แนวปฏิบัติที่ดีเพื่อขับเคลื่อนประเทศ
เมื่อสามอาทิตย์ก่อน ผมได้ไปประชุม Global Network of Director Institutes
(GNDI) ซึ่งก็คือ เครือข่ายสถาบันกรรมการบริษัททั่วโลก เข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการบริหารของเครือข่ายดังกล่าวและในฐานะซีซีโอของสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD
GNDI ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 ปัจจุบันมีสมาชิก 19 ประเทศ เช่น สถาบันกรรมการบริษัทของ อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา ยุโรป บราซิล อัฟริกาใต้ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
วัตถุประสงค์ของเครือข่ายคือ สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันกรรมการบริษัทที่เป็นสมาชิกในการทำหน้าที่พัฒนากรรมการ เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจ เพื่อประโยชน์ของสังคมและของประเทศ ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดี โดยเฉพาะในประเด็นใหม่ๆ ที่สำคัญต่อการทำหน้าที่กรรมการปีนี้ การประชุมจัดขึ้นที่กรุงโจแฮนเนสเบอร์ก ประเทศอัฟริกาใต้ โดยสถาบันไอโอดีอัฟริกาใต้ (IODSA) เป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ IODSA ประกาศใช้แนวปฏิบัติที่ดีฉบับที่ 4 หรือ King IV Report ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ทาง IODSA ต้องการให้มีการนำไปปฏิบัติใช้อย่างกว้างขวางโดยองค์กรต่างๆ ในประเทศอัฟริกาใต้ เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในทุกส่วนของประเทศ ซึ่งน่าสนใจมาก
สถาบันไอโอดีอัฟริกาใต้ ก่อตั้งมาแล้วกว่า 50 ปี เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี ผ่านการให้ความรู้และฝึกอบรมกรรมการบริษัท สถาบันไอโอดีอัฟริกาใต้ได้ออกแนวปฏิบัติเพื่อเป็นกรอบในการทำหน้าที่ของกรรมการตั้งแต่ปี 1994 โดยใช้ชื่อเอกสารแนวปฏิบัติว่า King Report ตามชื่อประธานคณะกรรมการยกร่างแนวปฏิบัติดังกล่าว คือ ศาสตราจารย์ เมอร์วิน คิงส์ (Mervyn King) อดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุดของประเทศ หลังจากนั้น ตัวเอกสารก็มีการปรับปรุงมาตลอด เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการและแนวปฏิบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในระดับสากล นำไปสู่รายงานฉบับที่สอง และฉบับที่สาม ตามลำดับ ที่น่าชื่นชมก็คือ แนวปฏิบัติที่ดีนี้ เป็นผลงานของสถาบันไอโอดีอัฟริกาใต้ ที่ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของสังคมธุรกิจของประเทศ ไม่ได้นำแนวปฏิบัติที่ถูกพัฒนาขึ้นในทางสากล เช่น ของ OECD มาปฏิบัติใช้ แต่ได้พยายามพัฒนาแนวปฏิบัติของตนขึ้นมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่รายงานฉบับแรกจนถึงฉบับที่สี่ เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติที่จะส่งเสริมและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลที่ประเทศมีอยู่ เพื่อสร้างสังคมธุรกิจของประเทศที่เข้มแข็งและมีจริยธรรม
ประเทศอัฟริกาใต้ มีบางส่วนคล้ายประเทศไทย คือมีความท้าทายด้านธรรมาภิบาลมาก แต่ในแง่สังคม ประเทศอัฟริกาใต้ดูจะมีปัญหามากกว่าจากปัญหาการเมืองและความไม่สมานฉันท์ของคนในประเทศ จากเรื่องผิวและการเข้าครอบครองเศรษฐกิจของประเทศโดยคนผิวขาวตั้งแต่ในอดีต ทำให้คนอัฟริกาส่วนใหญ่ยากจน ประเทศมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง และคนผิวดำไม่ได้มีสิทธิมีเสียงเหมือน เช่น พลเมืองเจ้าของประเทศทั่วไปจนกระทั่งการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ปี 1996 ที่ให้คนผิวดำและคนผิวขาวมีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกัน และได้นายเนลสัน มาเดลล่า มาเป็นประธานาธิบดี ปัจจุบันประเทศมีการปกครองในระบบประชาธิปไตย ประชาชนทั้งผิวขาวและผิวดำมีสิทธิลงคะแนนเสียงเท่าเทียมกัน และปัจจุบันมีผู้นำผิวดำ คือ นายจาคอบ ซูม่า (Jacob Zuma) เป็นประธานาธิบดี
ในช่วงที่อยู่ที่อัฟริกาใต้ระหว่างการประชุม ข่าวใหญ่ ก็คือ การออกรายงานของนาง ทูลิ มาดอนเชล่า (Thuli Madonsela) ผู้ปกป้องประโยชน์สาธารณะ (Public Protector) ซึ่งเป็นหนึ่งในหกสถาบันที่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญปี 1996 เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลการทำหน้าที่ของรัฐ รายงานดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่า เครือข่ายนักธุรกิจ และคนใกล้ชิดประธานาธิบดีซูม่า ได้ทุจริตคอร์รัปชันเพื่อหาประโยชน์ ผ่านการแต่งตั้งผู้เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนเกิดกระแสภายในประเทศ ที่ต้องการให้ประธานาธิบดีซูม่าพ้นจากตำแหน่ง ปัจจุบันการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญของอัฟริกาใต้ การจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันโดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ ให้อัฟริกาใต้อยู่ในอันดับที่ 61 ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง ที่การแก้ไขต้องเริ่มจากการทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบของผู้อยู่ในตำแหน่ง โดยเฉพาะผู้นำองค์กร ที่ต้องเป็นตัวอย่างของการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง
ในบริบทของปัญหาของประเทศเหล่านี้ เป้าประสงค์ของรายงาน ของ King IV Report ก็คือ สร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศอัฟริกาใต้ โดยมุ่งไปที่การทำหน้าที่ของผู้นำองค์กรที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ คือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของคนในองค์กร ไม่ใช่มองธรรมาภิบาลแค่เป็นเรื่องของการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หรือ เป็น compliance issue แต่เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดผลลัพธ์ คือเกิดพฤติกรรมความประพฤติที่ต้องการ ผ่านหลักการสำคัญสามข้อ ที่รายงานฉบับที่ 4 ให้ความสำคัญ
ข้อแรก คือความรับผิดรับชอบของคณะผู้นำขององค์กร (Governing body) เช่น คณะกรรมการบริษัท ในกรณีของบริษัทเอกชน ที่ต้องขับเคลื่อนให้องค์กรมีวัฒนธรรมด้านจริยธรรมที่เข้มแข็ง มีผลประกอบการที่ดี มีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สอง คณะผู้นำขององค์กรต้องแสดงภาวะผู้นำที่มีจริยธรรม (Ethical Leadership) และมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่และมีความรับผิดรับชอบต่อผลที่เกิดขึ้น
สาม คณะผู้นำต้องขับเคลื่อนให้องค์กรหรือบริษัทเป็นพลเมืองดีที่มีความรับผิดชอบ (Responsible citizen)ในสังคมธุรกิจของประเทศ
สามหลักการนี้ถือเป็นหัวใจของแนวปฏิบัติฉบับที่สี่ที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม ผ่านการทำหน้าที่ของผู้นำองค์กรในทุกระดับที่มีจริยธรรม มีความเป็นมืออาชีพ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม จากการประชุม สังเกตได้ว่าไม่ว่าจะเป็น นักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ และภาคประชาสังคม ต่างสนับสนุนแนวคิดนี้และต้องการให้มีการนำแนวปฏิบัติของรายงานฉบับที่สี่ไปปฏิบัติใช้ในทุกองค์กรทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้อัฟริกาใต้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เรียกร้องให้ผู้นำองค์กรทุกระดับปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ขององค์กรและเพื่ออนาคตของประเทศ
ผมนั่งฟังการสัมมนาตั้งแต่ต้นจนจบทั้งวัน ฟังแล้วรู้สึกประทับใจและทึ่งในความตั้งใจและในพลังขับเคลื่อนของคนในระดับนำของสังคมของประเทศอัฟริกาใต้ขณะนี้ และสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ ทำให้นึกถึงประเทศไทยว่า เรามีการบ้านที่ต้องทำอีกมาก