จะรู้ได้อย่างไร... เมื่อไหร่กำลังเกิดวิกฤตการเงิน?
ดังนั้นใครที่ลงทุนในตลาดหุ้น และติดตามข่าวสารมาตลอด จะเกิดคำถามว่า ใกล้รึยัง? ใกล้ที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานแล้วรึยัง?
หากนับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์เมื่อปี 2551 นี่ก็เข้าสู่ปีที่ 9 ของตลาดขาลง (Bull Market) แล้ว ตลาดหุ้นสร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนจำนวนไม่น้อย ไม่ว่านักลงทุนในต่างประเทศ หรือนักลงทุนไทย แต่ตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา นักลงทุนเริ่มพูดถึงกันมากขึ้นว่า ได้เวลาปรับฐานหนักๆ ซักรอบหรือยัง เพราะตลาดหุ้นขึ้นมานานเกินไป และราคาเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน อาจสูงเกินไปในบางช่วง
และมากกว่านั้นคือ เราอยู่ในตลาดหุ้นขาขึ้นช่วงที่เศรษฐกิจโลกโตช้าที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ส่วนหนึ่งมาจากการค้าขายของโลก ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากการที่จีนมีปัญหาค่าแรงขยับขึ้น และไม่ใช่เป็นแหล่งแรงงานต้นทุนต่ำเหมือนเมื่อ 10-20 ปีก่อน อีกส่วนมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่เหล่าผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ใช้แรงงานคนในจำนวนที่น้อยลงในการสร้างธุรกิจ ทำให้ความั่งคั่ง ไม่ได้ถูกกระจายไปสู่ทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งปัญหานี้ก็มีมาอยู่ตลอด เพียงเหมือนจะขยายวงกว้างมากขึ้นในระยะหลัง
หันไปดูปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มยูรูโซน จนนำไปสู่ BREXIT และความต้องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของชาวยุโรปบางส่วน รวมถึงปริมาณการทำ QE จากประเทศแกนหลักของโลกอย่างสหรัฐ ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น และจีน สังเกตได้ว่า แต่ละอย่างที่พัฒนาการหลังปี 25518 เป็นต้นมา เหมือนนำไปสู่ปัญหา มากกว่าได้รับการแก้ไขแทบทุกเรื่อง ดังนั้นใครที่ลงทุนในตลาดหุ้น และติดตามข่าวสารมาตลอด จะเกิดคำถามว่า ใกล้รึยัง? ใกล้ที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานแล้วรึยัง? และนั่นก็เป็นเหตุผลที่นักลงทุนหลายคนถอยออกจากตลาดหุ้น และนั่งรออยู่ห่างๆ มาซักระยะ
หากนับตั้งแต่ปี 2469 เป็นต้นมา (90 ปี) ตลาดหุ้นสหรัฐเข้าสู่ขาลง หรือปรับฐานจากจุดสูงสุดมากกว่า 30% มาแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง ผมจะเอาข้อมูลบางส่วนตรงนี้ มาเล่าให้ฟังเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อตอบคำถามว่า เมื่อไหร่กำลังจะเกิดวิกฤตการเงิน
ทาง JPMorgan Asset Management ศึกษาพบว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่ทำให้เกิดวิกฤตการเงินใน 10 ครั้งที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ว่า เกิดจาก 4 ปัจจัยนี้
1. เศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงถดถอย (Recession) หรือ GDP Growth อยู่ในโซนติดลบมากกว่า 2 ไตรมาส ถ้าเกิดขึ้นจริงๆ แสดงว่า กำไรในอนาคตของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มลดลง นักลงทุนจึงเปลี่ยนจากความหวัง กลายเป็นความกลัว และเทขายหุ้นออกมา ข้อมูลที่น่าสนใจคือ 10 ครั้งที่ตลาดหุ้นสหรัฐเข้าสู่ขาลงนั้น ปัจจัยเรื่อง Recession เกิดถึง 8 ครั้งใน 10 ครั้งทีเดียว
2. ฟองสบู่ในตลาดหุ้น (Stock Market Bubble) คือ มูลค่าทางปัจจัยพื้นฐานของตลาดสูงเกินไป สูงกว่าค่าเฉลี่ย จากความร้อนแรง และการมองโลกในแง่บวกมากเกินไปของนักลงทุน โดยประเด็นนี้ ใน 10 ครั้งที่ผ่านมา ฟองสบู่เกิดในตลาดหุ้น 4 ครั้ง
3. ฟองสบู่ในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities Bubble) อีกหนึ่งตลาดที่กระทบกับความมั่งคั่งของประชาชนส่วนใหญ่ คือ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ หากเก็งกำไรและทำให้ราคาสูงร้อนแรงเกินไป มีแนวโน้มทำให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภค หรือเร่งการบริโภค หรือกักตุนสินค้า จนเป็นที่มาของปัญหาได้เหมือนกัน
4. ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินเชิงรุก (Aggressive Monetary Policy) หรือ ขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไปจนตลาดปรับตัวไม่ทัน ซึ่งส่วนใหญ่ในอดีตหากธนาคารกลางใช้นโญบายเช่นนี้ สาเหตุมาจากต้องการสกัดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ หรือไม่ต้องการให้เกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ แต่หากขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป ทำให้ต้นทุนการเงินบริษัทสูงขึ้น และประชาชนมีโอกาสชะลอลงทุน จนเป็นที่มาของการสะดุดทางเศรษฐกิจ
หันกลับมาย้อนดูเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ต้องตอบว่า ผมยังไม่กังวลกับข้อ 1. เพราะรายงานล่าสุดจาก IMF ประมาณการว่า GDP Growth จะขยาย 3.5% แสดงว่า ขยายตัวอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆได้ ขณะที่ความกังวลเรื่องฟองสบู่ในสินค้าโภคภัณฑ์ (ข้อ 3.) อยู่ในระดับต่ำ เพราะราคาน้ำมัน และราคาสินค้าเกษตร อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดก่อนปรับฐานช่วงปี 2550-2551 อีกประเด็นที่ผมไม่กังวลมากนัก คือ ข้อ 4. ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินเชิงรุก จะมีก็แค่ เฟด ที่จะขึ้นดอกเบี้ย แต่จากท่าทีเห็นว่า จะค่อยๆ ขึ้นอย่างระมัดระวัง ตลาดก็เชื่อว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยปีนี้แค่ 2 ครั้งซึ่งน้อยกว่าประมาณการ Dot Plot ที่ออกมาช่วงเดือน ธ.ค.
ที่น่ากังวลคือ ฟองสบู่ในตลาดหุ้น ต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นหลายๆ ตลา ดอยู่ในระดับ Valuation สูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็กทั่วโลก ที่ขึ้นมาเทรดที่ระดับ P/E สูงกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาชัดเจน เพราะดอกเบี้ยต่ำเกินไป และการมองโลกในแง่ดีเกินไปว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีขึ้นในอนาคต
เมื่อเห็นอย่างนี้ นักลงทุนควรใช้กลยุทธ์ Selective Buy เลือกลงทุนในหุ้นคุณภาพ และราคาสมเหตุสมผลมากขึ้นนะครับ