ถ้าทรัมป์ชนะเลือกตั้งสหรัฐ
อีกไม่กี่วัน จะถึงวันที่ 8 พ.ย. ซึ่งเป็นวันที่ชาวสหรัฐอเมริกาจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีคนต่อไป
ครั้งนี้เป็นการชิงชัยระหว่างนางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ที่มีจุดยืนทางการเมืองและนโยบายที่ต่างกันอย่างมาก
ณ วันนี้ หลายฝ่ายมองว่าคลินตันเป็นตัวเต็งในศึกครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ผลการลงประชามติ Brexit ที่ผ่านมา เป็นบทเรียนแสดงให้เห็นว่าการคาดการณ์ที่ผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นถึงแม้ทรัมป์จะดูมีโอกาสน้อยกว่า แต่โอกาสที่เขาจะได้เป็นประธานาธิบดีก็ใช่ว่าจะไม่มี อีกทั้งล่าสุดทางนางคลินตันก็จ่อโดนเอฟบีไอรื้อสอบกรณีอีเมล์ฉาวรอบใหม่ เท่ากับเป็นการสั่นคลอนความเชื่อมั่นกันระยะประชิดวันเลือกตั้งเลยทีเดียว
ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า “ทรัมป์ยังมีโอกาส” ก็อาจเป็นได้ จึงทำให้ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไทยและภูมิภาคเอเชียจากนโยบายของทรัมป์ โดยไม่ละทิ้งการประเมินสถานการณ์และผลกระทบหากคลินตันได้เป็นประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน
นโยบายการค้าระหว่างประเทศน่าจะเป็นประเด็นที่มีผลต่อไทยชัดเจนที่สุด โดยทรัมป์ประกาศชัดเจนตั้งแต่เริ่มหาเสียงว่าเขาต่อต้านการค้าเสรี รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ดังนั้น หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ข้อตกลงนี้น่าจะไม่ถูกให้สัตยาบัน และมีโอกาสที่สหรัฐ อาจไม่เจรจาข้อตกลงการค้าอื่นๆ ในอนาคต ไทยจึงอาจต้องพึ่งพาจีนในเรื่องการค้ามากขึ้น เช่นอาศัยข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำลังมีการเจรจากันอยู่เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ทรัมป์ยังได้ออกมาพูดหลายครั้งว่าจะเพิ่มอุปสรรคทางการค้า ทั้งในรูปแบบของการขึ้นภาษีนำเข้า และในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี โดยวางแผนจะใช้มาตรการนี้กับหลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีนและเม็กซิโก โดยให้เหตุผลว่าทั้ง 2 ประเทศ เป็นอุปสรรคที่กีดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ การที่ธุรกิจสหรัฐย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเหล่านี้ ทำให้คนสหรัฐจำนวนมากว่างงาน และทำให้สหรัฐเสียดุลทางการค้า ถึงแม้มีการวิเคราะห์ว่าทรัมป์ประเมินผลกระทบมากเกินความจริง แต่ความจริงจังของทรัมป์ แสดงให้เห็นว่าถ้าเขาได้เข้ามากุมอำนาจ เขาจะผลักดันแผนการนี้อย่างแน่นอน
ถึงแม้ทรัมป์จะไม่เคยเอ่ยชื่อประเทศไทยโดยตรง แต่ก็ใช่ว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ของทรัมป์ เพราะหากทรัมป์เพิ่มอุปสรรคทางการค้ากับจีน ทรัมป์ก็อาจเพิ่มอุปสรรคทางการค้ากับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้บริษัทที่ส่งออกให้สหรัฐอเมริกาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่ยังไม่ได้โดนเพิ่มอุปสรรคทางการค้าซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดดุล
นอกเหนือจากนี้ ทรัมป์ยังมีมาตรการดึงดูดการย้ายฐานการผลิตกลับเข้ามายังสหรัฐ ได้แก่ มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือเพียง ร้อยละ 15 จากเดิมอยู่ที่เกือบ ร้อยละ 40
ฉะนั้น หากบริษัทจากสหรัฐที่ลงทุนในไทย สนใจกลับสหรัฐตามแรงจูงใจของทรัมป์ ไทยย่อมได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่บริษัทสหรัฐจำนวนมากลงทุนในไทย อย่างไรก็ตาม มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่สงสัยว่ามาตรการเหล่านี้จะเพียงพอไหมในการดึงดูดให้บริษัทสหรัฐย้ายฐานผลิตกลับไป
นอกจากนโยบายการค้าแล้ว นโยบายต่างประเทศส่งผลกระทบต่อไทยเช่นกัน ในประเด็นด้านความมั่นคงทางภูมิภาค ทรัมป์ประกาศชัดเจนว่าอยากให้สหรัฐ ลดบทบาทในเวทีโลก รวมถึงในภูมิภาคเอเชีย เพื่อให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเพิ่มแสนยานุภาพทางการทหารเพื่อดำเนินการป้องกันตัวเอง และลดการพึ่งพาการคุ้มครองความปลอดภัยจากสหรัฐ ฉะนั้นหากทรัมป์ได้รับชัยในครั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอาจได้รับผลกระทบทั้งด้านความมั่นคง และเป็นการเปิดโอกาสให้จีนสามารถขยายอำนาจในการต่อรองในภูมิภาคมากขึ้น
สำหรับนโยบายของคลินตันที่ส่งผลกระทบต่อไทยนั้น มีอยู่ 2 ประเด็นหลัก ที่ต่างจากทรัมป์ ประเด็นแรกคือถึงแม้คลินตันบอกว่าจะไม่สนับสนุน TPP เนื่องจากมีรายละเอียดบางส่วนที่เธอไม่เห็นด้วย เช่นการละเลยปัญหาการแทรกแซงค่าเงินของประเทศคู่เจรจาหรือการให้อำนาจแก่บริษัทผลิตยาขนาดใหญ่มากเกินไปแต่อย่างไรก็ตาม คลินตันมีประวัติที่สนับสนุนการค้าเสรีมาโดยตลอด จึงมีความเป็นไปได้ว่าเธออาจพยายามเจรจาเนื้อหาบางส่วนของ TPP ใหม่อีกครั้ง หรือถ้าเป็นไปไม่ได้เธออาจเริ่มเจรจาข้อตกลงทางการค้าฉบับใหม่แทน แต่ก็น่าจะเป็นผลดีสำหรับไทยที่อาจได้โอกาสเข้าร่วมโต๊ะเจรจาการค้าใหม่อีกครั้งหลังจากที่ตกขบวน TPP ไป
อีกประเด็นหนึ่งคือด้านนโยบายต่างประเทศคลินตันน่าจะพัฒนาความสัมพันธ์กับเอเชียในทิศทางที่ได้ดำเนินนโยบายไปแล้วในยุคของโอบามาต่อไป โดยคลินตันเห็นว่าทวีปเอเชียมีความสำคัญมากต่อสหรัฐ ซึ่งต่างกับทรัมป์มากซึ่งดูจะไม่สนใจความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียเท่าไหร่นัก
จุดหนึ่งที่คลินตันจะต่างกับโอบามาคือ คลินตันจะมีความแข็งข้อมากกว่าโอบามาพอสมควรในความสัมพันธ์กับจีน โดยเฉพาะในปัญหาอาณาเขตในทะเลจีนใต้ซึ่งเธอได้ต่อว่ารัฐบาลจีนหลายครั้งสมัยเป็น รมว.ต่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่เธออาจพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์กับ ASEAN ให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อควบคุมอิทธิพลของจีนในภูมิภาคไว้
การเรียนรู้นโยบายของผู้สมัครทั้งสองย่อมเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมและปรับตัวตามสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งโดยสรุปในภาพรวม นโยบายของทรัมป์น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียมากกว่านโยบายของคลินตันแน่นอน
-------------------
กันตภณ อมรรัตน์, ณัชพล ประดิษฐเพชรา