เติบโตไกลกับธุรกิจ ไทย-ญี่ปุ่น กรณีศึกษา MCS
การวิเคราะห์ได้ด้วยตัวเอง ตัดสินใจซื้อขายด้วยตัวเอง นำมาซึ่งความสำเร็จในการลงทุนได้
ประเทศไทยและญี่ปุ่นนั้นทำการค้า ทำธุรกิจกันมาช้านาน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบญี่ปุ่นตรงที่ค่าแรงถูกกว่ามาก และยังรักษาคุณภาพของงานได้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่นที่จะเข้ามาขยายกิจการในบ้านเรา และคนญี่ปุ่นเองก็มีนิสัยชอบใช้ของคนในประเทศด้วยกันด้วย วันนี้ผมขอพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จัก MCS หรือ บริษัท บริษัท เอ็ม.ซี.เอส.สตีล จำกัด (มหาชน) ที่ทำการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจโดยสมาชิกโครงการ SPACE by FINNOMENA คุณ Carey Pathumporn (ชื่อเฟซบุ๊ค) ไปดูกันเลยครับ
Bottom-up SPACE คือแนวคิดการสร้างพื้นที่ด้านการลงทุนด้วยตัวคุณเอง เราเชื่อว่า การวิเคราะห์ได้ด้วยตัวเอง ตัดสินใจซื้อขายด้วยตัวเองเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในการลงทุนได้ โครงการนี้มีจุดประสงค์ในเรื่องของการศึกษา ไม่ได้เป็นการชี้นำ หรือเป็นการกำหนดมุมมองที่มีต่อหุ้น สนใจดูรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ค ที่ http://bit.ly/SPACE-FINNOMENA
MCS เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ (Structure Steel Fabrication) สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยโครงสร้างเหล็กที่บริษัทผลิตมี 2
ประเภท คือ โครงสร้างเหล็กที่นำมาใช้เป็นเสา (Column-Box) และโครงสร้างเหล็กที่นำมาใช้เป็นคาน (Beam) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาคาร โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 70,000 ตันต่อปี
MCS มีเป้าหมายในการขยายกำลังการผลิตเป็น 100,000 ตันต่อปี โดยการขยายฐานลูกค้าในประเทศญี่ปุ่นและขยายฐานลูกค้าของบริษัทไปต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน หรือประเทศแถบยุโรป รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน และ ความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า โดยกลุ่มลูกค้าหลักในปัจจุบันเป็น บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น และลูกค้าที่มีโครงการก่อสร้างทั่วไป ได้แก่ Kajima Corporation, Shimizu Corporation, Takenaka Corporation และ Obayashi Corporation โดยบริษัทมีการจัดจำหน่ายโดยตรงให้กับลูกค้าในประเทศญี่ปุ่นถึงประมาณร้อยละ 90 ของปริมาณการจำหน่ายรวม
จุดแข็งของบริษัทอยู่ที่การมี สินค้ามีคุณภาพสูง โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตโครงสร้างเหล็กรายเดียวในประเทศไทยที่มีคุณภาพที่ได้รับมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในประเทศญี่ปุ่น มีกระบวนการผลิตมีความทันสมัยทางเทคโนโลยี โดยโรงงานของบริษัทได้รับรองมาตรฐาน “S” class fabricator จาก Japan Steel Structure Appraisal Center Ltd. ที่ออกให้กับโรงงานผลิตโครงสร้างเหล็กที่ได้มาตรฐานดีเยี่ยม
นอกจากนี้คือ การที่ต้นทุนการผลิตถูกกว่าบริษัทคู่แข่งในญี่ปุ่น ทั้งด้านแรงงานในการผลิตถูกกว่าบริษัทที่ผลิตโครงสร้างเหล็กอื่นๆ ในญี่ปุ่น โดยต้นทุนค่าแรงในญี่ปุ่นนั้นสูงมาก บริษัทจึงได้เปรียบในเรื่องค่าแรงอีกทั้งสถานที่ในการผลิตเพื่อให้ครบวงจรเช่นเดียวกับบริษัทต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ประกอบกับราคาที่ดินในประเทศญี่ปุ่นมีราคาสูงมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตที่ประเทศญี่ปุ่นสูงกว่าไทยค่อนข้างมาก
โอกาสในการเติบโตของ MCS ยังมีอีกมากจากการที่โครงสร้างเหล็กเป็นที่นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างมากขึ้น เนื่องจากสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากแผ่นดินไหวได้ดีกว่าคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งนิยมใช้กันมากในประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ทั้งนี้ความต้องการใช้โครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นยังมีความต้องการสูงอยู่ แม้ว่าความต้องการเหล็กจะลดลงจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา และ ในปี 2020 ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก จึงมีการประมาณว่าอนาคตจะต้องการโครงสร้างเหล็กมากขึ้นเพื่อใช้ในการก่อสร้างและขยายเมือง นอกจากนี้บริษัทยังได้ประโยชน์จากต้นทุนค่าขนส่งลดลงจากภาวะราคาน้ำมันตก ซึ่งค่าขนส่งคิดเป็น 10% และ 15% ของค่าใช้จ่ายต้นทุนทั้งหมด
ทั้งหมดเป็นประเด็นหลักๆ ในการศึกษาบริษัทที่สร้างการเติบโต จากธุรกิจ ไทย-ญี่ปุ่น ของ MCS โดยคุณ Carey Pathumporn (ชื่อเฟซบุ๊ค) ท่านใดสนใจรายละเอียดเต็มๆ พร้อมรูปประกอบ หรือต้องการไปแลกเปลี่ยนความรู้กัน สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/SPACE-MCS สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ