ธรรมาภิบาลของดอยช์แบงก์
ในมุมมองของวัฒนธรรมตะวันออกรวมถึงไทยนั้น การร้องเรียนต่อหน่วยงานกำกับของบริษัทที่ตนทำงานอยู่
หรือที่เรียกว่า Whistleblower ว่านายจ้างของตนเองได้ทำผิดกฎหมาย อาจถือเป็นความไม่ถูกต้อง ดังสุภาษิตไทยที่ว่า ‘กินบนเรือน ขี้รดบนหลังคา’ แต่แท้ที่จริงแล้วนั้น การปิดบังความผิดหรือความไม่ตรงไปตรงมา อาจทำให้เกิดสิ่งที่ร้ายแรงมากอย่างวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 เช่นกรณีที่บริษัทจัดอันดับเครดิตที่ให้กองสินเชื่อซับไพร์มเป็น AAA แม้จะรู้ถึงความไม่ชอบมาพากลก็ตาม
สัปดาห์ที่แล้ว ได้มีกรณี Whistleblower ที่โด่งดังที่สุดในรอบหลายปี เมื่อนายเอริค เบน อาซี อดีตผู้จัดการด้านการบริหารความเสี่ยง ของธนาคารดอยช์แบงก์ ร่วมกับเพื่อนของเขาให้ข้อมูลกับคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต.ของสหรัฐเมื่อหลายปีก่อน ว่าธนาคารที่เขาทำงานอยู่ ได้ทำการเปลี่ยนแปลงตัวเลขที่ใส่เข้าไปในสูตรสำหรับการตั้งราคาตราสารทางการเงินที่เรียกว่า Credit Default Product ซึ่งเป็นการขายผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนต่อผู้ลงทุน ตามความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งเมื่อตอนวิกฤติซับไพร์ม นายเบน อาซี เล่าว่าหากดอยช์แบงก์ไม่ทำเช่นนั้น ก็จะต้องขอความช่วยเหลือต่อทางการเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งผู้บริหารของแบงก์ดังกล่าวรับไม่ได้
ความจริงแล้ว เรื่องทำนองนี้มีให้เห็นกันค่อนข้างบ่อย ที่โด่งดังมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีกรณีของธนาคารโกลด์แมน แซคส์ ที่นายเกรก สมิธ อดีตพนักงานของโกลด์แมน แซคส์ ได้เขียนระบายความในใจผ่านบทความในนิวยอร์ค ไทมส์ ที่ชื่อว่า “Why I Am Leaving Goldman Sachs.” ได้เล่าถึงการปฏิบัติต่อลูกค้าของธนาคาร ในลักษณะที่ให้บริการต่างๆ ในการซื้อขายตราสารทางการเงินด้วยคุณภาพที่ด้อยกว่าการเทรดตราสารการเงินในพอร์ตของธนาคารเอง และเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารดังกล่าวระวังในจุดนี้ไว้ให้ดี จนกระทั่งได้ออกหนังสือ “Why I left Goldman Sachs.” แม้ว่ากรณีนี้ จะไม่มีการจ่ายค่าปรับกันแบบมโหฬาร เหมือนอย่างที่ธนาคารดอยช์แบงก์ต้องจ่ายค่าปรับ เป็นเงิน 55 ล้านดอลลาร์ โดยที่นายเอริค เบน อาซี มีสิทธิ์ได้รับเงินกว่า 3 ล้านดอลลาร์ ทว่านาย เบน อาซี ไม่ขอรับเงินดังกล่าว เนื่องจากไม่อยากจะถูกนายจ้างเก่าของตนเองฟ้องร้อง อย่างไรก็ดี ยังไม่วายโจมตีดอยช์แบงก์ว่า เงินค่าปรับที่ต้องเสียนั้น มาจากผู้ถือหุ้น ไม่ใช่มาจากผู้บริหารระดับสูงที่กระทำความผิด ที่สำคัญ ย้ำว่าการที่พวกเขาเหล่านั้นรอด เพราะผู้ที่เป็นกรรมการตัดสินในกรณีนี้ ของ กลต.สหรัฐส่วนใหญ่เคยเป็นผู้บริหารเก่าของดอยช์แบงก์ เลยออกจะติดลูกเกรงใจกันอยู่
ผมมีความเห็นต่อกรณี Whistleblower นี้ อยู่ 2 ประการ คือ
หนึ่ง ว่ากันว่ากฎหมายสหรัฐ ที่มีการปกป้องสิทธิของประชาชนอยู่ค่อนข้างมาก ก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้ที่ทำ Whistleblower กล้ารับเงินที่ตนเองสมควรได้รับตามกฎหมาย ผมประเมินภูมิหลังครอบครัวของนายเบน อาซี ว่ามาจากชนชั้นกลาง โดยถือว่ามิได้ร่ำรวยจนกระทั่งไม่สนใจเงินรางวัลดังกล่าว โดยคุณพ่อของเขาเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในอิสราเอล ส่วนคุณป้าของเขาเป็นภรรยาของนายกรัฐมนตรีประเทศอิสราเอล นายเบนจามิน เนธานยาฮู เรื่องนี้ นายเบน อาซี เองยังเอ่ยปากว่าการกระทำในครั้งนี้ ทำให้เขาต้องสูญเสียเงินก้อนโตจากการที่ไม่ได้ทำงานไปช่วงหนึ่ง ประเด็นนี้ถึงขนาดที่ได้กล่าวออกมาตรงๆ ว่ากฎหมายสหรัฐ มิได้ผดุงความยุติธรรม ทว่ากลับขับเคลื่อนด้วยเงินเป็นหลัก จึงไม่น่าสงสัยเลยว่ากรณีที่คล้ายคลึงกับที่นายเบน อาซีได้ทำ Whistleblower ในครั้งนี้ คงจะไม่เกิดขึ้นให้เห็นกันบ่อยนักในอนาคต
สอง ในแวดวงการเงินการธนาคารและโทรคมนาคมของไทย ไม่ได้มีการสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมที่ลูกจ้างกล้าจะบอกความไม่ชอบมาพากลสำหรับขั้นตอนการทำงานของนายจ้างต่อทางการ อันเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น อาทิ กรณีที่เงินในบัญชีของชายวัยกลางคนรายหนึ่งเกิดหายไปเกือบล้านบาท จากมิจฉาชีพที่ปลอมแปลงสำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของบัญชี ซึ่งตรงนี้ น่าจะมีการรณรงค์ให้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมดังกล่าวในเมืองไทย
ปัจจุบันนี้ นายเอริค เบน อาซี ทำงานให้กับบริษัท BondIT ซึ่งเป็นบริษัททางการเงินที่ไม่ใหญ่โตนัก โดยมิได้เกี่ยวข้องกับดอยช์แบงก์อีกเลยครับ