ไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นไปได้ คนไทยต้องรักการอ่านก่อน

ไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นไปได้ คนไทยต้องรักการอ่านก่อน

ไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นความรู้ การสร้างสรรค์ เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

การผลิตนั้น ต้องการแรงงานที่มีความรู้ ความคิดอ่าน เป็นคนรักการอ่าน ใฝ่การเรียนรู้ คิดอย่างมีเหตุผล แต่คนไทยยังอยู่ในยุคที่เชื่อด้วยศรัทธาอารมณ์และตามกระแสชี้นำของสังคมบริโภคนิยมมากกว่า

คนไทยควรเรียนรู้จากยุโรปซึ่งเคยอยู่ในยุคมืดที่องค์กรศาสนาคริสต์และระบบราชาธิปไตยแบบรวมศูนย์มีอำนาจผูกขาดทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม บังคับให้คนเชื่อตามอย่างงมงาย ล้าหลัง มาราวนับพันปี แต่ปัญญาชน/ประชาชนในยุโรปในยุค 2-3 ร้อยปีที่แล้ว ได้ก้าวข้ามกับดักของยุคมืดไปสู่ยุคการทำให้โลกสว่างด้วยเหตุผล และยุคปฏิวัติประชาธิปไตยเสรีนิยมได้ เพราะประชาชนฉลาดและตื่นตัวขึ้นจากการได้อ่านหนังสือ และการฟังปาฐกถาของนักคิดนักเขียน (ซึ่งพวกเขาก็เติบโตมาจากการอ่านหนังสือดี) และการรู้จักคิดวิเคราะห์ต่อ

ญี่ปุ่นยุคร้อยกว่าปีที่แล้วก้าวข้ามกับดักของระบบศักดินาแบบโชกุนที่ปิดประเทศและหยุดนิ่งมาหลายร้อยปี ปฏิรูปประเทศไปเป็นทุนนิยมอุตสาหกรรมไล่ทันตะวันตกได้ เพราะพวกเขาสนใจเรียนรู้จากตะวันตกอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งส่งคนไปเรียนในวิชาสำคัญทุกวิชาและระดมแปลหนังสือดีจากตะวันตก และพิมพ์เผยแพร่ให้ประชาชนอ่านกันอย่างขนานใหญ่ ขณะที่ไทยปฏิรูปประเทศในสมัยเดียวกัน เพียงคนกลุ่มน้อยไปเรียนตะวันตกเฉพาะบางสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อชนชั้นผู้ปกครองและภาครัฐ ไม่ได้พัฒนาการศึกษาเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ได้ระดมการแปลหนังสือดีและการเผยแพร่ให้ประชาชนไทยรักการอ่านหนังสือดี และฉลาดขึ้นอย่างจริงจังเหมือนญี่ปุ่น

ไทยยุคปัจจุบันมีสำนักพิมพ์เอกชนพิมพ์หนังสือแปลดีๆ เช่น นวนิยายคลาสสิกออกมาบ้าง แต่มัก เลือกเฉพาะบางเล่มที่พอขายได้และพิมพ์ได้ปีละไม่กี่ปก เพราะคนไทยอ่านและซื้อหนังสือน้อย ห้องสมุดก็ไม่ซื้อ มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคมที่ผมเป็นประธานอยู่มพ์หนังสือได้ 17 ปก ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาก็เจอปัญหาขายได้น้อย รายจ่ายท่วมรายรับ ตอนนี้พยายามจะฟื้นฟูให้ดำเนินการต่อได้ด้วยการรณรงค์ขายหนังสือลดราคาและขอให้คนบริจาคซื้อเข้าห้องสมุด (ดูเฟซบุ๊ค: มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม) แต่ยังก้าวไปแบบช้ามาก

การที่หนังสือดีๆ ขายได้น้อยมาจากหลายปัญหา คนไทยโดยเฉลี่ยอ่านหนังสือน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมที่มากกว่าหรือใกล้เคียงกับไทยจริง แต่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวและเด็กที่อ่านหนังสือการ์ตูน นิยายรักโรแมนติก ผจญภัย หนังสือแนวตลาด หนังสือเชิงบริหาร หนังสือแนวธรรมะ มากพอสมควร แต่หนังสือดีระดับคลาสสิกประเภทนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี และหนังสือวิชาการกึ่งวิชาการพิมพ์ออกมาน้อยและคนซื้ออ่านน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับขนาด ประชากร ของไทยที่ค่อนข้างใหญ่ถึงราว 65-66 ล้านคน (มากกว่าประเทศอังกฤษ) ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่อ่านออกเขียนได้ และเฉพาะคนที่จบมหาวิทยาลัย วิทยาลัย มัธยมและอาชีวศึกษา น่าจะมีรวมกันสิบกว่าล้านคนขึ้นไป

การที่กลุ่มตัวอย่างนักเรียนไทยอายุ 15 ปี ทั้งประเทศสอบวิชาการอ่าน (ที่แปลเป็นไทยแล้ว) ในการทดสอบ PISA ของกลุ่มประเทศ OECD ได้คะแนนต่ำรั้งท้าย (รวมทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ด้วย)คือสัญญาณเตือนภัยว่าแรงงานไทยรุ่นต่อไปจะมีความรู้ทักษะต่ำกว่าแรงงานประเทศอื่นๆ และไทย

ปัญหาและทางแก้ไข คือ 1. ปฏิรูประบบการศึกษาโดยเฉพาะครูอาจารย์ในแนวส่งเสริมให้นักเรียนรักการอ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลิน สอนวิชาภาษาและวรรณกรรมไทยให้สนุกขึ้น ไม่ใช่เพื่อท่องจำไปสอบ

แบบน่าเบื่อ ทุกวิชาควรเลิกสอนการสอบแบบท่องจำตามคำบรรยาย ตำรา เพราะทำให้นักเรียนอ่านหนังสือหรือคำบรรยายเฉพาะตอนใกล้สอบเท่านั้น ยิ่งยุคนี้มีโทรศัพท์ที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ นักเรียนนักศึกษาชอบใช้เวลาดูและคุยกับเพื่อนมากกว่าการอ่านหนังสือเข้าไปอีก

ข้อที่ 2 ปฏิรูประบบห้องสมุดให้คนเข้าถึงได้ทั่วทั้งประเทศมีมีหนังสือดีที่น่าสนใจ เพิ่มงบจ้างบรรณารักษ์ที่เอาใจใส่จริงจัง และทำให้ห้องสมุดและอาชีพบรรณารักษ์ก้าวหน้าได้ด้วย ปฏิรูปวิธีการเลือกหนังสือดีเข้าห้องสมุด ยุติระบบการวิ่งเต้นขายหนังสือแบบลดราคาหรือให้บริการแถมกับผู้บริหารที่มีอำนาจสั่งซื้อหนังสือ นอกจากจะมีหนังสือดี หนังสือที่คนสนใจแล้วต้องมีบรรณารักษ์เอาใจใส่ประชาสัมพันธ์ชักชวน มีบรรยากาศเป็นมิตร คนจึงจะนิยมเข้าห้องสมุด ถ้าห้องสมุดราว 2-3 หมื่นแห่งที่เรามีอยู่ ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นและบรรณารักษ์รู้จักสั่งซื้อหนังสือดีๆ จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยการพิมพ์หนังสือต่อเล่มถูกลง คนทั่วไปจะได้มีโอกาสซื้อหนังสืออ่านเองได้มากขึ้นด้วย

ข้อที่ 3 สนับสนุนปฏิรูประบบการจัดจำหน่ายหนังสือ ปัจจุบันสายส่งคือคนที่รับหนังสือจากสำนักพิมพ์ไปวางตามร้านหนังสือต่างๆ เก็บค่าบริหารจัดการส่งและร้านหนังสือที่มีน้อย พื้นที่จำกัดสูงถึงราว 40-50% ทำให้สำนักพิมพ์ต้องตั้งราคาหนังสือสูงขึ้น แถมร้านหนังสือที่มีจำกัด มีพื้นที่จำกัด ค่าเช่า ค่าบริหารจัดการสูง ไม่ค่อยมีพื้นที่ที่จะวางขายหนังสือดีๆ ซึ่งพวกเขามองว่าขายได้น้อย ได้ช้า ร้านค้าที่ผูกขาดโดยสำนักพิมพ์ใหญ่ 2-3 แห่ง นิยมวางขายหนังสือแนวตลาด หรือหนังสือที่สำนักพิมพ์ตนเองเป็นผู้พิมพ์เอง ส่วนหนังสือดีๆ ของสำนักพิมพ์เล็กๆ ร้านค้าไม่ค่อยได้วางให้ผู้อ่านจึงเข้าถึงหนังสือดีได้ยาก

คนที่เป็นนักอ่านจริงๆ อาจจะสั่งซื้อจากสำนักพิมพ์ทางออนไลน์ได้ แต่คนที่เริ่มสนใจเป็นนักอ่าน ถ้ามีโอกาสได้เห็นตัวหนังสือจริง ได้ลองพลิกดูในร้านหนังสือจะช่วยดึงดูดให้มีคนรักการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น คนขายหนังสือที่รักการอ่านหนังสือจะคุยเรื่องหนังสือกับลูกค้าได้ด้วย เรื่องนี้ภาครัฐควรหาทางสนับสนุนให้ร้านขายหนังสืออยู่ได้และเติบโตได้ เช่น ลดภาษี ให้การสนับสนุนอุดหนุนด้านต่างๆ ให้ผู้ซื้อหนังสือลดหย่อนภาษีได้

การจะพัฒนาประเทศไทยตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 คงจะไม่ได้ผล ถ้าไม่เข้าใจปัญหาพื้นฐานที่ว่าต้องปฏิรูปการศึกษา ทำให้ประชาชนฉลาดและมีผลิตภาพแรงงานสูงขึ้นก่อน วิธีการปฏิรูปพลเมืองที่สำคัญที่สุด ที่ประเทศอื่นเขาทำกันได้ผลมาแล้ว คือการทำให้ประชาชนรักการอ่าน และมีโอกาสได้อ่านหนังสือดี ทำให้พวกเขาฉลาด ตื่นตัว ช่วยกันปฏิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่