ประเมินผลงานต้านคอร์รัปชันเกือบ 3 ปี รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์

ประเมินผลงานต้านคอร์รัปชันเกือบ 3 ปี รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์

การต่อต้านคอร์รัปชันถูกยกให้เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ ที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สัญญา

ว่าจะแก้ไขตามนโยบายการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐที่ ครม. แถลงต่อ สนช. เมื่อเดือนกันยายนปี 2557 นับจากช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ทำงานมาแล้วเกือบสามปี คำถามที่สังคมอาจกำลังรอคำตอบคือว่ารัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ได้ดำเนินการต่อต้านคอร์รัปชันคืบหน้าอย่างไร

ทีดีอาร์ไอได้ติดตามการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันในภาครัฐและพบว่า รัฐบาล พล.. ประยุทธ์ มีความก้าวหน้าอย่างมากในการออกกฎและระเบียบเพื่อลดทุจริตในสองเรื่อง ได้แก่ การควบคุมการใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานรัฐ และ การกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดความโปร่งใส

ในเรื่องการควบคุมการใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานรัฐ รัฐบาลปัจจุบันได้ออกกฎและระเบียบสองฉบับที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติการอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ 2558 และ พระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558

ในหลักการนั้น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ถูกออกมาเพื่อกำหนดว่าอย่างน้อยหน่วยงานรัฐทุกแห่งจะต้องจัดทำคู่มือชี้แจงให้ผู้มาติดต่อราชการทราบถึงระยะเวลา เอกสารหลักฐาน และขั้นตอนที่ต้องใช้ในการขออนุญาตทางราชการแก่ประชาชน เช่น การทำใบขับขี่ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อความโปร่งใสในการกระบวนการพิจารณาอนุญาตต่าง ๆ ในขณะที่พระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย กำหนดให้หน่วยงานรัฐจะต้องทบทวนว่ากฎระเบียบที่ตนเองถืออยู่ มีเนื้อหาที่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร เช่น การพิจารณาให้อนุมัติหรืออนุญาตทางราชการต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น

แต่ในทางปฏิบัติ ประชาชนจะต้องติดตามการดำเนินการตามกฎหมายสองฉบับนี้จะสำเร็จมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 95 ไม่เคยได้ยินชื่อพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกฯ และในส่วนของพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พบว่า มีหน่วยงานเพียงสองแห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่เริ่มทบทวนกฎระเบียบของตนเอง

ในเรื่องการกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐซึ่งเป็นเป้าหมายของการทุจริตเสมอมาเนื่องจากเกี่ยวข้องกับงบประมาณกว่า 9 แสนล้านบาทต่อปี รัฐบาล พล.อ. ประยุทธิ์ได้ออกมาตรการถาวร 2 เรื่อง ได้แก่ การออกพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และการดำเนินโครงการ “ข้อตกลงคุณธรรม” (Integrity Pact) ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องเปิดโอกาสให้มี “ผู้สังเกตการณ์” จากภาคประชาสังคมเข้าร่วมในกระบวนการดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้าง

นอกจากนี้ ยังมีการออกมาตรการชั่วคราว 1 เรื่อง คือการดำเนินโครงการ “เพื่อความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ” หรือ CoST (Construction Sector Transparency Initiative) ซึ่งมุ่งให้หน่วยงานรัฐที่มีโครงการก่อสร้างต้องเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่อนุมัติโครงการ จัดหาผู้รับเหมา จนถึงระหว่างการดำเนินการก่อสร้างให้สาธารณะได้รับทราบ เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการก่อสร้างของรัฐมักถูกร้องเรียนว่ามีการฮั้วประมูลเกิดขึ้นบ่อยครั้ง การเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้ติดตามตรวจสอบจะช่วยให้การทุจริตเป็นไปได้ยากขึ้น

ปัจจุบัน โครงการ CoST ถูกนำร่องในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ 5 โครงการ มูลค่ารวม 1.03 แสนล้านบาท ซึ่งรวมโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 มูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท

แม้จะมีผลงานพอเป็นที่ประจักษ์อยู่บ้างข้างต้น แต่มาตรการทั้งหมดนี้ยังคงเป็นมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันที่จะต้องรอให้ภาครัฐดำเนินการเท่านั้น รัฐบาลยังคงไม่มีความคืบหน้าในสามเรื่องที่จำเป็นเพื่อให้การต่อต้านคอร์รัปชันเห็นผลมากขึ้นดังนี้

หนึ่ง เรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐ ที่ผ่านมารัฐบาลกลับสร้างอุปสรรคให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยลง เช่น การปล่อยให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เรื่องปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ หรือล่าสุดคือการพยายามออกกฎหมายให้อำนาจรัฐเพื่อกำกับดูแลสื่อ

สอง เรื่องการกำจัดระบบพวกพ้องเส้นสายและผลประโยชน์ทับซ้อน รัฐบาลถูกตั้งคำถามจากสังคมและสื่อมวลชนอย่างมากว่า มีการละเว้นไม่ตรวจสอบทุจริตกับบุคคลบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ใกล้ชิดกับบุคคลในรัฐบาลหรือไม่ เห็นได้จากข่าวการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมและกองทัพบางโครงการซึ่งถูกตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใสในการอนุมัติและประมูลโครงการ

สาม ยังคงไม่มีความชัดเจนถึงการออกมาตรการคุ้มครองข้าราชการที่สุจริต และประชาชนที่ต้องการเปิดโปงการทุจริตไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง อย่างน้อยยังคงไม่มีข่าวความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายการฟ้องร้องหมิ่นประมาท ไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือฟ้องปิดปากผู้เปิดโปงการทุจริต

โดยสรุป ผลงานการตรวจสอบทุจริตของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ที่ผ่านมายังเน้นการออกมาตรการซึ่งต้องดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ แต่ยังขาดการส่งเสริมกลไกการตรวจสอบภาคประชาสังคม ซึ่งถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้การต่อต้านคอร์รัปชันประสบความสำเร็จในอนาคต

....................

ธิปไตร แสละวงศ์