เมื่อคนหนุ่มสาวพูดถึงอนาคตประเทศ

เมื่อคนหนุ่มสาวพูดถึงอนาคตประเทศ

อาทิตย์ที่แล้วมีแฟนคอลัมน์ ส่งบทความ “หนุ่มสาวไทยคิดอย่างไร กับอนาคตและเรื่องที่สำคัญของประเทศ”

(What do Thai youth think about the future and their countries’ priorities) ซึ่งเป็นการรวบรวมความเห็นโดย สำนักงานธนาคารโลกที่กรุงเทพฯ ที่สอบถามความเห็นคนรุ่นหนุ่มสาวเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาหวังจะให้เกิดขึ้นในประเทศ ข้อมูลลักษณะนี้สำคัญและน่าสนใจ เพราะเป็นข้อมูลที่แสดงถึงความต้องการของคนรุ่นต่อไปของประเทศว่าคิดอย่างไรกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น หวัง และอยากจะเห็นอะไรในอนาคต เพราะคนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่จะถูกกระทบโดยตรงจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งจะเป็นผลจากสิ่งที่ผู้ใหญ่รุ่นปัจจุบันกำลังทำอยู่

การสำรวจความเห็นคนหนุ่มสาวเป็นในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งในกรุงเทพฯ ภาคใต้ ภาคเหนือ และอีสาน ที่ได้แสดงความเห็นในสิ่งที่หวังและสิ่งที่อยากเห็น โดยมีสี่ความเห็นที่บทความนี้สรุป

หนึ่ง คือ ความต้องการที่จะเห็นคุณภาพการศึกษาของประเทศดีขึ้น มองว่าการศึกษา คือ กลไกสำคัญในการสร้างโอกาสและสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นเงื่อนไขสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมีอยู่ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในเมืองและชนบท

สอง การปรองดองและความสามัคคีของคนในสังคม ที่อยากเห็นสังคมอยู่กันด้วยการใช้เหตุผล นำไปสู่การสร้างสังคมที่สงบและเป็นสุข

สาม การบังคับใช้กฎหมาย ที่อยากเห็นทุกคนมีสิทธิตามกฎหมายเท่าเทียมกันและได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเท่าเทียมกัน ประเด็นนี้อย่างที่ผมเคยให้ความเห็นไว้ในหลายบทความ การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพเป็นเงื่อนไขสำคัญของการปฏิรูปประเทศที่จะลดความไม่ถูกต้องต่างๆ ที่มีอยู่ รวมถึงแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เพราะปัญหาส่วนใหญ่ในบ้านเราเกิดขึ้นจากการทำผิดกฎหมาย แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถเอาผิดลงโทษได้ ทำให้คนไม่กลัวที่จะทำผิด จึงสร้างปัญหามาก

สี่ การเพิ่มความสามารถในการผลิต โดยเฉพาะในภาคเกษตร ซึ่งเป็นฐานรายได้หลักของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ตราบใดที่ผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรยังไม่เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของรายได้ของคนส่วนใหญ่ก็จะมีข้อจำกัด เป็นข้อจำกัดต่อการแก้ปัญหาความยากจน และสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำให้มีมากขึ้นตามมา

ทั้งสี่ข้อนี้ ชี้ว่า คนรุ่นหนุ่มสาวมองเห็นชัดเจนถึงปัญหาที่ประเทศมีอยู่ และหวังที่จะเห็นการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา นำมาสู่การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับพวกเขาในอนาคต ซึ่งเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ใหญ่รุ่นปัจจุบันที่ต้องทำให้เกิดขึ้น

ในด้านเศรษฐกิจ โจทย์สำคัญของการปฏิรูปคือสร้างความสามารถทางการผลิตให้ประเทศสามารถขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น เพราะในระยะยาวมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในประเทศจะขึ้นอยู่กับความสามารถของประเทศในการหารายได้เป็นสำคัญ ซึ่งจะมาจากความสามารถของคนในประเทศที่จะขยายการผลิต

กรณีของไทยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้สรุปว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยตามศักยภาพ (potential growth) ได้ปรับลดมากช่วงสิบปีที่ผ่านมา จากอัตราร้อยละ 5 เหลือประมาณร้อยละ 3 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของผลิตภาพการผลิต และการลดลงของกำลังแรงงาน ตัวอย่างเช่น ประชากรวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 15-64 ปี อัตราการเพิ่มลดลงเหลือร้อยละ 0.4 ช่วงห้าปีที่ผ่านมา เทียบกับที่เคยเพิ่มร้อยละ 1 ช่วงสิบปีก่อนหน้า การลดลงของผลิตภาพการผลิตก็เป็นผลจากที่กำลังแรงงานปัจจุบันไม่สามารถสร้างความสามารถในการผลิตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ นำไปสู่การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และมีผลให้การลงทุนของภาคเอกชนชะลอ

ในระยะสั้นแม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้จากการกระตุ้นของภาครัฐ แต่ในระยะยาว การขยายตัวของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการปฏิรูปที่จะสร้างความสามารถทางการผลิตให้กับเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งประเด็นปฏิรูปที่สำคัญคือการศึกษา โดยเฉพาะคุณภาพการศึกษาในระดับสูงและทักษะด้านวิชาชีพที่จะนำมาสู่การเพิ่มความสามารถในการผลิตของกำลังแรงงานของประเทศ ถ้ากำลังแรงงานของประเทศมีคุณภาพ มีระดับการศึกษาที่ดีขึ้น คุณภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

ในสายตานักลงทุน ประเด็นศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวเป็นที่จับตาและอยู่ในความสนใจและความห่วงใยของนักลงทุนมากกว่าประเด็นการเมือง ล่าสุด รายงานของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ คือ Moody’s เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมาเกี่ยวกับประเทศไทยก็แสดงความห่วงใยในเรื่องนี้ มองว่า กลไกที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างดีในอดีต คือ การส่งออกและการลงทุนของภาคเอกชน ปัจจุบันทั้งสองกลไกมีปัญหา การส่งออกมีปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ทำให้การส่งออกไม่ขยายตัวช่วงสองปีที่ผ่านมา ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็ไม่ขยายตัว ส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาความสามารถในการแข่งขัน อีกส่วนมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้การลงทุนภาคเอกชนและการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ชะลอลงอย่างที่เป็นข่าว

แต่ลึกๆ แล้ว บทสรุปนี้ชี้ว่า โมเดลการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งการส่งออกและการลงทุนของภาคเอกชนที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต ปัจจุบันอาจไม่สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อไป ประเทศไทยต้องสร้างภาคการผลิต และการส่งออกใหม่ โดยเฉพาะด้านบริการที่แข่งขันได้บนพื้นฐานของเทคโนโลยี นวัตกรรม และความสามารถที่สูงขึ้นของกำลังแรงงานของประเทศ

 ดังนั้น ความหวังและความห่วงใยของคนรุ่นหนุ่มสาวที่แสดงออกมาจึงตรงประเด็น เหมือนกับจะบอกว่า การแก้เศรษฐกิจโดยใช้เงินกระตุ้นแต่ไม่ปฏิรูป จะแก้ไขปัญหาที่ประเทศมีอยู่ไม่ได้ ขณะที่การใช้เงินที่มุ่งสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทันสมัย เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมก็ไม่อาจเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้จริงจัง

เพราะโลกเศรษฐกิจในอนาคตจะแข่งขันกันที่นวัตกรรม ความสามารถที่จะประดิษฐ์และคิดค้น ที่จะมาจากคุณภาพของทรัพยากรบุคคลในประเทศเป็นสำคัญ ทำให้การลงทุนด้านการศึกษา สาธารณสุข และให้บริการทางสังคม เพื่อสร้างกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ อาจจะตรงประเด็นกว่า หรือสำคัญเหมือนกัน ทั้งเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตและสร้างพลังทางเศรษฐกิจให้กับคนรุ่นหนุ่มสาวที่จะเป็นอนาคตของประเทศ