บทบาทหน้าที่ผู้นำของคณะกรรมการบริษัท

บทบาทหน้าที่ผู้นำของคณะกรรมการบริษัท

ช่วงห้าปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่การกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ ธรรมาภิบาลในภาคเอกชน

มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ทั้งในประเทศไทยเองและต่างประเทศ เห็นได้จาก กระแสตื่นตัวของบริษัทธุรกิจ และสื่อมวลชนในความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ ธรรมาภิบาล และผลที่จะมีต่อการดำเนินธุรกิจ ต่อความน่าเชื่อถือของภาคเอกชน และต่อเศรษฐกิจของประเทศ มีการให้ข่าว มีการเขียน และพูดถึงเรื่องธรรมาภิบาลอยู่เสมอ กระตุ้นให้คนในสังคมหันมาให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ว่าเป็นสิ่งที่จับต้องได้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และสำคัญมากต่อเศรษฐกิจและอนาคตของประเทศ

ในความเห็นของผม กระแสตื่นตัวเรื่องธรรมาภิบาลที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นพลวัตของพลังขับเคลื่อนสามพลังที่เกิดขึ้นในประเทศช่วงห้าปีที่ผ่านมา คือ บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแล ของนักลงทุน และของภาคธุรกิจ ที่ล้วนต้องการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นจริงจังในสังคมธุรกิจไทย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการทำธุรกิจในประเทศ และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นปัญหารุนแรง สำหรับหน่วยงานกำกับดูแล เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. การกำกับดูแลกิจการที่ดีสำคัญมากต่อความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจในประเทศ สำคัญต่อการดึงเงินทุนและบริษัทต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนและทำธุรกิจในประเทศไทย 

 นอกจากนี้ การทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลก็จะช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจมีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ จากการขาดธรรมาภิบาลในภาคเอกชน ที่อาจเป็นชนวนไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนที่ได้เคยเกิดขึ้น

สำหรับนักลงทุน ก็ต้องการให้บริษัทที่ตนเข้าไปลงทุนมีธรรมาภิบาลที่ดีในการทำธุรกิจ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อการลงทุน เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มองบริษัทที่ขาดธรรมาภิบาลว่าเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุน ขณะที่บริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะสามารถทำกำไร และสร้างผลตอบแทนให้กับการลงทุนได้ต่อเนื่อง สำหรับบริษัทเอกชนเอง ก็ยอมรับว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นปัจจัยแข่งขันทางธุรกิจที่สำคัญ เพราะบริษัทที่ขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดีมักจะไม่ได้รับความสนใจหรือความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะจากนักลงทุน ทำให้จะมีข้อจำกัดในการขยายธุรกิจให้เติบโต นี้คือพลวัตที่ได้นำมาสู่กระแสการตื่นตัวเรื่องธรรมาภิบาลในภาคเอกชนไทย 

สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีคือปัจจัยสำคัญที่สร้างความไว้วางใจ หรือ Trust ให้เกิดขึ้นระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและบริษัท และเมื่อ Trust เกิดขึ้น ธุรกิจของบริษัทก็จะสามารถเติบโตต่อไปได้ต่อเนื่องและมีความยั่งยืน และผู้ที่จะทำให้การกำกับดูแลกิจการที่ดีเกิดขึ้นได้จริงจังในบริษัท ก็คือ คณะกรรมการบริษัทที่เป็นจุดสูงสุดขององค์กรที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลกิจการของบริษัท ทำให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทจึงสำคัญมากต่อความสำเร็จและความยั่งยืนของธุรกิจ

อาทิตย์ที่แล้ว ผมได้ไปร่วมงานประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านประกันภัย ประจำปี 2560 จัดโดยสำนักงาน คปภ. ไปให้ความเห็นในหัวข้อ กรรมการมืออาชีพกับความสำเร็จของธุรกิจ” ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี ให้ความเห็นว่า กระแสตื่นตัวเรื่องธรรมาภิบาลที่เพิ่มสูงขึ้นมากในบ้านเราขณะนี้ กอปรกับ ความท้าทายในการทำธุรกิจจากการแข่งขันและความไม่แน่นอนต่างๆที่มีมากในโลกธุรกิจ ทำให้การคาดหวังเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทได้เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก คือ ไม่ใช่บอร์ดหรือคณะกรรมการบริษัทประเภทที่เป็นเพียงสัญลักษณ์ เพราะต้องมีตามกฎหมายแต่ไม่ทำอะไรจริงจัง ไม่ใช่บอร์ดหรือคณะกรรมการบริษัทที่มีไว้เพียงเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ แบบเป็น compliance board ที่ดูแต่เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วของบริษัท แต่ไม่ได้มองไปข้างหน้า 

แต่ที่ต้องการและเป็นความคาดหวังคือ บอร์ดที่กรรมการมีความรู้ความสามารถ และใช้ความรู้ความสามารถแนะนำฝ่ายจัดการและกำกับดูแลการทำงานของฝ่ายจัดการ ให้ธุรกิจของบริษัทประสบความสำเร็จ ทั้งในเรื่องผลประกอบการ และการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ คือเป็นบอร์ดหรือคณะกรรมการบริษัทแบบผู้นำ เป็น leadership board ที่บอร์ดใช้ความรู้ความสามารถนำพาบริษัทให้ก้าวข้ามอุปสรรคและความท้าทายต่างๆเพื่อให้ธุรกิจของบริษัทสามารถเติบโตได้ต่อไป นี่คือสิ่งที่คาดหวังในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทขณะนี้

แนวคิดว่าด้วยบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทแบบผู้นำนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวคิดที่นับวันจะได้รับการยอมรับมากขึ้นๆในต่างประเทศ เห็นได้จาก CG Code หรือ หลักปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่ออกมาใหม่ในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ล่าสุดก็เช่น ใน King IV Report ซึ่งเป็นหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ออกโดย สถาบันไอโอดีประเทศอัฟริกาใต้ปีที่แล้ว ของไทยเอง CG Code หรือ หลักปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดีล่าสุดที่เผยแพร่โดยสำนักงานกลต. เดือนที่แล้ว ก็ให้ความสำคัญกับหน้าที่และบทบาทคณะกรรมการบริษัทในฐานะผู้นำ ทำให้กรรมการบริษัทจะต้องตระหนักในการคาดหวังนี้ ต้องปรับตัว และปรับบทบาทของตนในการทำหน้าที่

คำถามตามมาก็คือ แล้วบอร์ดแบบผู้นำต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างไร แตกต่างจากสิ่งที่คณะกรรมการบริษัทส่วนใหญ่กำลังปฏิบัติอยู่ขณะนี้หรือไม่

ในเรื่องนี้ หลักสูตรกรรมการบริษัทของสถาบันไอโอดีจะเน้นบทบาทของคณะกรรมการบริษัทแบบผู้นำ คือสิ่งที่คณะกรรมการบริษัทต้องทำ ในอย่างน้อยห้าเรื่อง หนึ่ง คือ แผนกลยุทธ์ธุรกิจขององค์กร หรือ strategy ที่คณะกรรมการต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ของกรรมการ ช่วยฝ่ายจัดการระดมความคิด กลั่นกรอง อนุมัติ และติดตามการปฏิบัติตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทให้บรรลุผล 

สอง กำกับดูแลงานบริหารความเสี่ยงของบริษัท ทั้งในแง่ของการวางระบบ และการติดตามการปฏิบัติงาน สาม เตรียมบุคลากรระดับนำของบริษัท หรือ CEO succession planningเพื่อให้การทำธุรกิจของบริษัทมีความต่อเนื่อง ไม่ติดขัด กรณีต้องเปลี่ยนตัวผู้บริหารสูงสุด 

สี่ ผลักดันเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งในแง่การกำหนดนโยบายและการปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงจังในบริษัท และ ห้า สร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านจริยธรรมที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นในบริษัทที่จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดเรื่องจริยธรรมและการปฏิบัติที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้น ความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรนี้เห็นได้ชัดเจนจาก กรณีบริษัทโฟล์คสวาเกนและธนาคารเวลส์ฟาร์โกที่มีปัญหาธรรมาภิบาลรุนแรงปีที่แล้ว ซึ่งมีเหตุส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมองค์กรด้านจริยธรรม ของทั้งสองบริษัทที่อ่อนแอ ทำให้บริษัทไม่สามารถลด หรือป้องกันความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของผู้บริหารและพนักงานได้ 

สังเกตได้ว่า ทั้งห้าหน้าที่ของบอร์ดที่พูดถึงนี้จะเกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับภาพระยะยาวของธุรกิจในการตัดสินใจของบอร์ดแทบทั้งสิ้น เป็นการทำหน้าที่ที่มองภาพยาว มองไปถึงความยั่งยืนของธุรกิจ ไม่ใช่มองแค่ระยะสั้นเฉพาะเรื่องกำไรขาดทุน

นี่คือ การคาดหวังในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท ที่ได้เปลี่ยนไปจากการตื่นตัวของสังคมในเรื่องธรรมาภิบาล ทำให้กรรมการบริษัทต้องปรับตัวในการทำหน้าที่ ต้องเป็นการทำหน้าที่แบบผู้นำที่มองยาว มองไกล และมองรอบด้าน เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจและเศรษฐกิจ