เกี่ยวอะไรกับเรา : เศรษฐกิจอินเดีย...เติบโตยั่งยืนหรือชั่ว
“เกี่ยวอะไรกับเรา” ฉบับนี้ผมขอแบ่งปันมุมมองทิศทางเศรษฐกิจของอินเดีย โดยครั้งนี้เป็นตอนที่ 2 จากบทความทั้งหมด 3 ตอนครับ
ตอน 2: เศรษฐกิจอินเดียเติบโตยั่งยืนหรือชั่วคราว
I. ตัวเลขเศรษฐกิจอดีต-ปัจจุบัน
ภาพรวมของ GDP อินเดียตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2494 มีพัฒนาการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จาก 3.8% (ปี 2494-2531) , 5.9% (ปี2531-2546) และ 8.3% (ปี 2546-2555) แต่หากพิจารณาปัจจัยเพิ่มเติมในรายละเอียดจะพบว่า
• อินเดียมีรายได้ต่อหัวของประชากรที่ต่ำเพียงประมาณ 3,000บาทต่อเดือน
• มีสัดส่วนของประชากรที่มีความยากจนอย่างที่สุดถึง22%
• มีสัดส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมต่อ GDP ที่ไม่ขยับมานานที่15%
• มีสัดส่วนการเป็นสังคมเมืองที่ต่ำเพียง 30%
• และที่สำคัญแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในบริบทของแรงงานชั่วคราว โดย 50%อยู่ในภาคเกษตรกรรมและอีกครึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมย่อยที่ไม่อาจจำแนกได้
ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจอินเดียยังติดอยู่ในหล่มและไม่สามารถแสดงศักยภาพการเติบโตที่แท้จริงได้ ซึ่งในความเห็นของผม ประเด็นสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจอินเดียคือการปรับตัวที่ล่าช้าจากการเป็นสังคมเกษตรกรรมมาสู่การมาเป็นสังคมที่พึ่งอุตสาหกรรมและการบริการ โดยหนึ่งในปัญหาหลัก มาจากการที่บริษัทในอินเดียส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ที่มีบุคลากร 1-50 คน ซึ่งคิดเป็นกว่า 80% ของบริษัททั้งหมด การที่บริษัทส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ทำให้การประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) และพัฒนาการ จากการแข่งขันในตลาดโลกที่จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่เป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยช่วงระหว่างปี 2553-2554 บริษัทที่มีพนักงานต่ำกว่า 20 คน คิดเป็นอัตราส่วนถึง73%ของแรงงานอินเดียทั้งหมดแต่ในแง่ของผลผลิตคิดเป็นเพียง 12% ดังนั้นหากอินเดียจะผงาดขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักในเศรษฐกิจโลกได้ ปัญหานี้ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน
II. จุดเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาการที่ยั่งยืน
การที่ประเทศอินเดียมีแรงงานมากถึง 500 ล้านคน และเพิ่มขึ้นทุกปีประมาณ 12 ล้านคนนั้น ทำให้อินเดียมีโอกาสที่สามารถนำแรงงานส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแรงงานด้อยฝีมือ เข้าสู่สิ่งที่ผมอยากเรียกว่า “วัฏจักรการพัฒนา” กล่าวคือต้องให้แรงงานด้อยฝีมือผ่านบริบทการเป็นสังคมอุตสาหกรรมก่อนจึงค่อยเน้นการพัฒนาไปเป็นสังคมบริการควบคู่กับการเป็นสังคมดิจิตอลในอนาคต เพราะหากภาคอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็งจะเป็นแรงส่งต่อให้ธุรกิจในภาคบริการและดิจิตอล ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลที่ประจักษ์บนตัวอย่างของประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้ โดยการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของอินเดียนั้น ควรเน้นไปที่การส่งออกไปยังตลาดโลกมากกว่าเพื่อรองรับการเติบโตในประเทศ ถึงแม้หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการส่งออกยังซบเซา แต่หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงจากตัวอย่างของกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในช่วงปี 2538-2556 จะเห็นว่ามีการเติบโตจากการส่งออกเพียง 1.4% แต่จีน ซึ่งขณะนั้นกำลังพยายามผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญของตลาดโลก สามารถเพิ่มสัดส่วนในการส่งออกไปยังตลาดโลกที่จากเดิมมีอยู่เพียง 2.9% ไปเป็น 11.7% แต่ในปัจจุบันเนื่องจากอัตราค่าจ้างที่แท้จริงของจีนเพิ่มขึ้น 10% ในทุกๆปีตั้งแต่ปี 2550 จีนกำลังจะสละตำแหน่งผู้นำการเป็นผู้ผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่อินเดียจะมาทดแทนบทบาทนี้ โดยสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดโลกของอินเดียในปี 2557 อยู่ที่ 1.7% ดังนั้นการที่จะเพิ่มสัดส่วนนี้เป็น 6% ใน 10 ปีอยู่ในวิสัยที่น่าจะทำได้
III. ศักยภาพในระยะยาว
หากพิจารณาอัตราการเติบโตของ ผลิตภัณฑ์ประเทศเบื้องต้นในราคาตลาดของอินเดีย (GDP at market price) ในช่วง ปี 2547 ถึงปี 2555 พบว่าอยู่ประมาณ 13% และมีมูลค่ารวมในปี 2558 ที่ 2 ล้านล้าน เหรียญสหรัฐ ซึ่งหากประมาณการไปข้างหน้าอีก 15ปี บนอัตราการเติบโตที่ 10% GDP at market price ของอินเดียจะอยู่ที่ 8.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลกรองจากจีนและสหรัฐฯ
ดังนั้นเมื่อพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด ผมมีความเห็นว่าอินเดียมีพื้นฐานและปัจจัยสนับสนุนที่เข้มแข็งและสามารถพัฒนาศักยภาพไปได้อีกไกล ไม่ว่าจะเป็น การมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดที่มีสัดส่วนการออมที่สูง มีแรงงานที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ทั้งยังมีกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความกระตือรือร้น ซึ่งหากอินเดียสามารถพลิกสถานการณ์ข้างต้นได้ โอกาสที่เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตแบบยั่งยืนและมีบทบาทที่สำคัญใกล้เคียงกับจีนในอนาคตก็อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ ซึ่งในฉบับหน้าเราจะมาดูว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเป็นแรงส่งให้กลุ่มประเทศอาเซียนเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร