หนังสือเล่ม ปรับตัวอยู่รอด!
การพัฒนาด้านเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่
ซึ่งเป็นกำลังซื้อในอนาคต ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัว!
นับตั้งแต่ออนไลน์และสื่อโซเชียล ขยายตัวเข้าถึงประชากรไทยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ปัจจุบันสัดส่วนเกินกว่า 50% ส่งผลต่อรูปแบบการเสพสื่อและคอนเทนท์ในฝั่งสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับผลกระทบที่ชัดเจนใน สื่อสิ่งพิมพ์ พบว่ากลุ่ม“นิตยสาร” ทั้งหัวหนังสือไทยและต่างประเทศ หลายฉบับทยอย“ปิดตัว”ต่อเนื่อง ในยุคที่ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลออนไลน์มากขึ้น และเม็ดเงินโฆษณาแมกกาซีนหดตัวตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ส่วนสถานการณ์“หนังสือเล่ม” จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ยืนยันว่า“หนังสือเล่มไม่ตาย”แน่นอน! แต่ต้องปรับตัวตามเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ
ผลสำรวจ“พฤติกรรมผู้บริโภคในการเข้าร้านหนังสือ”เดือนก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์แนวทางการปรับตัว หาทางรอดและโอกาสเติบโตในอุตสาหกรรมหนังสือเล่มในยุคนี้ พบว่ากลุ่มนักอ่านตัวยง “ไม่ได้”มีอัตราการอ่านหนังสือหรือการเข้าร้านหนังสือเปลี่ยนแปลงไปมากนัก ยังเป็นกลุ่มคนที่รักการอ่านหนังสือ แต่จะเปลี่ยนแปลงประเภทของหนังสือที่อ่านตามช่วงเวลา
ปัจจัยการเข้ามาของ โซเชียล มีเดียและสื่อออนไลน์ ที่ส่งผลต่อการอ่าน คือทำให้สามารถหาอ่านหนังสือออนไลน์ได้ฟรี เช่น ทำอาหาร ท่องเที่ยว และเข้ามาแบ่งเวลาการอ่านหนังสือเล่มไปด้วยเช่นกัน
แนวทางการปรับตัวเพื่อสร้างโอกาส “เพิ่มยอดขาย” ของหนังสือเล่ม จึงมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ เพิ่มจำนวนผู้ซื้อ (Penetration) ,เพิ่มความถี่เข้าร้าน (Frequency) และ เพิ่มยอดจับจ่ายต่อครั้ง(Weight of Purchase) จากการวิจัยของสมาคมฯ การเพิ่มจำนวนผู้ซื้อ จากการขยายสาขาร้านหนังสือและเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายอื่นๆ ค่อนข้างยากและใช้เงินลงทุนสูง ทั้งยังต้องร่วมมือจากหลายฝ่าย
ขณะที่การเพิ่มความถี่ ด้วยการทำให้คนเข้าร้านหนังสือหรือซื้อผ่านออนไลน์บ่อยขึ้น เป็นแนวทางที่ทำได้ง่ายกว่า เช่นเดียวกับการเพิ่มยอดใช้จ่าย ด้วยกลยุทธ์ผสมผสานสินค้าที่หลากหลาย หากดูเส้นทางการซื้อของนักอ่านประจำ (Consumer Journey) เป็นกลุ่มที่เข้าร้านหนังสือเรื่อยๆ อยู่แล้วและไม่ค่อยได้วางแผนเท่าไหร่ ดังนั้นความต้องการซื้อหลายครั้งจึงเกิดขึ้น ณ จุดขาย จากข้อมูลวิจัยพบว่าช่องทางซื้อหลัก มาจาก ร้านหนังสือ 60-80% งานหนังสือ 20-40% และ ซื้อออนไลน์ 10%
เมื่อวิเคราะห์ความต้องการนักอ่านที่จะช่วยเพิ่มโอกาสขายของ “ร้านหนังสือ” เพราะพวกเขารู้สึกว่า สามารถเลือกหนังสือได้นาน, ไม่ต้องรีบเหมือนไปงานหนังสือ, ได้เห็นหนังสือจริงได้จับต้องจริง, เช็คสภาพหนังสือ เลือกเล่มที่ถูกใจได้ ลองอ่านก่อนได้, เข้าไปดูที่ร้านเผื่อมีเล่มใหม่หรือหนังสืออื่นๆที่น่าสนใจ มีของพรีเมียมที่ช่องทางอื่นไม่มี บริการห่อปก
ทั้งหมดล้วนเป็น “ประสบการณ์”ที่ผู้บริโภคหรือนักอ่านต้องการได้จาก “ร้านหนังสือและธุรกิจหนังสือเล่ม” ที่ต้องปรับตัว เพิ่มโอกาสการขาย เพื่ออยู่รอดในยุคนี้