ไทยแลนด์ 4.0 กับการกำกับดูแลกิจการที่ดี
วันอังคารที่แล้ว ผมได้รับเชิญจากบริษัท PwC Consulting ให้ไปพูดในงาน PwC Forensics Summit
ในหัวข้อ Thailand 4.0: Doing Business with Integrity ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ และเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล หลายคนอยากเข้าใจว่า ประเทศไทย 4.0 หมายถึงอะไร และการทำธุรกิจยุค Thailand 4.0 ด้วยความซื่อตรงนั้นควรเป็นอย่างไร ที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ทั้งต่อตัวบริษัทเองและต่อประเทศชาติ วันนี้ก็เลยอยากแชร์ความเห็นของผมในเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ
อะไรคือสังคมเศรษฐกิจ 4.0 ตัวเลข 4.0 จริงๆ แล้ว พูดถึงขั้นตอนการพัฒนาของเศรษฐกิจโลก ที่ได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาหลายครั้ง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตและการสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่การปฏิวัติ 1.0 ที่ค้นพบพลังงานจากไอน้ำ และนำสู่การประดิษฐ์เครื่องกลต่างๆ ที่ใช้พลังงานไอน้ำ ต่อด้วยยุค 2.0 และ 3.0 ที่เป็นยุคของพลังไฟฟ้า ยุคคอมพิวเตอร์ และยุคการสื่อสารเทคโนโลยี ล่าสุดมีการกล่าวว่าโลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่สี่ คือ 4.0 ที่ไม่ได้มาจากการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ตัวใดตัวหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่กำลังมีการพัฒนาอยู่หลายด้าน เช่น ดิจิตอลเทคโนโลยี ไบโอเทคโนโลยี และฟิสิกส์เทคโนโลยี มาสร้างนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของคนในสังคมโลกให้ดีขึ้น ไม่ใช่แต่เพื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่เพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของมนุษยชาติโดยรวมให้สูงขึ้น
ในลักษณะนี้ ประเทศไทยยุค 4.0 จะหมายถึง สังคมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ของความเป็นอยู่ของคนในประเทศ ทำให้การใช้เทคโนโลยีจะเกิดขึ้นและกระทบเศรษฐกิจของประเทศในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การบริโภค และการกระจายหรือ distribution ซึ่งในสังคมแบบ 4.0 นี้ ประโยชน์ที่จะมีต่อความเป็นอยู่ของคนในประเทศจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อ นโยบายขับเคลื่อนประเทศ 4.0 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสามด้าน
หนึ่ง การสร้างสังคมที่มีความรู้และความสามารถที่จะสร้างนวัตกรรมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ของคนในประเทศ นี่คือ ประเด็นความรู้และความสามารถ ซึ่งหมายถึง เศรษฐกิจจะต้องมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาดังกล่าว และสังคมเปิดกว้างด้านเสรีภาพให้มีการแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความคิด ความรู้และนวัตกรรม
สอง มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่นำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพ หรือ productivity ด้านการผลิตให้กับเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึง การใช้เทคโนโลยีเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ซึ่งจะเป็นฐานของการสร้างรายได้และความมั่งคั่งให้กับคนในประเทศในอนาคต สิ่งนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อระบบเศรษฐกิจทำงานอยู่บนกลไกตลาดที่มีประสิทธิภาพ ระบบกฎหมายและระบบยุติธรรมของประเทศให้ความสำคัญและปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในทรัพย์สิน (property rights) ที่เป็นแรงจูงใจสำคัญให้คนในสังคมคิดค้น สร้างนวัตกรรมและลงทุน นอกจากนี้ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต้องเปิดกว้างเป็นโอกาสให้ประชาชนที่มีความรู้ความสามารถในทุกระดับสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี (inclusive) และสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ นำมาสู่การกระจายผลหรือประโยชน์ที่ได้จากเศรษฐกิจยุค 4.0 ต่อสังคมในวงกว้าง
สาม เพื่อให้ความรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนำมาสู่การยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในสังคมอย่างยั่งยืนและถาวร นโยบาย 4.0 ต้องนำไปสู่กระบวนการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมบนพื้นฐานของความประพฤติที่ถูกต้อง ความโปร่งใส ความรับผิดรับชอบในการทำหน้าที่ที่เป็นธรรมต่อผู้อื่น ซึ่งทั้งหมดก็คือพื้นฐานของธรรมาภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่ต้องผลักดันให้ธรรมาภิบาลเป็น norm หรือเป็นความประพฤติหลักของสังคม เพราะสิ่งนี้คือแรงจูงใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตโดยการสร้างความรู้ นวัตกรรม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ของสังคม ตรงกันข้าม สังคมที่ขาดธรรมาภิบาล ไม่สนใจความถูกต้อง ไม่โปร่งใส ไม่รับผิดรับชอบในสิ่งที่ทำและผลกระทบที่จะมีต่อผู้อื่น สังคมดังกล่าวคงก้าวเป็นสังคม 4.0 ไม่ได้ เพราะไม่มีระบบแรงจูงใจที่จะขับเคลื่อนคนในประเทศให้เปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยเหตุนี้ ธรรมาภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงเป็นหัวใจของการก้าวไปสู่สังคม 4.0 เป็นกลไกที่จะสร้างพลังให้กับคนในสังคม (empower) โดยปลดล็อกพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องต่างๆที่บั่นทอนศักยภาพของประเทศ และเปิดทางใหม่ให้กับคนในสังคมที่จะใช้เทคโนโลยี ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของตน
นี่คือ สามเงื่อนไขที่ต้องเกิดขึ้นในการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0
สำหรับภาคธุรกิจ การเดินทางสู่ Thailand 4.0 หมายถึง การปรับตัวต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นกว้างขวาง ที่สามารถเป็นได้ทั้งโอกาสทางธุรกิจและสร้างการหยุดชะงัก หรือ disruption ให้กับธุรกิจ ดังนั้น โจทย์ภาคธุรกิจยุค Thailand 4.0 ก็คือ การบริหารโอกาสและความเสี่ยงต่อธุรกิจที่จะมาจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น ในทุกส่วนของเศรษฐกิจที่จะเป็นผลกระทบที่ใหญ่และสำคัญต่ออนาคตของเศรษฐกิจและของประเทศ
สำหรับรัฐบาล ความรับผิดชอบสำคัญ ก็คือ การปฏิรูปประเทศให้ประเทศสามารถปรับตัวและอยู่ได้อย่างสง่างามในสังคมโลกยุค 4.0 แต่จากที่รัฐบาลเองคงไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง เพราะเราเป็นประเทศในระบบทุนนิยม ไม่ใช่สังคมนิยมที่มีการวางแผนจากส่วนกลาง แนวทางการปฏิรูปเพื่อสร้างไทยแลนด์ 4.0 ที่ดีที่สุด คือการสร้างตัวเปิดทาง หรือ สร้าง enabler ให้กับเศรษฐกิจ ที่จะเพิ่มพลังหรือ empower คนในประเทศให้เข้าถึงความรู้และโอกาสในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของตนเองและสังคม ซึ่งหมายถึง การปฏิรูปต้องนำไปสู่ หนึ่ง การสร้างความรู้ สอง การสร้างโอกาสที่จะประยุกต์ใช้ความรู้ คือ เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลิตภาพหรือความสามารถในการแข่งขัน สาม สร้างธรรมาภิบาลให้เป็นพฤติกรรมหลักของสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนในประเทศขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0
ในประเด็นการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือธรรมาภิบาลว่า ประเทศไทยจะสามารถเดินไปสู่ประเทศไทยยุค 4.0 ได้อย่างไร ผมได้ขยายความเรื่องนี้โดยกล่าวถึง บทบาทของกฎหมายและแนวปฏิบัติต่างๆที่จะกำกับ (shape) พฤติกรรมของคนในสังคมให้ธรรมาภิบาลเป็นพฤติกรรมหลัก พูดถึงบทบาทของคณะกรรมการบริษัทที่จะเป็นผู้นำในการสร้างธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจ พูดถึงบทบาทของกลไกตลาดผ่านการทำหน้าที่ของนักลงทุนที่สามารถมีอิทธิพลต่อธรรมาภิบาลและพฤติกรรมของบริษัทเอกชน และพูดถึงการรวมพลังของภาคธุรกิจในรูปของแนวร่วมปฏิบัติที่จะส่งเสริมพฤติกรรมที่ถูกต้อง เช่น การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ
ผู้อ่านสามารถหารายละเอียดเหล่านี้ได้จาก ภาพประกอบคำอธิบายหรือ PowerPoint ที่ผมได้นำเสนอในงานสัมมนาโดยดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ www.thai-iod.com