ทำไมหวยมาออก ‘อิตาลี’?
ไม่ทันจะข้ามถึงปี 2017 นายกรัฐมนตรีอิตาลี นายแมทธิโอ เรนซิ ก็ประกาศลาออกจากความ
พ่ายแพ้ด้วยคะแนน 60 ต่อ 40 จากการประชาชนชาวอิตาลีผู้มาลงประชามติราวร้อยละ 70 ในการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ลดอำนาจของวุฒิสภา ด้วยการโหวต NO เมื่อเช้าตรู่วันจันทร์ในเวลาบ้านเรา คำถามที่หลายท่านคงจะอยากทราบว่า เพราะเหตุใดอิตาลีที่ดูเหมือนจะเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของยุโรป รวมถึงมีอุตสาหกรรมแฟชั่นและออกแบบในระดับแนวหน้าของโลก จึงมีผลการโหวตออกมาที่ส่อว่าจะไปทางที่จะไปสู่การออกจากยูโร ด้วยคะแนนเสียงที่ห่างมาก ซึ่งหากพิจารณาจากกรีซที่รัฐบาลมีหนี้สินพะรุงพะรัง ยังมีผลโหวตให้กรีซยังอยู่ในยูโรต่อ
ผมขอนำเสนอเหตุผล 5 ประการ ที่พยายามจะตอบว่าเหตุไฉน อิตาลีจึงเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
หนึ่ง ในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 เศรษฐกิจอิตาลีก็เหมือนกับเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆในยุโรป ที่สหภาพแรงงานมีความเข้มแข็งจนทำให้เกิดการประท้วงหยุดงานอยู่เนืองๆ หลายประเทศในยุโรปแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรในโรงงานของตนเอง อาทิ เยอรมัน บางประเทศได้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีที่เอาจริงเอาจังกับการแปรรูปรัฐวิสหกิจและสหภาพแรงงาน อาทิ อังกฤษ ทว่าอิตาลีส่วนใหญ่แก้ปัญหานี้ด้วยการลดค่าเงินของตนเองครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้สินค้าส่งออกยังคงมีความสามารถในการแข่งขันได้ดี ความเคยชินที่ใช้ตัวช่วยดังกล่าวได้กลายเป็นเหมือนธรรมชาติของชาวอิตาลีโดยทั่วไปไปเสียแล้ว ทำให้เมื่อถึงปี 1992 ที่อิตาลีต้องเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป นักกการเมืองหลายคนในอิตาลีก็ยังไม่อยากให้อิตาลีเข้าเป็นสมาชิกเนื่องจากค่าเงินยูโรจะถูกตรึงไว้ไม่เปลี่ยนแปลง
โดยในช่วงสิบกว่าปีแรกของการเกิดขึ้นของยูโรนั้น ยังโชคดีที่เป็นช่วงขาขึ้นของเศรษฐกิจยุโรปที่ยังกินบุญเก่าที่มีเทคโนโลยีโดดเด่นกว่าประเทศกำลังพัฒนาในหลายภาคส่วนอุตสาหกรรม ประกอบกับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเศรษฐกิจจีนเป็นตัวพยุงให้เกิดอุปสงค์ของสินค้าและบริการของหลายบริษัทในยุโรป อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐก็ได้รับแรงหนุนจากฟองสบู่สินเชื่อซับไพร์มก่อนจะแตก จนกระทั่งเมื่อปี 2010 ที่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐและจุดเประบางของเศรษฐกิจอิตาลีตามธรรมชาติเดิมของตนเองที่กล่าวไว้ข้างต้น รวมถึงกรีซ สเปนและไอร์แลนด์ที่มีจุดอ่อนที่แตกต่างกัน ได้แก่ หนี้ภาครัฐ อัตราการว่างงานที่สูงมาก และวิกฤตภาคธนาคาร ตามลำดับ ที่ได้เกิดระเบิดพร้อมกันในช่วงปลายปี 2010 โดยที่อิตาลีน่าจะหนักสุดหากพิจารณากันให้ลึกลงไป เพราะเป็นปัญหาของตนเองที่เกิดมาจากสายเลือด ก็น่าจะไม่กล่าวเกินความเป็นจริง
สอง จุดอ่อนด้านตลาดแรงงาน อิตาลีเป็นประเทศหนึ่งในยุโรปที่การให้ลูกจ้างออกจากบริษัทหรือหน่วยงานที่ตนเองทำงานอยู่มีความยากลำบากมากที่สุด และเมื่อมองไปข้างหน้า ก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะดีขึ้นในเร็ววัน ในเดือนพฤษภาคม 1999 ซึ่งตอนนั้น รัฐบาลของอิตาลีภายใต้นายกรัฐมตรี นายราโมน่า โพรดี ศาสตราจารย์และที่ปรึกษารัฐมนตรีด้านแรงงานที่หนุนการแก้ให้กฎหมายแรงงานลดการให้ประโยชน์กับลูกจ้างนามว่า มาซิโม ดีแอนโทน่า ได้ถูกฆาตกรรมในกรุงโรม อีก 3 ปีถัดมา ภายใต้รัฐบาลของซิลวิโอ เบอร์ลุสโคนี นักการเมืองระดับสูงนามว่า มาร์โค บิอาจี ได้ถูกปลิดชีวิตคามอเตอร์ไซด์ระหว่างเดินทางจากเมืองโบโลญญ่า จากความพยายามที่จะปฏิรูปด้านระบบบำนาญ รวมถึงการแก้กฎหมายให้ลูกจ้างสามารถถูกให้ออกได้ง่ายกว่าเดิม โดยทั้งคู่ที่ถูกฆาตกรรมเป็นผลงานของผู้ก่อการร้ายฝ่ายซ้าย กลุ่มที่ชื่อว่า New Red Brigades ที่คนหลังเมื่อลดระดับการคุ้มครองของตำรวจ ก็ถูกสังหารทันที ตรงนี้ทำให้ชาวอิตาลียิ่งจะอินกับกระแส ‘ประชานิยม’ ได้ง่ายที่สุด
สาม การศึกษาและความไม่เท่าเทียมของชนชั้นในอิตาลี ความไม่คล่องตัวของตลาดแรงงานในอิตาลี ถูกตอกย้ำให้ลึกลงไปอีกด้วยระดับการศึกษาของชาวอิตาลีที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆโดยส่วนใหญ่ในยุโรป ในปี 2000 มีเพียงร้อยละ 36 ของชาวอิตาลีที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ในขณะที่โดยเฉลี่ยของยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 42 ที่แย่ไปกว่านั้น คือตัวเลขของผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเป็นต้นไปมีเพียงร้อยละ 10 เทียบกับเฉลี่ยร้อยละ 20 ในยุโรป
นอกจากนี้ ผู้อพยพที่มีการศึกษาสูงหรือมีความชำนาญเฉพาะทางปีละ 6 หมื่นคนอพยพเข้ามาในอิตาลีเพื่อเข้ามาในตลาดแรงงานที่ขาดแคลนในอิตาลีโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มีความชำนาญสูง รวมถึงอิตาลีเองยังเป็นสังคมผู้สูงอายุจากการที่อัตราการว่างงานของวัยรุ่นหรือหลังจบปริญญาตรีสูงมาก จนต้องอาศัยในบ้านของพ่อแม่จนอายุมากกว่าที่จะมีครอบครัว โดยที่อัตราส่วนบำนาญของผู้สูงอายุถึงร้อยละ 57 ของค่าใช้จ่ายทางสังคม และร้อยละ 14 ของจีดีพี แน่นอนว่าสังคมที่เป็นลักษณะนี้ ความพยายามของนายเรนซิที่จะให้เข้าสู่เศรษฐกิจระบบตลาดเสรีจากการโหวตเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาคงจะสำเร็จได้ยากมาก
ครั้งหน้า ผมจะพูดถึงปัญหาธนาคารพาณิชย์ของอิตาลีที่รุนแรงจนนำมาสู่การโหวต NO ของชาวอิตาลีเมื่อ 2 วันก่อนครับ