สร้างธรรมาภิบาลที่ดีในตลาดทุน

สร้างธรรมาภิบาลที่ดีในตลาดทุน

อาทิตย์ที่แล้ว ผมชีพจรลงเท้าไปประชุมต่างประเทศสองแห่ง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี

 เรื่องเศรษฐกิจก็ที่สิงคโปร์ ส่วนการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ ธรรมาภิบาล ที่มาเลเซีย โดยที่มาเลเซียเข้าร่วมประชุม Global Emerging Markets Regulatory Conference 2017 จัดโดยสำนักงานก.ล.ต. มาเลเซีย ที่ประเด็นของการสัมมนาก็คือ จะสร้างวัฒนธรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนอย่างไร ที่จะให้ผลดีต่อความน่าเชื่อถือและ Integrity ของตลาดทุน รวมถึงสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับตลาด ประเด็นนี้สำคัญต่อหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของทุกประเทศ ที่ต้องรักษามาตรฐานให้ตลาดทุนเป็นที่ยอมรับเพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

ในสายตาของผู้กำกับดูแลเช่น สำนักงานก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ การกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ ธรรมาภิบาล มีความสำคัญต่อตลาดทุนในสามทางคือ หนึ่ง สร้างความน่าเชื่อถือให้กับตลาดในสายตานักลงทุนต่างประเทศ สอง ลดความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน ที่อาจลามเป็นปัญหาใหญ่จนกระทบตลาดหรือเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ และสาม จากที่การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นปัจจัยแข่งขันสำคัญของธุรกิจ ตลาดทุนที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะสามารถดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ง่ายกว่าตลาดทุนที่บริษัทจดทะเบียนขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจะช่วยสร้างความมีเสถียรภาพให้กับตลาด นี้คือ สามเหตุผลที่ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ลดความเสี่ยงเชิงระบบ และสร้างความสามารถแข่งขันให้กับประเทศและตลาดทุน

เท่าที่สังเกต ในการขับเคลื่อนการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นในตลาดทุน หน่วยงานกำกับดูแลส่วนใหญ่จะดำเนินการในสามทาง

หนึ่ง ออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลการทำงานของตลาดทุนและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังนั้นสำคัญมากต่อการลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในตลาดทุน ทำให้ตลาดมีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในประเด็นธุรกรรมตลาด เช่น การใช้ข้อมูลภายใน การเข้าซื้อหุ้นแบบ Front run และการปั่นหุ้นสร้างข้อมูลเท็จเพื่อสร้างราคา ตรงกันข้าม ถ้าการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็ง การทำผิดกฎหมายมีมากและไม่มีการจับกุมลงโทษ หรือมีแต่โทษเบามาก สิ่งเหล่านี้ ทำให้ตลาดทุนไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ

สอง การเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ทำให้เกิดความโปร่งใสในตลาดทุน ที่นักลงทุนจะมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลสามารถเป็นเครื่องมือที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมด้านธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนได้ เมื่อบริษัทจดทะเบียนต้องแสดงข้อมูลว่าได้ทำอะไร หรือไม่ได้ทำอะไรในสิ่งที่ควรทำ เช่น การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการที่มาดำรงตำแหน่ง โครงสร้างผู้ถือหุ้น และการตัดสินใจที่สำคัญๆ ของบริษัทที่ต้องชี้แจงและอธิบายได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องทำธุรกิจอย่างโปร่งใสและระมัดระวังมากขึ้น รวมถึง ลดแรงจูงใจที่กรรมการหรือผู้บริหารจะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

สาม ผลักดันการกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นจริง ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่การลงทุน บริษัทจดทะเบียน และนักลงทุนสถาบัน ซึ่งทั้งหมดถือเป็นระบบนิเวศน์ของการลงทุนในตลาดทุน ที่ต้องมีธรรมาภิบาลที่ดีในการทำหน้าที่ ในประเด็นนี้ หน่วยงานกำกับดูแลจะผลักดันธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการให้เกิดขึ้น โดยออกแนวปฏิบัติที่ดี เช่น ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ CG Code และด้านธุรกิจลงทุนของนักลงทุนสถาบัน เช่น การออก Stewardship Code ในมาเลเซียและสิงคโปร์ หรือ I Code ของประเทศไทย โดยการสร้างพื้นที่ทางกฎหมายให้นักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรรมการและผู้บริหารบริษัทได้โดยตรง ในกรณีที่การบริหารทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท เช่น การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ class action รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยการประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท การให้รางวัล และการให้ความรู้การศึกษาแก่กรรมการบริษัทและผู้ร่วมตลาดในเรื่องธรรมาภิบาลและการทำหน้าที่ เหล่านี้คือ แนวทางที่กำลังส่งเสริมกัน

แต่แม้ความพยายามจะมีมาก ปัญหาก็ยังมีอยู่และในการประชุมที่มาเลเซียก็มีการตั้งคำถามว่า จากความบกพร่องด้านธรรมาภิบาลของบริษัทเอกชนที่ยังเกิดขึ้นเป็นข่าวทั่วโลก เช่น กรณี Volkswagen รวมถึงความไม่พอใจของคนในหลายประเทศต่อผลที่เกิดจากระบบทุนนิยมและระบบโลกาภิวัฒน์ ที่ให้ประโยชน์คนในสังคมแตกต่างกัน และได้เพิ่มความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจให้มีมากขึ้น จนนำไปสู่การยอมรับแนวความคิดแบบประชานิยม เช่น กรณี Brexit สิ่งเหล่านี้เหมือนชี้ว่า การกำกับดูแลตลาดทุนอย่างที่ทำในปัจจุบัน รวมถึง บทบาทของนักลงทุนสถาบันที่มีอยู่ อาจไม่เพียงพอที่จะลดช่องว่างและลดความไม่เหมาะสมต่างๆ และอาจจำเป็นต้องหาวิธีที่จะกำกับดูแลตลาดทุนใหม่เพื่อลดปัญหาและลดความไม่พอใจต่างๆ

ในเรื่องนี้ ผมเห็นด้วยว่า สิ่งที่ทุกคนกำลังทำขณะนี้เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีในตลาดทุนยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำธุรกิจและผู้ร่วมตลาดอย่างที่อยากเห็น ทำให้การกำกับดูแลตลาดทุนอาจต้องผสมผสานทั้งการกำกับดูแลแบบยึดหลักการ (Principle-based) ซึ่งเป็นแนวที่ใช้กันมากขณะนี้ กับการกำกับดูแลที่เน้นการใช้กฎเกณฑ์ (Rule-based) การผสมผสานทั้งสองแนวทางนี้จะสำคัญมากต่อการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีในตลาดทุน

แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คือ กรรมการและผู้บริหารของบริษัทธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อส่วนรวมหรือส่วนอื่นๆ มากกว่าจะมองเฉพาะกำไรที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทหรือตัวเอง ต้องมองยาว มองไกล และมองรอบด้านในการทำธุรกิจ ไม่เน้นแต่การมองสั้นและเน้นแต่การทำกำไรระยะสั้นแบบไตรมาสต่อไตรมาส

เพราะการทำธุรกิจแบบมองสั้น หรือ short-termism เป็นความเสี่ยงใหญ่ต่อธุรกิจ และลดโอกาสบริษัทที่จะเติบโตในระยะยาว จากที่บริษัทมุ่งแต่กำไรระยะสั้น จนไม่ยอมลงทุน ที่สำคัญ การมองสั้นทำให้เกิดการกระจุกตัวของความเสี่ยงในบางธุรกรรมมากเกินไป รวมถึงส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ที่ขัดต่อธรรมาภิบาลเพราะเพียงต้องการเพิ่มกำไร ซึ่งเป็นความเสี่ยงทั้งต่อบริษัทและต่อตลาดทุน

ในประเด็นนี้ น่าสนใจว่า ในหลายประเทศกำลังปรับตัวโดยคณะกรรมการบริษัทในหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องระยะยาว ในกรณีของประเทศไทย การสำรวจของสถาบันไอโอดีชี้ว่า ร้อยละ 61 ของกรรมการบริษัทต้องการใช้เวลาประชุมมากขึ้นในเรื่องระยะยาว เช่น ยุทธศาสตร์ธุรกิจ ขณะนี้ร้อยละ 88 ชี้ว่า มีการหารือเรื่องความยั่งยืนทางธุรกิจในการประชุมกรรมการ ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ดี

และจากที่ไปร่วมเสวนาคราวนี้ ชัดเจนว่า หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในเอเซียก็กำลังขยันมาก ในการสร้างธรรมาภิบาลและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในตลาดทุน