FinTech ใน 3 ความหมาย

FinTech ใน 3 ความหมาย

เรื่องของ FinTech หรือ ฟินเทค เริ่มเป็นที่สนใจอย่างมากกับผู้เกี่ยวข้องหลายๆ กลุ่มในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐที่ต้องดูแลรับผิดชอบระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ ธุรกิจสถาบันการเงิน องค์กรที่สนับสนุนการเกิดขึ้นของธุรกิจสตาร์ทอัพ และตัวผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจเริ่มใหม่ในด้านการเงินและการให้บริการทางการเงิน

จึงถือได้ว่า ฟินเทค เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญกลุ่มหนึ่งในการพัฒนาสตาร์ทอัพของไทย

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อติดตามข่าวสารต่างๆ ของ ฟินเทค ก็จะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า มีผู้ใช้คำว่า ฟินเทค ด้วยนัยสำคัญที่แตกต่างกันออกไปอย่างน้อย 3 ความหมาย

ในความหมายแรก ส่วนใหญ่จะเป็นการเอ่ยถึง ฟินเทค ด้วยความหมายที่ตรงตัวของคำเต็มที่ถูกย่อมาใช้ คือ คำว่า Financial Technology ซึ่งหมายถึง เทคโนโลยีทางการเงิน

ส่วนใหญ่ผู้ที่จะใช้คำว่า ฟินเทค ในความหมายนี้ มักจะเป็นผู้ที่อยู่ในธุรกิจสถาบันการเงิน เป็นการกล่าวถึงองค์กรที่ได้นำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เสริมในการให้บริการทางการเงิน

เช่น ตู้เอทีเอ็ม เครื่องรับฝากเงิน เครื่องรับฝากเช็ค การใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการจัดเก็บและประมวลข้อมูล ฯลฯ เป็นต้น

ดังนั้น จึงอาจได้ยินผู้บริหารของสถาบันการเงิน หรือ ธนาคารพาณิชย์ ออกมากล่าวถึงธุรกิจของตนเองว่า ได้ให้ความสำคัญกับ ฟินเทค และมีการนำ ฟินเทค มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจหรือการให้บริการทางการเงินอยู่แล้ว

และถือว่า เป็นการทำ นวัตกรรมทางการเงิน อย่างหนึ่ง

การใช้คำว่า ฟินเทค โดยนัยยะนี้ อาจขยายความไปถึงธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์แต่เพียงอย่างเดียว เช่น ธุรกิจประกัน หรือแม้กระทั่ง ธุรกิจการค้าทั่วไป ที่หันมาใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการรับเงินและชำระเงินในลักษณะของการทำอีคอมเมิร์ซ ฯลฯ ด้วยก็ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย เช่น การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน

ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจ และการให้บริการที่สะดวกสบายให้แก่ลูกค้า ตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

ในความหมายที่ 2 คำว่า ฟินเทค อาจหมายความถึงการสร้างสรรค์ระบบทางการเงินแบบใหม่ที่แตกต่างออกไปจากระบบการเงินในปัจจุบัน

เช่น การใช้เทคโนโลยี บล๊อกเชน (Blockchain) ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ ที่จะทำให้เกิดการทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางเช่นธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินแบบในปัจจุบัน แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกรรมนั้นๆ จะสามารถตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมได้ด้วยตัวเองหรือในระหว่างกลุ่มบุคคลผู้เกี่ยวข้อง

ซึ่งจะตัดเรื่องของความผิดพลาดของมนุษย์และการฉ้อฉลออกไปได้

จนนำไปสู่การสร้างสกุลเงินแบบใหม่ ที่เรียกว่า บิทคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ไม่มีตัวตน แต่เป็นที่ยอมรับกันในการชำระเงินและรับเงินซึ่งกันและกัน

หรือเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ที่มีเงินเหลือและผู้ที่ต้องการเงินมาพบกันในโลกอินเตอร์เน็ต และทำให้เกิดการระดมทุนหรือการกู้ยืมเงินกันขึ้นโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางที่เป็นสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ตามช่องทางปกติ ซึ่งรู้จักกันในนามของ crowdfunding ซึ่งเป็นการระดมทุนโดยตรงจากประชาชนหรือองค์กรต่างๆ ทั่วไปที่สนใจ

 ในความหมายที่ 3 คำว่า ฟินเทค จะหมายถึงผู้ประกอบการธุรกิจเริ่มใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ ที่มุ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการเงินหรือการให้บริการทางการเงิน เพื่อมาเสริมช่องว่างที่สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ยังอาจไม่สามารถเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้

หรืออาจมองข้ามความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มลูกค้าเหล่านั้นไป แต่ ฟินเทคสตาร์ทอัพ อาจมองเห็นช่องว่างนี้ และสามารถสร้างขึ้นมาเป็นธุรกิจที่อาจเสริม หรืออาจแย่งธุรกิจบางส่วนไปจากสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่เดิมไปได้

ในความหมายที่ 3 นี้ น่าจะเป็นความหมายของคำว่า ฟินเทค ที่เป็นที่เข้าใจของคนทั่วไปในปัจจุบัน

ดังนั้น เมื่อได้ยินคนกล่าวขานถึง ฟินเทค ก็ต้องแยกแยะและวิเคราะห์ต่อให้ลึกลงไปอีกเล็กน้อย ว่าผู้กล่าว ต้องการที่จะกล่าวถึง ฟินเทค ในนัยยะไหน

จะไม่ได้เข้าใจผิดไปตามกระแสที่อาจมีผู้ต้องการให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของการใช้คำว่า “ฟินเทค” ไปได้!!!!