Top-down Space:January Effect กำลังเกิดขึ้น?

Top-down Space:January Effect กำลังเกิดขึ้น?

คงต้องเริ่มกันที่คำถามว่า January Effect คืออะไร? January Effect เกิดจากความเชื่อของนักลงทุนที่ว่าตลาดหุ้นมักที่จะวิ่งเป็นขาขึ้น

 

และเป็นบวกได้ในช่วงเดือนมกราคม โดยสาเหตุหลักๆ มาจากการกลับมาของนักลงทุน หลังจากการหยุดยาวในช่วงเทศกาลคริสมาสต์ และเทศกาลปีใหม่ และการที่นักลงทุนต้องการปรับพอร์ตการลงทุนตอบรับกับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง อีกหนึ่งเหตุผลก็คือ ในช่วงท้ายปีนั้นเหล่ากองทุนทั้งหลาย อาจจะมีการทำ Window Dressing หรือจะต้องทำงบให้สวย ด้วยการขายหุ้นออกมาในเดือนธ.ค.และกลับมาซื้อคืนในเดือนม.ค.

แล้วในอดีต January Effect เกิดขึ้นจริงไหม?

จากข้อมูลย้อนหลังตลาดหุ้นไทยในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า มี 8 ปี ที่ตลาดหุ้นไทยปิดสิ้นเดือน ม.ค. สูงกว่าราคาเปิดต้นเดือน ม.ค. และอีก 7 ปีที่เหลือ สิ้นเดือน ม.ค. นั้นตลาดหุ้นไทยปิดราคาต่ำกว่าต้นเดือน ม.ค. โดยเฉลี่ยปีที่หุ้นวิ่งเป็นบวก เฉลี่ยแล้วบวกได้ 5.8% ขณะที่เฉลี่ยของปีที่ติดลบ 7 ปี ลบอยู่ที่ -5.5%

ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นไทย ผ่านมายังไม่ถึง 2 สัปดาห์ แต่ก็ทำท่าว่า เดือน ม.ค. นี้จะสามารถปิดบวกได้เป็นปีที่ 9 แต่นั้นก็ไม่ได้บ่งบอกว่า เกิด January Effect ในตลาดหุ้นไทยเพราะข้อมูลในอดีตก็บอกเราแล้วว่า ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสบวกพอๆกับติดลบในเดือนแรกของปี

แต่ที่น่าสนใจกว่า ก็คือ หากดูผลตอบแทนรายเดือน ของเดือนอื่นๆที่เหลือ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่า เดือนที่ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสบวกสูงกว่ามากกว่า 80% หรือ บวกได้ 12 ปี จากทั้งหมด 15 ปี ก็คือ เดือน ก.พ. และเดือน เม.ย.

เห็นแบบนี้ ก็แสดงว่า โอกาสในการเข้าลงทุน อาจจะอยู่ที่เดือน ม.ค. นี้ละครับ เพราะซื้อเดือน ม.ค. ไป ไม่รู้ละว่าเดือนนี้จะบวกหรือลบ แต่พอเข้าเดือน ก.พ. โอกาสที่ตลาดจะเป็นบวกนั้นมีสูงถึง 12 ครั้ง ใน 15 ปี

แล้วทำไม เดือน ก.พ. และเดือน เม.ย. ตลาดหุ้นไทยถึงมีโอกาสบวกมากกว่าลบ?

ถ้าให้อธิบายด้วยเหตุผล ผมมองว่า เนื่องจากการเกิดขึ้นของกองทุน LTF ทำให้เมื่อข้ามปีปฏิทิน จะมีนักลงทุนที่ถือกองทุน LTF ครบเงื่อนไข ต้องการขายคืนเพื่อทำกำไรจากที่ถือมาแล้วเกิน 5 ปี และแรงขายจะเริ่มทยอยหมดลงในเดือน ก.พ. เอง ตรงนี้ ก็จะเป็นจังหวะที่นักลงทุนสถาบัน และต่างชาติ กลับมาสะสมหุ้นเข้าพอร์ตอีกครั้ง

ส่วนในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นเดือนที่ไทยเรามีวันหยุดยาวจากเทศกาลสงกรานต์ ผมสังเกตถ้านับตั้งแต่ปี 2551 ที่เกิดวิกฤต Subprime ปีเฉพาะปี 2558เท่านั้น ที่เดือน เม.ย. ตลาดปิดลบ ที่เหลือ 7 ปีสามารถปิดบวกปลายเดือนได้อย่างชัดเจน น่าจะเกิดจากการที่ผลประกอบการไตรมาส 1 รายงานออกมา และถ้ายอดขายออกมาโต กำไรโต มันก็ทำให้นักลงทุนมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปีนั้นเอง

กลับมาทวนคำถามว่า January Effect จะเกิดขึ้นไหม?

คำตอบของผมคือ เกิดหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะสถิติย้อนหลัง ก็ไม่ได้บอกเราว่า มันจะเกิดขึ้นตลอด แต่ถ้าดูย้อนหลังทางสถิติ เดือน ม.ค. เป็นเดือนที่น่าสะสมหุ้น มากกว่าแค่จะดูว่า มันจะเป็นบวกได้ในระยะสั้นหรือไม่ โดยเราควรให้น้ำหนักกับปัจจัยเรื่องมุมมองเศรษฐกิจ และกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนมากกว่า ว่าจะสามารถเติบโตและขยายตัวได้ดีในระยะยาวอย่างที่เราคาดการณ์ไว้ไหม แต่ถ้ายังอยากตั้งคำถามต่อว่า แล้วเดือนไหนที่ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสบวกมากกว่าเดือนอื่นๆ ผมก็คงตอบว่า คงเป็นช่วงเดือนที่มีการประกาศผลการดำเนินงานรายไตรมาสนั้นๆ ซึ่งถ้ายิ่งตลาดหุ้นอยู่ในภาวะกระทิง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนมีสูง แล้วผลการดำเนินงานออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ก็จะทำให้ตลาดหุ้นมี Upside จากตัวคูณ จาก P/E Expansion คือ เมื่อกำไรออกมาดี ก็คาดว่าอนาคตจะดีกว่าที่ผ่านมา ส่วนว่า มันจะยั่งยืนในระยะยาวหรือเปล่า ก็คงเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องหาข้อมูลเชิงลึกและติดกันวิเคราะห์กันอย่างใกล้ชิดต่อไปครับ