ประเทศไทย 4.0 กับทุนทางวัฒนธรรม
รัฐบาลพยายามผลักดันนโยบายประเทศไทย 4.0 หรือไทยแลนด์ 4.0 กล่าวคือ เศรษฐกิจที่ขับ
เคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี เป็นการเน้นภาคบริการ แทนภาคอุตสาหกรรม เป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ที่สร้างความมั่งคั่งผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์
เนื่องด้วยนโยบายนี้มีความสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาของประเทศ ในบทความนี้ ผมจะนำเสนอมุมมองของผมในการใช้ทุนวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนไปสู่ประเทศไทย 4.0 โดยให้ความสำคัญกับมิติทางเศรษฐกิจเป็นหลัก
ข้อสังเกตต่อแนวคิดประเทศไทย 4.0
ผมมีข้อสังเกตของผมต่อแนวคิดประเทศไทย 4.0 ดังนี้
ประการแรก แนวคิดการนำประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยกำลังปรับตัวไปในทิศทางนั้นอยู่แล้ว สังเกตได้จาก รูปแบบการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นถูกแทนที่ด้วยการผลิตที่ใช้ทุนเข้มข้น รวมถึงภาคบริการมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในอนาคต มีแนวโน้มจะเกิดการพัฒนาไปสู่การผลิตที่ใช้ความรู้เข้มข้น (Knowledge Intensive) เป็นต้น
ประการที่สอง การนำประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 สอดคล้องกับแนวคิด “คลื่น 7 ลูก” หรือ โลก 0.0 ถึง 6.0 ที่ผมนำเสนอไว้เมื่อเกือบ30 ปีที่แล้วโดยคลื่นลูกที่ 0 ถึง 4 หรือโลก 0.0 ถึง 4.0 กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะโลก 4.0 หรือคลื่นลูกที่ 4 ตามแนวคิดของผม คือ ยุคสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของประเทศไทย 4.0
หากเราต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศแนวหน้าของโลก เราต้องมีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยขี่ยอดคลื่นให้ได้ เพราะประเทศที่เข้าถึงพรมแดนองค์ความรู้ใหม่และสามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยี นวัตกรรมขั้นสูงได้ก่อนจะเป็น “ผู้ชนะ” สามารถก้าวกระโดดเป็นประเทศชั้นแนวหน้าของโลกได้
ประการที่สาม การนำประเทศไทยเข้าสู่ ยุค 4.0 เป็นทิศทางที่ถูกต้อง ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศได้จริง เพราะประเทศไทยขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย อาทิ งบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาต่ำมาก จำนวนนักวิจัยมีน้อย การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยยังไม่เข้มงวดนัก การขาดการเชื่อมโยงกันระหว่างสถานศึกษากับผู้ประกอบการ การศึกษาของไทยไม่สนับสนุนให้คนคิดเป็นและกล้าคิด รวมถึงการลงทุนโดยรวมของประเทศยังมีปัญหา
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยถดถอยลง ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ประเทศจึงไม่สามารถก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เพราะฉะนั้น หากต้องการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ของประเทศ การกำหนดทิศทางของประเทศให้ไปสู่ประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นนวัตกรรม เทคโนโลยี การพัฒนาภาคบริการ จึงเป็นแนวทางที่ผมคิดว่าถูกต้อง
ทุนทางวัฒนธรรมจะเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่ประเทศไทย 4.0 ได้อย่างไร?
ทุนในทางเศรษฐศาสตร์ คือ ปัจจัยที่อำนวยให้เกิดความสะดวกในการผลิตสินค้าและบริการ ทุนมีหลายรูปแบบ หลายประเภท เป็นมากกว่าเครื่องจักรหรือเงินออม (Financial Capital) ทุนทางวัฒนธรรมเป็นทุนอีกประเภทหนึ่ง อันเกี่ยวข้องกับคุณค่าความรู้ ภูมิปัญญาและงานสร้างสรรค์ เป็นเสมือนสินทรัพย์ที่ผ่านการสะสมและฝังตัวจนเกิดเป็นมูลค่า
ด้วยเหตุนี้ เมื่อโลกเคลื่อนเข้าสู่สังคมฐานความรู้ การประยุกต์และบูรณาการทุนวัฒนธรรมกับการพัฒนาเศรษฐกิจจึงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ทุนวัฒนธรรมเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และนำไปสู่ความเกี่ยวข้องกับการเป็นประเทศไทย 4.0 ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทางตรง : ทุนวัฒนธรรมช่วยทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
ทุนวัฒนธรรมทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก วัฒนธรรมเป็นต้นน้ำของห่วงโซ่คุณค่า
(Value Chain) ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเราสามารถนำทุนวัฒนธรรม เช่น เรื่องราว (Story) และเนื้อหา (Content) ของวัฒนธรรม มาสร้างความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของตน หรือใช้ทุนวัฒนธรรมสร้างความแตกต่างหรือจุดขายให้กับสินค้า เกิดเป็นสินค้าวัฒนธรรมและทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นแก่สินค้าและบริการ
ดังตัวอย่างของประเทศเกาหลีใต้ที่สามารถส่งออกวัฒนธรรม ตั้งแต่ความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักแสดง ละคร เพลง รายการโทรทัศน์ จนถึงอาหาร ส่งผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจเกาหลีถึง 1.87 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ.2004 เพิ่มขึ้นเป็น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ.2013 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ.2017
ทางอ้อม : ทุนวัฒนธรรมอยู่เบื้องหลังค่านิยม แนวปฏิบัติที่ทำให้เกิดนวัตกรรม
งานศึกษาจำนวนมากได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า วัฒนธรรม (ในแง่มุมของความคิด การปฏิบัติ ความเชื่อและค่านิยม) เป็นปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างนวัตกรรม กล่าวคือ สังคมที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมสูงนั้น จะมีวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม
วัฒนธรรมดังกล่าว ประกอบด้วย ความเป็นปัจเจกสูง ความไม่กลัวความไม่แน่นอน ความกล้าเสี่ยง ความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ความสามารถในการมองระยะยาว ขณะที่ ความเป็นอำนาจนิยม ตำแหน่งนิยม ชนชั้นนิยมจะอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ คนในสังคมยังมีใจเปิดต่อข้อมูลใหม่ ชอบการเดินทาง มองวิทยาศาสตร์ในด้านบวก และเห็นคุณค่าการศึกษา เป็นต้น
ในทางตรงกัน วัฒนธรรมบางประเภทเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น วัฒนธรรมการอุปถัมภ์เชิงลบ วัฒนธรรมการลอกเลียนแบบ ซึ่งนับว่าเป็นวัฒนธรรมที่ประเทศไทยมีอยู่ค่อนข้างมาก ในเกือบทุกแวดวงของสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยทั้งสองวัฒนธรรมข้างต้นจะทำให้คนไม่มุ่งเน้นที่จะพัฒนาประสิทธิภาพ หรือปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น และขาดแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมในที่สุด
ผมมองว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการพัฒนาวัฒนธรรมในเชิงปรัชญาความคิดเพราะวิธีที่เราคิด (Thinking) กำหนดสิ่งที่เรารู้ (Knowing) สิ่งที่เรารู้กำหนดความเป็นตัวเรา (Being) ความเป็นตัวเรากำหนดวิถีชีวิต (Living) วิถีชีวิตกำหนดสิ่งที่เราแสดงออก (Manifesting) ทั้งนี้ เพื่อประเทศไทยจะมีประชาชนที่มีคุณภาพและจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้