เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เข้าใจก่อน...ได้เปรียบกว่า
ปี 2560 นี้ถือว่าเป็นปีที่ “เรื่องภาษี” มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่รอบ 25 ปี
ดังนั้นการรู้ทันเรื่องภาษี คือหนึ่งใน “หัวใจ” ของการสร้างความได้เปรียบทางการเงิน ในทางธุรกิจหรือส่วนตัว เพราะใช้เวลาทำความเข้าใจกับภาษีเพียงไม่กี่ชั่วโมง อาจทำให้ประหยัดเงินมากกว่า รวดเร็วกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ เสียอีก
การวางแผนภาษีจึงถือเป็นการลงทุนที่สำคัญประเภทหนึ่ง มาดูกันว่าภาษีบุคคลธรรมดาที่ทุกคนต้องเจอปีนี้ หลักๆ มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง? และควรใช้ประโยชน์อย่างไร? ภาษีบุคคลธรรมดาปรับใหม่ เสียภาษีน้อยลง อย่าเผลอลดหย่อนเกิน
ภาษีบุคคลธรรมดาปี 2560 นี้ มีการปรับหลักๆ 3 อย่าง คือ 1.อัตราภาษี 30% สำหรับเงินได้ช่วง 2,000,001-5,000,000 บาท (เดิม 2,000,001-4,000,000 บาท) และอัตราภาษี 35% สำหรับเงินได้ 5,000,001 ขึ้นไป (เดิม 4,000,001 บาทขึ้นไป) โดยเข้าใจง่ายๆ ว่าอัตราใหม่นี้มีผลเปลี่ยนแปลง “ทำให้เสียภาษีน้อยลง” ในเฉพาะช่วงเงินได้ 4 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนช่วงอื่นลงมาจะเหมือนเดิมหมด
2. เพิ่มวงเงินหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง ตามมาตรา 40(1) และ (2) เป็น 50% ไม่เกิน 100,000 บาท (จากเดิมหักเหมา 40% ไม่เกิน 60,000 บาท) และ 3. เพิ่มค่าลดหย่อนมากขึ้น หลักๆ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท (เดิม 30,000 บาท) ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท (เดิม 30,000 บาท) เป็นต้น
การปรับทั้งหมดนี้มีผลทำให้หักลดหย่อนได้มากขึ้น เสียภาษีน้อยลง ดังนั้นเวลาคำนวณสิทธิลดหย่อนในการซื้อผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม เช่น กองทุน LTF/RMF ซึ่งหลายคนเริ่มซื้อกันสำหรับลดหย่อนภาษีปีนี้แล้ว จึงต้องปรับการคำนวณให้ดี “ไม่ให้ซื้อมากเกินไป” จนทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการประหยัดภาษี
รายการลดหย่อนภาษีต่างๆ ซื้อเท่าไร ประหยัดภาษีเท่าไร
โชคดีของคนไทย ที่รายการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาโดยเฉลี่ยปีละ 20 รายการ ซึ่งระหว่างปีมักเพิ่มรายการใหม่เรื่อยๆ ให้เป็นประโยชน์กับตัวประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อมีรายการใหม่เกิดขึ้น นอกจากถามเรื่องกฎเกณฑ์ของแต่ละรายการที่แตกต่างกันแล้ว คนจะถามผมบ่อยๆ ว่า ซื้ออันนี้แล้วประหยัดภาษีได้เท่าไร? โดยหลักการ การประหยัดภาษีจากการซื้อสินค้าลดหย่อนภาษี เช่น LTF/RMF ประกันชีวิต หรือช้อปช่วยชาติ เหมือนกับการ“ซื้อสินค้า Sale”ลดราคานั่นเอง โดยอัตราการ Sale เท่ากับ “อัตราภาษีสูงสุด” ของแต่ละคนหลังหักค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว
เช่นคนมีเงินได้ 700,000 บาท อัตราภาษี 15% หมายความว่า ถ้าซื้อ LTF ราคา 10,000 บาท ได้เงินคืนภาษี 1,500 บาท หรือ เราเอา “เงินไปซื้อเงิน” คือซื้อเงินในรูปแบบของกองทุนมูลค่า 10,000 บาท โดยจ่ายเงินเพียง 8,500 บาท ดังนั้นหากผลประกอบการของกองทุนนี้ขาดทุนไม่ถึง 15% ก็ถือว่ากำไร ซึ่งกองทุน LTF ที่ผลประกอบการดีที่สุดตอนนี้ทำกำไรได้ถึง 20% ต่อปี
หลักการนี้สามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีอื่นๆ ว่าด้วย “ราคา Sale” นี้ ประโยชน์คุ้มค่ากับเงินที่เราควักเงินจ่ายไปหรือไม่
ส่วนช่องทางรับเงินคืนภาษีใหม่ “พร้อมเพย์” ไม่ได้บังคับ แต่ใช้แล้วประหยัดเวลากว่าเยอะ เป็น “ทางเลือก” หนึ่งในการรับคืนเงินภาษี “ไม่ได้บังคับ” ใครอยากใช้ช่องทางเดิมเพื่อรับเงินคืนภาษีก็ได้
บางคนเข้าใจผิดว่าสมัครพร้อมเพย์แล้วเงินในบัญชีจะไหลออกโดยไม่รู้ตัวหรือไม่? จริงๆ แล้วพร้อมเพย์เป็นแค่การใช้เลขประจำตัวประชาชนแทนเลขบัญชีธนาคาร แต่ความปลอดภัยยังเหมือนเดิม
อีกความเข้าใจผิด คือ บางคนคิดว่าตัวเองรับเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคารอยู่แล้ว พอไปยื่นภาษีก็นึกว่าจะได้รับเงินคืนเลยทันที โดยยังไม่ได้สมัครพร้อมเพย์ ทั้งนี้ธนาคารจะไม่สมัครให้อัตโนมัติ แต่เราต้องแจ้งสมัครเองจึงเริ่มใช้ได้
หากทางผู้อ่านสนใจเทคนิคภาษีหรือการเงินหัวข้อใด ที่จะสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจและการเงินส่วนตัวให้ท่านแบบ “ติดลมบน” ได้ สามารถส่งหัวข้อผ่านทาง Facebook Message “facebook.com/iTAXThailand” โดยระบุชื่อคอลัมน์ “ติดลมบน กับ ดร.เรือบิน” โดยหัวข้อที่ได้รับเลือกจะได้รับแก้วน้ำหมู Picco จาก iTAX ส่งไปที่บ้านสนุกๆ กันครับ