แนวคิดพระราชทาน แก้ปัญหาประเทศ

แนวคิดพระราชทาน แก้ปัญหาประเทศ

ประเทศไทยช่วงเจ็บสิบปีที่ผ่านมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นช่วงที่ประเทศไทย

มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6.6 ต่อปีในช่วงปี 1952 - 2000 รายได้ประชาชาติที่ประมาณว่าอยู่ระดับประมาณ 200 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐต่อปีต่อคนในปี 1950 ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณ 5,774 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2015 เพิ่มขึ้นกว่ายี่สิบห้าเท่าตัว ขณะเดียวกัน คุณภาพชีวิตของประชากรในแง่ความยากจน สาธารณสุข และบริการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในพื้นที่ชนบทก็ดีขึ้นด้วย ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่มากกว่าเดิม ถือเป็นความสำเร็จของการพัฒนาประเทศที่น่าพอใจ

แต่ภายใต้ความสำเร็จนี้ สิ่งที่ปิดบังอยู่และไม่สามารถมองเห็นได้จากตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ ก็คือ ความไม่สมดุลในสังคมเศรษฐกิจไทย ที่ได้เกิดขึ้นจากผลของการเติบโตเร็วของเศรษฐกิจภายใต้ระบบเสรีนิยมและโลกาภิวัตน์ที่มีต้นทุนสูงต่อประเทศ และนำไปสู่การเกิดขึ้นของปัญหามากมายที่ประเทศไทยประสบอยู่ขณะนี้

หนึ่ง การถ่ายเททรัพยากรแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติออกจากภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่เป็นกระดูกสันหลังและเป็นฐานรายได้หลักของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมได้บั่นทอนศักยภาพการเติบโต และสร้างต้นทุนที่สูงให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่เป็นเกษตรกร ขณะที่การลงทุนของรัฐในภาคเกษตรก็ลดลง กระทบความสามารถในการหารายได้ในระยะยาวของคนส่วนใหญ่ ที่สำคัญการพัฒนาอุตสาหกรรมได้มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมและความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ทั้งน้ำ คุณภาพดิน และป่า ที่พื้นที่ป่าได้ถูกผลาญไปกว่าสองในสามในช่วงเวลาดังกล่าว สร้างความเสื่อมโทรมให้กับสิ่งแวดล้อม และเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วม ภาวะภัยแล้ง กระทบความเป็นอยู่ของเกษตรกร และความยั่งยืนของภาคเกษตร

สอง สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างสังคมชนบทและสังคมเมือง ที่การพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้การเติบโตระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการขยายตัวที่แตกต่างกันมาก จากอัตราการเติบโตประมาณ 0-5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในภาคเกษตร เทียบกับอัตราการเติบโตตัวเลขสองหลักในภาคอุตสาหกรรม ความแตกต่างนี้ได้นำไปสู่ความแตกต่างในการขยายตัวของรายได้ระหว่างคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาคเกษตร และคนส่วนน้อยที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากความแตกต่างในชีวิตและมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในเมืองและชนบท

สาม ความเสื่อมในจริยธรรมและความอ่อนแอในพฤติกรรมของคนในสังคม ที่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลของระบบทุนนิยม วัตถุนิยม และการบริโภคนิยม สร้างความอยากมี อยากได้ อยากสะสม นำไปสู่การแสวงหาอำนาจ แสวงหาความร่ำรวย ความมีหน้ามีตาในสังคม จนคนเหล่านี้พร้อมที่จะทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ผิดจริยธรรม ผิดกฎหมายเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ ซึ่งขัดกับหลักธรรมของพุทธศาสนาที่เน้นในเรื่องความพอดี และการเดินสายกลางในการดำเนินชีวิต และเมื่อใจของคนจำนวนมากมุ่งอยู่ที่การแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเอง ไม่สนใจความถูกต้องที่ควรเป็นพื้นฐานให้กับการเติบโตของประเทศในระยะยาว การใช้เงินซื้ออำนาจทางการเมือง (money politics) ซื้ออำนาจทางเศรษฐกิจ ใช้เงินเอาเปรียบผู้อื่น การทุจริตคอร์รัปชัน การไม่เคารพกฎหมาย จึงเกิดขึ้นกว้างขวาง พร้อมกับกลไกของประเทศที่ขาดความเข้มแข็งเชิงสถาบัน ที่จะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่โดยใช้เหตุและผล

นี่คือ ความไม่สมดุลที่ประเทศไทยมีอยู่ เป็นความเสี่ยง เป็นข้อจำกัด ฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพที่มีอยู่ รวมถึงไม่สามารถที่จะเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ถ้าความไม่สมดุลเหล่านี้ไม่มีการแก้ไข พระองค์ท่านได้ทรงเห็นข้อจำกัดนี้มาตั้งแต่ก่อนที่ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 ที่เป็นผลมาจากการก่อหนี้และการใช้จ่ายอย่างเกินตัวของภาคธุรกิจ นำมาสู่การพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับสังคมไทยในช่วงต่อมา เพื่อลดความไม่สมดุลและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับประเทศ ที่สอดคล้องกับหลักและค่านิยมของคนไทยในเรื่องความพอดี

ในเวลานี้ คนไทยทุกคนควรยอมรับว่า ประเทศไทยขณะนี้มีปัญหามาก เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขเพื่ออนาคตของประเทศ และความไม่สมดุลเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ ถ้าประชาชนไทยนำแนวคิดพระราชทานของพระองค์ท่านมาปฏิบัติใช้อย่างจริงจังทั้งในการพัฒนาประเทศ ในการบริหารธุรกิจของภาคเอกชน และในชีวิตประจำวันของทุกคน

หนึ่ง การพัฒนาประเทศควรมุ่งไปที่การพัฒนาคนและความสามารถในการหารายได้ของคนเป็นหลัก ให้คนมีความรู้ มีงานทำ มีรายได้ ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ได้มากกว่าแนวคิดที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วเพื่อให้คนในประเทศได้ประโยชน์ เพราะข้อเท็จจริงชี้ว่าคนส่วนใหญ่อาจไม่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่โตเร็วอย่างที่เคยเกิดขึ้น ตรงกันข้าม การสร้างความเข้มแข็งให้กับความสามารถในการหารายได้ในระดับปัจเจกบุคคลของคนส่วนใหญ่จะเป็นฐานที่เข้มแข็งให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจที่จะมั่นคงและสมดุล

สอง จริยธรรมและความประพฤติที่ถูกต้องดีงามนั้น สำคัญต่อการสร้างประเทศและสังคมให้มั่นคงและเข้มแข็ง โดยเฉพาะจริยธรรมของบุคคลในระดับนำในภาคราชการ การเมือง และภาคธุรกิจ ที่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนทั้งประเทศ เหมือนที่พระองค์ท่านได้ทรงยึดทศพิธราชธรรมหรือจริยวัตร 10 ประการ ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงปฏิบัติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ แต่เรามักจะเข้าใจว่า หลักธรรมทั้ง 10 ข้อนี้ เป็นคุณธรรมประจำตนของพระเจ้าแผ่นดิน หรือ ผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ได้จำเพาะสำหรับผู้ปกครองแผ่นดิน บุคคลธรรมดาโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ผู้นำทางการเมือง ผู้นำในองค์กรเอกชนควรต้องใช้หลักธรรมนี้เช่นกัน ซึ่งถ้าทำได้ ประเทศไทยก็จะมีภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง มีพฤติกรรมใหม่ที่จะลดความอยากมี และลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ

สาม นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจทั้งในภาคราชการโดยรัฐบาลและในภาคธุรกิจโดยบริษัทเอกชน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเตือนให้เราตระหนักในความสำคัญของความพอดี คือ การใช้จ่าย การลงทุน หรือการก่อหนี้ที่ไม่เกินตัว มีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ใช้ความรู้และความมีเหตุมีผลในการตัดสินใจ ผ่านกระบวนการทำงานที่โปร่งใส และมีความรับผิดรับชอบ ซึ่งก็คือ พื้นฐานของการบริหารงานที่มีธรรมาภิบาลหรือมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ปรัชญานี้ คือ วิธีคิด วิธีทำงาน ที่จะสร้างความระมัดระวังให้มีมากขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจที่ดี ที่จะผิดพลาดน้อยลง และสร้างความยั่งยืนได้ง่ายขึ้น

แนวคิดพระราชทานทั้งสามเรื่องนี้ เป็นมรดกที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับประชาชนชาวไทย ที่เราควรต้องนำมาใช้ทั้งในชีวิตประจำวันและในการแก้ไขปัญหาประเทศ