัญหาหนี้ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย เบลเยียม อินเดีย ไอร์แลนด์ อิตาลี แอฟริกาใต้ สวีเดน สหราชอาณาจักร(UK) และสหรัฐอเมริกา(USA) และทำสำเร็จมาแล้วระหว่างช่วงปี 1945-1980

แต่ก็ต้องยอมรับว่า การที่เทคนิคFinancial Repression จะใช้ได้ผล การหมุนของเงิน หรือ Money Velocity จะต้องถูกปลุกให้มาหมุนจนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นได้ จากนั้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดก็จะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้น แม้นว่าจะถูก manipulate ให้ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ก็ตามที

ฉะนั้น การลงทุนที่เหมาะสมภายใต้ภาวะ Financial Repression นี้ย่อมต้องเป็นการลงทุนที่สามารถสู้ได้กับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ นั่นคือการลงทุนในสินทรัพย์ ที่ปกติแล้วราคามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ แต่ในช่วงเวลาที่ภาวะเงินเฟ้อยังไม่มีอย่างเช่นปัจจุบันนั้น การลงทุนที่เหมาะสมน่าจะมุ่งเน้นในสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดเข้าพอร์ต เช่น ซื้อหุ้นปันผล และ ซื้อหุ้นกู้ของบริษัทชั้นดีที่ให้ผลตอบแทนสูงและครบกำหนดอีกไม่นานทั้งนี้เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นหุ้นที่เราถืออยู่น่าจะปรับตัวขึ้นไปได้ตามภาวะเงินเฟ้อ ส่วนหุ้นกู้ก็ถือรับดอกเบี้ยไปจนหมดอายุเพื่อที่จะไม่ต้องได้รับผลขาดทุน หากดอกเบี้ยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งทั้งหมดยังคงเพียงรอMoney Velocity อยู่เท่านั้น