'Thailand 4.0' ฝันไกล แล้ว SMEs ไทยไปถึงได้แค่ไหน
“Thailand 4.0” เป็นนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
นโยบายดังกล่าวมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SME 4.0 คือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างหรือใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการของตนได้
แต่เมื่อมองย้อนกลับมายังสถานการณ์ที่เป็นอยู่ จะเห็นว่าสภาพแวดล้อมการส่งเสริม SME ยังไม่อำนวยต่อการปรับโครงสร้างผู้ประกอบการ แม้ว่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริม SME
ภารกิจในการส่งเสริม SME กระจัดกระจายอยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฯลฯ
ถึงแม้จะมีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนส่งเสริม SME ของประเทศ และมีหน้าที่ประสานงานด้านการส่งเสริมกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้หนุนเสริมกัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังไม่สามารถทำให้เกิดการบูรณาการงานส่งเสริม SME ได้ เนื่องจากสาเหตุหลายประการ
ประการแรก แม้ สสว. จะถูกออกแบบมาให้เป็นผู้จัดทำนโยบายและแผนการส่งเสริม SME ในภาพรวมทั้งประเทศ แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายกลับกำหนดให้ สสว. เป็นผู้เข้ามาดำเนินโครงการส่งเสริมเองด้วย ซึ่งในปัจจุบัน งานด้านการส่งเสริมเป็นงานหลักของ สสว.
ประการที่สอง สสว. เป็นผู้กำหนดนโยบายในภาพรวม หากแต่ไม่มีอำนาจในการกลั่นกรองโครงการส่งเสริม SME แม้รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายที่จะผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ เสนอของบประมาณส่งเสริม SME ผ่าน สสว. แต่โครงการที่เสนอมาจำนวนมากเป็นโครงการที่แต่ละหน่วยงานเสนอมาตามความถนัดหรือความต้องการของตนเองมากกว่าเป็นโครงการที่ออกแบบมาอย่างบูรณาการจากการวิเคราะห์ความต้องการของ SME ส่งผลให้งานบางประเภท เช่น การส่งเสริมการแสดงสินค้าในต่างประเทศมีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการ ในขณะที่งานส่งเสริมบางประเภท เช่น การให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมและการเลือกเว็บไซต์ในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบ
ประการที่สาม ระบบการจัดสรรงบประมาณเป็นแบบรายปีทำให้โครงการส่งเสริม SME ส่วนมากมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้โครงการในการยกระดับขีดความสามารถ SME ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นขั้นตอนถูกละเลย แม้จะมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริม SME ซึ่งดูแลโดย สสว. เพื่อให้เป็นแหล่งงบประมาณที่ใช้ส่งเสริม SME แบบต่อเนื่องก็ตาม แต่เงินในกองทุนส่วนมากมักถูกกันไว้สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
ประการสุดท้าย โครงการส่งเสริม SME ที่มีอยู่จำนวนมาก ขาดการประเมินผลกระทบหลังเสร็จสิ้นโครงการโดยหน่วยงานภายนอก ส่งผลให้งานด้านการส่งเสริม SME บางโครงการอาจยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของ SME อย่างแท้จริง
การศึกษาการส่งเสริม SME ของแคนาดา เกาหลีใต้ สิงคโปร์และไต้หวัน พบว่า รูปแบบการบริหารงานส่งเสริมคล้ายกับไทย คือ ดำเนินงานโดยหน่วยงานหลายแห่ง แต่มีองค์กรกลางคล้าย สสว. ทำหน้าที่ในการวางแผนและบูรณาการงานส่งเสริม SME ของประเทศ แต่การส่งเสริม SME ของแต่ละประเทศชี้ให้เห็นว่า
1) หน่วยงานที่กำหนดนโยบายและวางแผนการส่งเสริม SME จะต้องมีฐานข้อมูล SME ที่สมบูรณ์ มีบุคลากรที่มีขีดความสามารถในการวางแผนและในการประเมินโครงการสูง และที่สำคัญ คือจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับงานส่งเสริมในระดับปฏิบัติการ
2) การออกแบบโครงการช่วยเหลือ SME จะเป็นแบบ “แพ็กเกจ” หรือ portfolio ที่มีเป้าหมายชัดเจน มีการแจกแจงรายละเอียดของกิจกรรมที่ต้องดำเนินการเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย ตลอดจนรายชื่อของหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดขอบในแต่ละกิจกรรม ซึ่งทำให้การจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน
3) การจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการระยะยาวเป็นแบบผูกพันหลายปี (Multi-year budgeting) เนื่องจากโครงการบางประเภทต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งทำให้การดำเนินงานต่อเนื่อง ลดปัญหาความไม่แน่นอนของการดำเนินงาน
4) องค์กรในการส่งเสริม SME ที่ดีจะมีกลไกการประเมินที่เป็นระบบ โดยมีการประเมินความจำเป็นและความคุ้มค่าก่อนที่จะดำเนินการ เพื่อให้มีการจัดสรรทรัพยากรในการส่งเสริม SME อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวก็มีการประเมินผลลัพธ์ของมาตรการที่ดำเนินการอยู่และสิ้นสุดลงด้วย เพื่อใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงมาตรการในครั้งต่อไป
นอกจากนี้ในบางประเทศ เช่น แคนาดามีการว่าจ้างบุคคลที่สาม ทำหน้าที่ประเมินโครงการส่งเสริมได้อย่างอิสระ ช่วยให้สามารถพัฒนาระบบการส่งเสริม SME ได้ดียิ่งขึ้น
จากบทเรียนของต่างประเทศ เห็นได้ว่า สิ่งที่ไทยต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลได้ตามนโยบาย 4.0 คือ
ประการแรก ต้องปรับบทบาทภารกิจของ สสว. ให้เป็นหน่วยงานวางแผน กำหนดทิศทางการส่งเสริม SME และกลั่นกรองโครงการส่งเสริม SME เท่านั้น ตลอดจนกำกับดูแลโครงการ มาตรการส่งเสริม SME ของหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย
ประการที่สอง ควรมีการถอดแผนการพัฒนา SME ออกมาเป็น “แพ็กเกจ” ของโครงการส่งเสริมโดยกำหนดประเด็นและเป้าหมายของการส่งเสริม ระบุรายละเอียดกิจกรรม หน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อความมีประสิทธิภาพของการดำเนินงานและจัดสรรงบฯ
ประการที่สาม สำหรับกิจกรรมหรือโครงการที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องหลายปี ควรมีการโอนเงินงบประมาณเข้ากองทุนส่งเสริม SME ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ สสว. หากแต่ต้องมีการกำหนดเป้าหมายและรายละเอียดของกิจกรรมที่ต้องดำเนินการในแต่ละระยะเวลาอย่างชัดเจน รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน
หากทำได้เช่นนี้ การจะเดินไปสู่ Thailand 4.0 คงมิใช่เรื่องยาก