ผู้นำหญิงไทยไม่น้อยหน้าใครในโลก
ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานตำแหน่งบริหารระดับสูงน้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน
เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมาเป็น “วันสตรีสากล” ในฐานะที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งก็ขออุทิศคอลัมน์ในสัปดาห์นี้ชื่นชมและส่งเสริมบทบาทผู้นำหญิงไทยกันอย่างเต็มที่
แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศเล็กๆในโลก แต่ตัวเลขอัตราส่วนของผู้หญิงที่ได้มีบทบาททำงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงนั้นอยู่ที่ประมาณ 38% (ตัวเลขเมื่อปีที่แล้ว) จัดอยู่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกรองจากอันดับหนึ่งคือรัสเซีย (43%) อันดับสองคืออินโดนีเซีย (41%) และอันดับสามคือฟิลิปปินส์ (40%)
สำหรับตัวเลขในระดับภูมิภาคพบว่าภูมิภาคยุโรปตะวันออกมีจำนวนผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูงมากที่สุดของโลกคือ 37% ตามมาด้วยกลุ่มอาเซียนที่มีตัวเลขอยู่ที่ 35% และสำหรับประเทศพัฒนาแล้วและเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา มีผู้บริหารหญิงระดับสูงอยู่ 20% สหราชอาณาจักรมี 16% ฝรั่งเศสมี 15% เยอรมันมี 7% จีนมี 4% และญี่ปุ่นมี 1%
โดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้น ติดอันดับท้ายๆของโลกเลย ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเองโดยตัวนายกรัฐมนตรีชินโสะ อะเบะ ก็ได้ประกาศว่าผู้หญิงจะเป็นกำลังสำคัญของกลยุทธ์ในการสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเดินหน้าเข้าสังคมสูงอายุลึกเข้าไปๆทุกที อะเบะยังประกาศจุดยืนอีกว่าภายในปี ค.ศ.2020 รัฐบาลจะพยายามดำเนินงานอย่างเต็มที่ให้มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆประมาณ 30% ซึ่งก็จะได้ติดตามความคืบหน้ากันต่อไป
น่าแปลกที่พบว่าประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานตำแหน่งบริหารระดับสูงน้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน หลายคนคิดว่าประเทศฝั่งตะวันตกที่เป็นต้นแบบของประชาธิปไตยน่าจะมีความเท่าเทียมระหว่างเพศในการจ้างงานสูงกว่านี้ ทั้งนี้ผลการศึกษาของ Grant Thornton Business Report และข้อมูลวิเคราะห์ด้านประชากรศาสตร์ของอวิวาห์ วิทเทนเบิร์ก-ค็อกซ์ที่ลงพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review
มีผลสรุปที่ตรงกันว่าเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศในอาเซียนมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้นำระดับสูงได้ เป็นเพราะสังคมในอาเซียน ประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่กันกับครอบครัว ผู้หญิงจึงโชคดีที่มีปู่ย่าตายาย พ่อแม่พี่ป้าน้าอาช่วยเลี้ยงลูกด้วย ทำให้สามารถออกไปทำงานได้ ไม่ต้องลำบากจ้างพี่เลี้ยงเด็กหรือหาสถานที่รับฝากเด็กที่ทั้งหายากและค่าใช้จ่ายสูง อย่างไรก็ตามหากสังคมในอาเซียนกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว (Nuclear family) ที่คนหนุ่มสาวแยกตัวออกจากครอบครัวเดิม มาตั้งครอบครัวของตนเอง ผู้หญิงก็จะมีปัญหามากขึ้นที่จะรักษาอาชีพไว้ให้ได้ เพราะต้องใช้เวลาดูแลลูกจนอาจต้องหยุดการทำงานเป็นเดือนๆหรือปีๆ และการที่จะกลับมาทำงานใหม่หลังจากว่างเว้นไปหลายปีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนักสำหรับทั้งตัวผู้หญิงเองและนายจ้างที่จะต้องทำการฝึกอบรมวิทยายุทธ์ที่หายหกตกหล่นไประหว่างหยุดงานเลี้ยงลูก
นอกจากเรื่องน่าแปลกที่ว่าประเทศกลุ่มอาเซียนมีผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูงมากกว่าประเทศฝั่งตะวันตกแล้ว ยังมีเรื่องน่าแปลกอีกเรื่องคือ เหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงในประเทศตะวันตกอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาไม่สามารถดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงได้มากเท่าที่ควรนั้นไม่ใช่เพราะความยากลำบากหรือค่าใช้จ่ายในการหาพี่เลี้ยงหรือสถานที่รับดูแลเด็กอ่อนแต่ผู้หญิงอเมริกัน 4 ใน 10 คนรายงานกับนักวิจัยของศูนย์วิจัย Pew Research Centre เมื่อต้นปี ค.ศ. 2015 ว่าสาเหตุที่มีจำนวนผู้หญิงในตำแหน่งบริหารระดับสูงน้อยกว่าผู้ชายมากๆก็เพราะมีการใช้ “สองมาตรฐาน” (Double standard) กับผู้หญิงที่พยายามไต่เต้าขึ้นดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูง กล่าวคือผู้หญิงจะต้องพบกับมาตรฐานที่สูงกว่า ต้องทำงานมากกว่าผู้ชาย เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตนเอง สำหรับประเด็นนี้จึงกลายเป็นข้อสังเกตได้ว่าการที่ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยไม่จำเป็นจะต้องมีความเท่าเทียมกันระหว่างเพศเสมอไป?
มาคุยกันเรื่องแปลกแต่จริงอีกเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของผู้หญิงทำงานกันต่อค่ะ จากการสำรวจบริษัททั้งหลายที่ติดอันดับ S&P 500 พบว่าในบริษัทเหล่านี้มีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่ง CEO ขององค์กรเพียง 4.6% เท่านั้น และ CEO หญิงเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่า CEO ชายโดยเฉลี่ยประมาณ 11.5% ซึ่งแน่นอนที่ว่างานที่ทำคงไม่เบากว่า และผลงานของเธอก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่า CEO ชายด้วยซี เมื่อเหตุการณ์ความจริงมันเป็นเช่นนี้ ผู้หญิง(ฉลาดๆ)ที่ไหนจะยอมได้ และผู้ชาย(ที่ดีๆ)ก็ต้องต่อสู้ร่วมกับผู้หญิงเพื่อจัดสรรความยุติธรรมให้พวกเธอ
ในกลุ่มประเทศยุโรป รัฐสภาของสหภาพยุโรปได้มีการประชุมกันเมื่อปลายปี ค.ศ. 2013 และมีการลงคะแนนสนับสนุนว่าให้ทุกประเทศใน EU ออกกฎหมายให้องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ (มีพนักงานมากกว่า 5,000 คนขึ้นไป) ต้องมีจำนวนผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารอยู่ในบอร์ดบริหาร (Board of Directors) ไม่ต่ำกว่า 40% ของจำนวนสมาชิกบอร์ดทั้งหมด ขณะนี้เวลาก็เนิ่นมากว่า 3 ปีแล้ว เพิ่งมีไม่กี่ประเทศที่กำหนด “โควต้า” จำนวนผู้หญิงในบอร์ดบริหารให้ไม่ต่ำกว่า 40% เช่น ฟินแลนด์ และฝรั่งเศส โดยที่ฝรั่งเศสเพิ่งออกกฎหมายกำกับเรื่องนี้เมื่อเดือนมกราคมของปีนี้เอง สรุปภาพโดยรวมก็คือผู้หญิงทั่วโลกยังต้องต่อสู้กันอีกมากและอีกนานจึงจะได้ความเสมอภาคในหน้าที่การงานอย่างแท้จริง
จึงถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้หญิงไทยในวงการธุรกิจที่อนาคตเรื่องหน้าที่การงานดูจะสดใส จากตัวเลขปัจจุบันที่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงถึง 38% ทำให้เราสามารถคาดหวังได้ว่า ผู้หญิงไทยจะสามารถเพิ่มจำนวนในบอร์ดได้ถึง 50% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อนาคตของผู้หญิงไทยที่มีการศึกษาและความสามารถจึงไม่ห่วงเท่าไรนัก ที่น่าห่วงมากกว่าคือผู้หญิงไทยอีกหลายล้านคนที่มีการศึกษาน้อยและตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวงทางเพศและยาเสพติด มีเด็กผู้หญิงอีกเป็นล้านที่ไม่ได้ถูกหลอกลวงก็จริง แต่หลงทางเพราะขาดพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้คิดผิดทำผิดตั้งครรภ์ก่อนแต่งงานและทำแท้งจนเป็นปัญหาสังคมใหม่ของเราในขณะนี้ นี่เป็นปัญหาของผู้หญิงที่เราต้องช่วยกันหาหนทางแก้ไขกันต่อไปโดยความร่วมมือของคนทุกเพศค่ะ