ยุทธศาสตร์ 20 ปี
ยุทธศาสตร์ 20 ปี
“เกี่ยวอะไรกับเรา”ฉบับนี้ผมขอแบ่งปันมุมมองยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งเป็นผลลัพธ์ในการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บนความพยายามในการสร้างความเป็นรูปธรรมของยุทธศาสตร์ ซึ่งในอดีตมักจะเขียนแผน แต่ไม่ได้นำไปปฏิบัติ โดยบทความนี้จะพิจารณารายละเอียดอย่างสังเขป ผลผูกพันรัฐบาลในอนาคต รวมทั้งประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์
I. ยุทธศาสตร์ 20ปี
ยุทธศาสตร์ 20 ปีซึ่งมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560 - 2564) เป็นบทกำกับการปฏิบัติ มีเป้าหมายในการ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยพัฒนาขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพิ่มประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาลของภาครัฐ และเอกชนโดยเน้นการเติบโต บนการรักษาทรัพยากรธรรมชาติผ่านแผนปฎิบัติการ 4 ข้อ
1. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ซึ่งมีการลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูง ระบบรถไฟรางคู่ รวมถึงการสร้างท่าเรือน้ำลึก เพื่อลดต้นทุน และเวลาในการขนส่ง
2. การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านอุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการประเทศไทย 4.0 ที่สนับสนุน การพัฒนาอุตสาหกรรม รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ การท่องเที่ยว การเกษตร รวมถึงการสร้างศักยภาพในอุตสาหกรรมใหม่เช่น หุ่นยนต์ การบิน การขนส่ง พลังงานทางเลือก ธุรกิจดิจิตอล การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ให้สิทธิยกเว้นภาษีนิติบุคคลถึง10ปีในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
3. การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor:EEC) ถือเป็นโครงการแรกโดยในเบื้องต้นจะเป็นประตูหลักในการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศ CLMV และในที่สุด จะเป็นทางเชื่อมต่อ เส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road) ภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีน
4. การสร้างความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับประเทศในอนุภูมิภาค ภูมิภาค และนานาประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV
ซึ่งเป้าหมายระยะ 5 ปี ของแผนคือ GDPโตเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยเน้นการลงทุนจากภาครัฐ และเอกชน ที่เพิ่มขึ้น 10% และ 7.5% ตามลำดับ ซึ่งแผนจะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย บนความพยายามที่จะลดการพึ่งพาแรงงานภาคอุตสาหกรรมโดยเพิ่มอัตราการเติบธุรกิจบริการที่ 6% ต่อปี
II. ผลผูกพัน และความต่อเนื่อง
คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือร่างพ.ร.บ.การดำเนินการปฏิรูปประเทศ และพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยกฎหมายฉบับนี้มอบอำนาจให้ประธานวุฒิสภามีสิทธิขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยระงับการดำเนินการ ของรัฐบาลในอนาคต หากพิจารณาว่าเป็นการขัดต่อกรอบยุทธศาสตร์ที่วางไว้ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ก็เปิดโอกาสให้รัฐบาลในอนาคตสามารถปรับกลยุทธ์ดำเนินการได้โดยคณะทำงานที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะประเมินกรอบทุก5ปี และหรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์
III. ประสิทธิภาพยุทธศาสตร์
หากพิจารณาผ่านมุมมองของสถานการณ์ปกติ หลายฝ่ายอาจเห็นข้อจำกัดของยุทธศาสตร์ดังนี้
1. ความไม่ชัดเจน ของแผน ซึ่งอาจมีเป้าหมายที่มาก และกว้างเกินไป
2. ประสิทธิภาพของแผน ซึ่งอาจสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นได้น้อยโดยไม่สามารถนำจุดแข็งของประเทศออกมาได้อย่างชัดเจน
3. การขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเสมือนหนึ่งว่า แผนได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า
4. คสช.ยังมีสิทธิขาดในการกำหนดแนวทางจากการที่หัวหน้าคสช. เป็นประธานและผู้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์
แต่ผมมีความเห็นว่า การเมืองไทยในบริบทการกำหนดยุทธศาสตร์ มีความไม่ปกติมานานแล้ว ทั้งที่ประเทศไทยมีความพร้อมเชิงยุทธศาสตร์ที่ตั้ง และทรัพยากร มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาแล้ว 11 ฉบับ แต่เมื่อเทียบความก้าวหน้ากับบางประเทศเพื่อนบ้าน เรากลับถูกแซงมานับครั้งไม่ถ้วน โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า ยุทธศาสตร์หลายข้อ ไม่ใช่เรื่องใหม่ และปัญหาไม่ใช่ว่ารัฐบาลแต่ละยุคไม่รู้ว่าควรทำอะไร แต่ส่วนใหญ่มองผลประโยชน์ระยะสั้นของพวกพ้อง บนความไม่แน่นอนของการเมืองไทย จึงทำให้หลายนโยบายไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ ภาคประชาชนชนก็ถูกจูงให้สนใจกับข่าวการเมืองรายวัน โดยขาดแนวทางการประเมินผลงานของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้นผมจึง มองแผนยุทธศาสตร์นี้เป็นเพียงก้าวแรกของการเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง หาใช่การสนับสนุนหรือเห็นพ้องกับรายละเอียดของแผน แต่เป็นการเห็นชอบว่ายุทธศาสตร์ชาติควรเป็นโจทย์อันดับแรกของทุกรัฐบาลจากนี้ไป โดยการตั้งธงครั้งนี้ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ แบบ แต่น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีในอนาคต หากความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทั้งภาคการเมือง และประชาชน กลับมาให้ความสำคัญกับการประเมินประสิทธิภาพของแผนควบคู่กับการปฏิบัติงานของรัฐบาล ผมคาดว่า ผลของยุทธศาสตร์น่าจะนำพาประเทศให้มีการเติบโตที่ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 5-7 ปี ผ่านการลดการพึ่งพาการส่งออก และสนับสนุนการปฏิรูปธุรกิจ และเศรษฐกิจไปสู่การบริการที่เพิ่มขึ้นครับ