เทรนด์การตลาดแบบ‘ไม่แก่’ เจาะสังคมผู้สูงอายุ
เป็นคำถามที่หลายคนคงสงสัยว่า ในยุคที่สังคมผู้สูงอายุเติบโตในทุกมุมโลก
จนถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีแรงผลักดันการเติบโตทางธุรกิจไม่น้อยไปกว่ากลุ่มวัยรุ่นในขณะนี้ นักการตลาดต้องปรับมุมมองและกลยุทธ์ในการสื่อสารการตลาดอย่างไรเพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุยุคนี้
นิยามใหม่ของคำว่าแก่
คงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ‘แก่ไม่ได้แปลว่าต้องแก่’ เป็นคำจำกัดความของผู้สูงอายุสมัยนี้ ที่เห็นกันหลายๆบ้านคงมีปู่ย่าตายายเล่น LINE ไปเที่ยวเมืองนอกโพสต์ IG มีเวลาอัพ FB บ่อยกว่าลูก และแต่งตัวเปรี้ยวกว่าหลาน กลายเป็นเรื่องปกติกันไปแล้ว
เรียกได้ว่าไม่มีมิติในเรื่องของวัยกับสิ่งที่ผู้สูงอายุสมัยนี้เลือกที่จะใช้ชีวิต ในมุมมองการตลาดภาพลักษณ์ที่เราจะใช้สื่อสารผู้สูงอายุจึงไม่ต้องดูแก่หง่อมตามวัย หากแต่ต้องแก่อย่างดูดีมีสไตล์และเด็กกว่าวัยที่แท้จริง ที่ฝรั่งมักใช้คำว่า ‘Aged Well’ ถึงจะถือว่าเข้าใจผู้สูงอายุอย่างแท้จริง
ปฏิวัติสายผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาตามวัย
ถึงใจจะไม่แก่ อย่างไรก็ดีด้วยขีดจำกัดทางร่างกายบางอย่าง ทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้สูงอายุต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆอย่างขนาดของโลโก้และคำอธิบายสินค้า ที่บางครั้งผู้สูงอายุไม่สามารถอ่านเห็นแม้ว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆอยู่ทุกวัน ที่เห็นกันง่ายๆ อย่างเมนูในร้านอาหาร รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบใหม่เพื่อแก้ปัญหาในการใช้งาน เช่น เครื่องสุขภัณฑ์ที่ถูกออกแบบเพื่อเพิ่มความปลอดภัยจากการลื่นล้มลุกนั่ง สายการบินกับการเพิ่มห้องน้ำเพื่อลดการรอของผู้สูงอายุที่ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย เป็นต้น
สร้างชีวิตใหม่อีกครั้ง
ด้วยทั้งความจริงและความเชื่อว่าตัวเองดูอ่อนกว่าวัยเป็นสิบปี ผู้สูงอายุต่างสร้างชีวิตใหม่ของตัวเอง ในวัยที่ลูกๆต่างไปมีครอบครัวของตน ผู้สูงอายุต่างเปิดโอกาสให้กับตัวเอง หันมาเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจจะดูแปลกไปกว่ายุคก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ชีวิตแบบท้าทายและแอ็คทีฟ การค้นหาอะไรใหม่ๆ เข้าร่วมคลาสเรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยทำ หรือแม้กระทั่งเริ่มธุรกิจเล็กของตนเอง ประกอบไปกับสร้างสังคมใหม่ๆของตัวเองไปด้วยในตัว
จากขายฝันสู่ความสุขที่แท้จริง
ในเรื่องของการโฆษณานั้น เนื้อหาแบบก้าวตามความฝันสไตล์วัยรุ่นคงไม่เหมาะกับผู้สูงวัยเท่าไหร่นัก ด้วยเพราะสังคมผู้สูงวัยให้คุณค่ากับสิ่งที่ต่างออกไปและไม่ใช่เรื่องภายนอก นั่นคือ เรื่องของครอบครัว ความสัมพันธ์ ความทรงจำและประสบการณ์ชีวิตที่ดี ในลักษณะที่เป็นความสุขทางใจมากกว่าเรื่องราวของความอยากได้อยากมีอยากเป็นที่ต้องป่าวประกาศให้โลกรู้
ใครว่าผู้สูงวัยไม่ออนไลน์
จากสวัสดีวันจันทร์ แชร์รูปดอกไม้และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คงจะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุต่างมีคอมมูนิตี้และคอนเทนท์ในแบบฉบับของตัวเอง ในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลในการตัดสินใจซื้อสินค้านั้น ถึงผู้สูงอายุมักไม่ตัดสินใจแบบฉาบฉวย แต่ก็มีการรับรู้ข้อมูลในโลกออนไลน์ในการตัดสินใจ โดยเฉพาะในธุรกิจเกี่ยวกับอาหารการกิน โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยว
ลูกค้าสัมพันธ์ผ่านคนวัยลูก
สังคมผู้สูงอายุต่างต้องการคนที่เข้าใจ รับฟัง และการเข้าถึงในแง่การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ไปจนถึงลูกค้าสัมพันธ์นั้น คนวัยลูกถือว่าตอบโจทย์ได้ดีโดยไม่ทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกถึงช่องว่างระหว่างวัยมากเกินไป รวมถึงสร้างปฏิสัมพันธ์ที่รู้สึกเหมือนการพูดคุยกับลูก
หลายๆ นักการตลาดมักจะคิดว่าตลาดผู้สูงวัยนั้นเข้าถึงยากด้วยข้อแม้หลายๆอย่าง แต่สิ่งที่ต้องคำนึงเสมอคือ สังคมผู้สูงวัยนั้นมีทั้งเวลาและอำนาจการตัดสินใจซื้อ เป็นกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจคุณภาพและความคุ้มค่าแบบสมเหตุสมผลมากกว่าแฟชั่น รวมไปถึงใช้เวลาเลือกนานกว่าวัยอื่นๆ แต่ถ้าได้หลงรักแบรนด์อะไรแล้วละก็ จะอยู่กันไปจนยากที่จะเปลี่ยน และคอยบอกต่อในกลุ่มเพื่อนฝูงเรียกว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ด้วยเช่นกัน