มองธรรมาภิบาลภาครัฐเกาหลีใต้และไทย
ข่าวการรวมตัวของคนเกาหลีใต้กว่าครึ่งล้านคน เมื่อวันเสาร์ของอาทิตย์ที่แล้ว
เพื่อฉลองชัยการเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี ปาร์ค กึน เฮ (Park Guen Hye)ตามรัฐธรรมนูญ (impeachment) ในข้อหาใช้อำนาจหน้าที่ช่วยเหลือคนใกล้ชิดเพื่อการทุจริตคอร์รัปชัน ถือเป็นความน่าทึ่งของระบบประชาธิปไตยและกลไกการตรวจสอบของระบบธรรมาภิบาลภาครัฐเกาหลีใต้ อย่างน้อยในสามเรื่อง
หนึ่ง แสดงถึงความเข้มแข็งของระบบประชาธิปไตยเกาหลีใต้ ที่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุล (check and balance) การใช้อำนาจของผู้นำสูงสุดในการทำหน้าที่ ที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนตัวหรือถอดถอนจากตำแหน่งได้ เป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษนอกระบบหรือการแทรกแซงจากภายนอก เช่น การปฏิวัติรัฐประหาร แสดงถึงความเข้มแข็งของระบบประชาธิปไตยที่ทุกอย่างเดินตามกติกาและทุกฝ่ายเคารพในสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
สอง แสดงถึงความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ ที่ทำหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็งในการตรวจสอบและสร้างแรงกดดันให้เกิดการสอบสวนข้อเท็จจริงในประพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของผู้นำและบุคคลใกล้ชิด จนนำไปสู่การเริ่มต้นของกระบวนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญในที่สุด ซึ่งภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่นี้ ก็คือ นิสิตนักศึกษาที่เปิดประเด็น ตามด้วยสื่อมวลชนเกาหลีใต้ที่เจาะข่าวหาข้อมูลจนพบว่า บุคคลที่ใกล้ชิดคือเพื่อนสนิทประธานาธิบดี ที่อาจอาศัยความสนิทสนมส่วนตัว สร้างโอกาสในการทุจริตคอร์รัปชัน โดยให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศ บริจาคเงินให้กับมูลนิธิที่ตนเองดูแลอยู่ ซึ่งเงินดังกล่าวก็ไม่มีใครทราบว่า ได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางสาธารณะอย่างไร นำไปสู่การชุมนุมประท้วงของประชาชนเกาหลีใต้ กดดันให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การเอาผิดถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการลงมติเห็นชอบโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เริ่มกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีโดยศาลรัฐธรรมนูญ
การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ เป็นการชุมนุมประท้วงของคนจำนวนเป็นแสน ทุกวันสุดสัปดาห์ ต่อเนื่องถึงหกอาทิตย์ และสามารถสร้างแรงกดดันให้สภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้ต้องมีมติเริ่มกระบวนการถอดถอนผู้นำประเทศ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่สภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้มีมติให้เริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนโดยศาลรัฐธรรมนูญ
สาม แสดงถึงความมีเหตุผลของนักการเมืองเกาหลีใต้ในการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรที่ใช้เหตุผลและดุลยพินิจของตนในการลงคะแนนให้เริ่มกระบวนการถอดถอน แทนที่จะเป็นการลงคะแนนตามมติพรรค เพราะตามรัฐธรรมนูญประเทศเกาหลีใต้ การเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีจะต้องมีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกว่าสองในสาม ซึ่งจะไม่สามารถทำได้ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายรัฐบาลไม่ร่วมด้วย ผลปรากฏว่า คะแนนเสียงสนับสนุนการถอดถอนมีมากถึง 234 เสียงเทียบกับคะแนนที่ไม่เห็นด้วยที่มีเพียง 56 เสียง แสดงถึงจิตสำนึกของนักการเมืองเกาหลีใต้ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลของประเทศมากกว่ามติหรือผลประโยชน์ของพรรค
ผลจากมติดังกล่าว ทำให้ประธานาธิบดีปาร์คต้องยุติการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นการชั่วคราว โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ทำหน้าที่ผู้นำประเทศแทนระหว่างรอผลพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งตามที่มีการร้องขอจากมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลานานสุดประมาณหกเดือน ซึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ดำเนินการถอดถอน ประธานาธิบดีปาร์คก็จะต้องออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีทันที แต่ถ้าศาลมีความเห็นว่าไม่ควรถอดถอน ประธานาธิบดีก็จะกลับมามีอำนาจและสามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีได้ต่อไปจนครบวาระปกติห้าปีที่จะสิ้นสุดต้นปี 2018
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 คล้ายกับประเทศไทย แต่ยี่สิบปีให้หลัง เกาหลีใต้สามารถปฏิรูปประเทศได้ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและธรรมาภิบาล ปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย ทั้งด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในห้าประเทศผู้นำโลกด้านนวัตกรรม ในด้านการเมือง เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง โดยประเทศอยู่ในระบบประชาธิปไตยต่อเนื่องมาขณะนี้ 29 ปี ด้านธรรมาภิบาล เกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่ภาพลักษณ์ด้านคอร์รัปชันไม่รุนแรง อยู่อันดับ 37 ของดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของโลกและเป็นตัวอย่างของประเทศที่สามารถลดทอนปัญหาคอร์รัปชันที่เคยรุนแรงมาก่อนได้ จากการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง (rule of Law) ระบบราชการที่โปร่งใส และความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมในเรื่องธรรมาภิบาล
ผู้เขียนเคยถามนักธุรกิจและนักวิชาการเกาหลีใต้ว่า ทำไมภาคประชาสังคมเกาหลีใต้จึงเข้มแข็ง คำตอบที่ได้คล้ายกันคือ ประเทศเกาหลีใต้แต่ก่อนยากจนมาก ต้องแบ่งปันกันเพื่อความอยู่รอด สังคมเกาหลีใต้จึงให้ความสำคัญมากในเรื่องความเหลื่อมล้ำ การเอารัดเอาเปรียบ และความไม่เป็นธรรม เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ และในกรณีของประธานาธิบดีปาร์ค ก็ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญที่เป็นที่มาของการบิดเบือนการใช้อำนาจ (abuse of power) และเป็นต้นตอสำคัญของการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งมีมากในเอเชีย นั่นก็คือ ระบบเกี้ยเซี้ยระหว่างภาคธุรกิจ การเมือง และข้าราชการประจำที่ให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน นำไปสู่ประเด็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การช่วยเหลือกันที่ไม่ถูกต้อง การทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงคุณภาพที่ต่ำของการให้บริการสาธารณะที่เกิดจากการทุจริต กระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของคนในสังคม
รูปแบบของการเกี้ยเซี้ยที่สำคัญและเห็นบ่อยก็คือ การดูแลให้ข้าราชการหรือนักการเมืองที่เกษียณอายุที่เคยเป็นผู้กำกับดูแล ไปนั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริษัทที่ถูกกำกับดูแลโดยไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน จนกลายเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ในที่สุดก็ทำให้เกิดความอ่อนแอในการกำกับดูแลและการเอาผิดลงโทษบริษัทที่ทำผิดโดยหน่วยงานภาครัฐ นี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้ธรรมาภิบาลภาครัฐและภาคเอกชนอ่อนแอ ซึ่งประเทศเราเองก็มีความท้าทายเรื่องนี้มาก ดังข่าวล่าสุดที่ข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปรับเงินเดือนนั่งเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำในสายตาของคนส่วนใหญ่ แม้จะอธิบายว่าไม่ผิดระเบียบ เพราะอาจนำไปสู่ประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้ง การใช้ตำแหน่งหน้าที่ปกป้องช่วยเหลือ และการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยังอยู่ในตำแหน่ง นี่คือตัวอย่างหนึ่งของปัญหาธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเรา