FinTech ในยุโรป กับอนาคต FinTech ในไทย

 FinTech ในยุโรป กับอนาคต FinTech ในไทย

ธุรกิจฟินเทค (FinTech หรือ Financial Technology) ในไทยได้รับการกล่าวถึงกันอย่างหนาหูมากขึ้น

ล่าสุดได้อ่านข่าวเรื่องมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ เกี่ยวกับธุรกิจฟินเทคและแนวทางการควบคุมในไทย ก็ดีใจที่เห็นประเทศไทยเดินหน้าและมีความคืบหน้าในการพัฒนาการเปิดเสรีภาคบริการทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจฟินเทคที่เชื่อว่าจะพลิกโฉมบริการทางการเงินไทย และมีบทบาทในเปลี่ยนวิธีการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยได้ในอนาคตอันใกล้

ฟินเทคคือ การผสมผสานเทคโนโลยียุคดิจิตัลและ Software ใหม่ๆ เข้าไปกับการทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงิน แบบที่ผู้ใช้บริการทำได้เองผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์ แบบทำที่ไหนก็ได้และทำเมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่ต้องไปแบงก์ซึ่งต้องรอเวลาเปิดปิด หรือพึ่งพาเจ้าพนักงานแบงก์เป็นผู้ให้บริการอีกต่อไป ธุรกิจฟินเทคที่พูดถึงกันมากทั่วโลก ได้แก่ ระบบการชำระเงิน (อาทิ mobile banking, digital wallets, peer-to-peer payments) การลงทุนและการกู้ยืมเงิน (อาทิ equity crowdfunding, peer-to-peer lending)

จริงๆ ธุรกิจฟินเทคก็ยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับยุโรปกันบริษัทฟินเทคที่ดังๆ ส่วนใหญ่มีฐานอยู่ที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร ก็อาทิ  Funding Circle, Nutmeg, TransferWise นอกจากนั้น ในยุโรปยังมีบริษัทฟินเทคอยู่มากที่สวีเดนและเยอรมนี โดยช่วงปีหลังๆ ธุรกิจฟินเทคมันเป็นผู้ประกอบการและนักธุรกิจประเภท Startups เกิดขึ้นมากมาย และเป็นคู่แข่งสำคัญของธนาคารพาณิชย์และบริษัทบัตรเครดิตใหญ่ๆ ได้เลยทีเดียว

สหภาพยุโรปหรืออียู โดยผู้กำหนดนโยบายและกฎระเบียบ และสถาบันกลางผู้ควบคุมทางการเงินของภาครัฐยุโรปต้องเร่งทบทวนกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัยและสามารถตอบรับและควบคุมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทางการเงินและการให้บริการทางการเงินของบริษัทฟินเทคให้ทัน เพราะมันจะเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงินในการซื้อขายสินค้าและบริการไปอย่างสิ้นเชิง และเป็นการกระตุ้นธุรกิจ E-commerce และการซื้อขายของออนไลน์ได้มากขึ้นซึ่งยุโรปเชื่อว่าเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจยุคดิจิตัลได้อีกทางหนึ่ง

ยกตัวอย่าง ตอนนี้บริษัทฟินเทคสามารถคิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้บริโภคและผู้ซื้อสามารถอนุญาตให้ผู้ขาย (อาทิ Amazon) หักเงินจากบัญชีธนาคารได้โดยตรง (แทนการใช้บัตรเครดิต) และจะยิ่งดีขึ้นไปอีกหากผู้ขายไม่คิดค่าธรรมเนียมที่สูงสำหรับการทำธุรกรรม ก็ยิ่งทำให้การซื้อของออนไลน์ง่าย สะดวก และน่าดึงดูดมากขึ้น โดยที่ควรมีการควบคุมจากสถาบันกลางทางการเงินอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

สำหรับประเทศไทย ดร.วีรไทย สันติประภพพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวไว้ในงานสัมมนา “Positioning Thailand’s FinTech Ecosystem” (แหล่งข้อมูล Thaipublica)ว่า จริงๆ แล้วทิศทางของธุรกิจฟินเทคนี้ก็สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 ของไทย โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริม Digitization ของระบบการเงินไทย

ทั้งนี้ก็เพื่อเป้าประสงค์ในการลดต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินทุกประเภทให้กับคนไทย ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้มากขึ้น การส่งเสริมให้มีการแข่งขันในระบบการเงินที่โปร่งใสเป็นธรรม โดยเฉพาะสำหรับลูกค้ารายย่อย แล้วการส่งเสริมให้เกิดผู้ประการทางการเงินในไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่เป็นขนาดใหญ่ อย่างเช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือผู้ประกอบการทางการเงินใหม่ๆ

อีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญคือ เรื่องของการเพิ่มความรู้ความเข้าใจทางด้านการเงิน การวางแผนทางการเงิน ความรู้ความเข้าใจในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือ Financial Literacy สำหรับคนไทยเพราะว่าหากเทคโนโลยีจะพร้อมแค่ไหนก็ตาม ถ้าประชาชนผู้ใช้บริการไม่พร้อมใช้ ก็ไม่มีทางที่เราจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้

นับเป็นทิศทางที่ดีสำหรับการพัฒนาภาคบริการทางการเงินของไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานที่หากภาคการเงินพร้อม ก็จะเป็นตัวส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยและผลักดันเศรษฐกิจไทยได้ในอีกหลายๆ ด้าน

 

ยุโรปพร้อมใช้ Payment Infrastructure เท่าเทียมกันปี 2018

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปก็ดำเนินการออกกฎระเบียบหลักๆ ด้านนี้ อาทิ

กฎระเบียบสหภาพยุโรป Directive on Payment Services หรือ PSD

กฎระเบียบสหภาพยุโรป Directive on Payment Services (PSD) เป็นพื้นฐานด้านกฎหมายสำหรับการสร้างระบบการชำระเงินเดียวทั่วสหภาพยุโรป เพื่อเป้าหมายให้การชำระเงินระหว่างประเทศสหภาพยุโรปกลายเป็นเรื่องง่าย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย ที่สำคัญทำให้เกิด the Single Euro Payments Area (SEPA ) ที่ใช้กันอยู่ในยุโรปและทำให้การชำระเงินระหว่างประเทศสมาชิกอียูสะดวกและไม่มีค่าธรรมเนียมการโอน

- กฎระเบียบสหภาพยุโรปฉบับแก้ไข Revised Directive on Payment Services หรือ PSD2

คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศใช้กฎระเบียบใหม่ (ฉบับแก้ไข) เรื่อง Payment Services Directive 2 (PSD2) เมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นการเพิ่มการแข่งขันในระบบการให้บริการด้านการชำระเงิน และเปิดโอกาสให้ผู้เล่นใหม่ๆ สามารถเข้าถึง payment infrastructure ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยประเทศสมาชิกอียูมีเวลาถึงปี 2018 ที่จะปรับใช้กฎระเบียบใหม่ดังกล่าว

แต่ในกรณีสหราชอาณาจักรที่กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการที่จะออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit นั้น ทำให้ไม่มีความแน่ชัดว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรจะปรับใช้กฎระเบียบดังกล่าวหรือไม่

ดูเพิ่มเติมได้ที่http://europa.eu/rapid/press-release_IP-15-5792_en.htm?locale=en

 ---------------------

ดร.อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu >หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd