การเติบโตของฟินเทคทั่วโลก
การเติบโตของฟินเทคทั่วโลก
หากนึกถึงคำฮิตติดหูราวๆ 2 – 3 ปีมานี้ “ฟินเทค สตาร์ทอัพ” เป็นคำๆ หนึ่งที่พูดถึงกันมากที่สุดในโลก จากผลสำรวจ Blurred Lines: How FinTech is shaping Financial Services ของไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) ที่ทำการสำรวจเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในกลุ่มธุรกิจการเงินและผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ผ่านการสำรวจความคิดเห็นซีอีโอ หัวหน้าสายงานนวัตกรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ และผู้บริหารระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ดิจิทัล และเทคโนโลยี จำนวน 544 ราย จาก 46 ประเทศว่า “ฟินเทค” กำลังเป็นกระแสที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมทางการเงินทั่วโลก โดยผู้ประกอบการในตลาดธุรกิจให้บริการทางการเงินรวมทั้งประเทศไทย ต่างหันมาลงทุนในฟินเทคมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล โดยคาดการณ์ว่า ภายใน 3 - 5 ปีนับจากนี้จะมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลถึง 1.5 แสนล้านดอลล่าร์ หรือ 5.3 ล้านล้านบาทไหลเข้ามาลงทุนในธุรกิจฟินเทคทั่วโลก
เทคโนโลยีของฟินเทคได้เข้ามาเปลี่ยนบทบาทของธุรกิจบริการทางการเงิน (Financial Services) แบบดั้งเดิม ที่เคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมเงินทุน จัดสรรเงินทุน การชำระราคา หรือบริการทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับผู้เล่นที่หลากหลายเพียงแค่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก็สามารถเข้าสู่ฟินเทคได้จึงเห็นการลงทุนในธุรกิจนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่าผู้บริหารสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม (Traditional Financial Institution) กว่า 83% เชื่อว่าธุรกิจบริการทางการเงินของตนมีความเสี่ยงที่จะเสียผลประโยชน์ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งให้แก่บริษัทผู้ประกอบการฟินเทค โดยผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มที่แสดงความกังวลสูงสุดถึง 95% ขณะที่ 23% ของผู้บริหารภาคธุรกิจการเงินยังมองว่าบริษัทมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจฟินเทคอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าฟินเทคกำลังมีบทบาทต่อทุกผลิตภัณฑ์ทางด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นภาคธนาคารพาณิชย์ การลงทุนในหุ้น การลงทุนของนักลงทุนสถาบัน การโอนเงินระหว่างประเทศ การกู้ยืมสินเชื่อ ระบบชำระเงิน ประกันภัย งานวิจัย
โดยจากการรวบรวมข้อมูลและประเมินโดยแอคเซนเจอร์ (Accenture) พบว่าการลงทุนฟินเทคทั่วโลกในปี 2551 (2008) อยู่ที่ประมาณ 930 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 33.2 หมื่นล้านบาท) และได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2557 (2014) การลงทุนฟินเทคทั่วโลกสูงถึงประมาณ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.28 แสนล้านบาท) สะท้อนให้เห็นว่าฟินเทคเป็นเมกกะเทรนด์และทำให้โลกการเงิน การลงทุนเปลี่ยนโฉมอย่างชัดเจน
กระแสการลงทุนในเทคโนโลยีการเงินหรือฟินเทคนั้น นับเป็นนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่สิ่งใหม่ (Disruptive) ที่น่าจับตามากที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากจะทลายธุรกรรมการเงินแบบเดิมที่เคยผูกขาดในมือธนาคารหรือสถาบันการเงิน ให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกและลูกเล่นใหม่ๆ ที่สอดรับกับยุคสมัย ก็ยังเปิดโอกาสสำคัญให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ใช้ไอเดียและนวัตกรรม (Startup) ได้เข้ามาร่วมผลักดันยุคสมัยของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอีกด้วย
แม้จะมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 แต่อาจกล่าวได้ว่าฟินเทคเริ่มพัฒนาอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ปี 2008 เนื่องจากเป็นช่วงที่ระบบการเงินในสหรัฐกำลังล่มสลายในวิกฤตการณ์ทางการเงิน การที่ภาคการเงินมัวแต่วุ่นอยู่กับการล้างหนี้เสียและตัวเลขขาดทุนมหาศาล ซ้ำยังเผชิญวิกฤติศรัทธาครั้งใหญ่ ทำให้แวดวงซิลิคอน วัลลีย์ มองเห็นโอกาสเปลี่ยนแปลงโลกการเงินใหม่ ซึ่งสอดรับกับยุคที่โลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน
ในเชิงเศรษฐศาสตร์ การเกิดขึ้นของ ฟินเทคสตาร์ทอัพจำนวนมากกำลังจะเป็นตัวเปลี่ยนโครงสร้างการแข่งขัน จากเดิมที่ในแต่ละประเทศมีผู้แข่งขันน้อยราย (Oligopoly) ให้กลายเป็นตลาดผู้ขายมากราย (Monopolistic Competition) ผลลัพธ์คือส่วนต่างกำไรจะมีแนวโน้มลดลงเพราะการแข่งขันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โบรคเกอร์อย่าง Robinhood ที่คิดค่าธรรมเนียม 0%, บริการ Peer to peer lending ที่ให้ดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้สูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งการแข่งขันที่สูงขึ้นนี้จะกลายเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยรวม ทั้งความหลากหลายของบริการที่มากขึ้น ราคาที่ถูกลง และการเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินของประชาชนที่มากขึ้นในที่สุด