เมินฟองสบู่อสังหาฯ แบงก์แข่งดุสินเชื่อบ้าน
เป็นเรื่องปกติของทุกปี ที่มักจะมีการนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับบทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือ “วิกฤติต้มยำกุ้ง”
ในช่วงที่ใกล้วันที่ 2 ก.ค. ของทุกปี เพราะเป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งเซ็คเตอร์สำคัญที่มีการพูดถึงมากที่สุด หนีไม่พ้น “ภาคอสังหาริมทรัพย์” และ “ภาคธนาคารพาณิชย์”
โดยเฉพาะในปีนี้ที่ครบรอบ 20 ปีวิกฤติเศรษฐกิจพอดี ประจวบกับภาวะธุรกิจอสังหาฯที่กำลังถูกมองว่า “โอเวอร์ซัพพลาย” ยิ่งทำให้มีความสนใจในประเด็นเหล่านี้มากขึ้นว่า จะมีโอกาสเกิดปัญหา “ฟองสบู่” หรือ เกิด “ประวัติศาสตร์”ซ้ำรอยหรือไม่
ในแง่ของฝั่งทางการ หรือ ธปท.เองก็ยอมรับว่า มีภาวะโอเวอร์ซัพพลายในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จริง ซึ่งอาจจะคล้ายๆว่าเป็น “ฟองสบู่เล็กๆ” ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้ว แต่ยืนยันว่าสถานการณ์นี้”ไม่น่าห่วง” เพราะเชื่อว่าซัพพลายจะถูกดูดซัพออกไป จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่
เมื่อมาดูสถานะทางการเงิน หรือหนี้ของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯเอง ก็พบว่ามีการใช้แหล่งเงินทุนที่หลากหลายในตลาดทุน แทนการกู้จากธนาคารพาณิชย์อย่างเดียว นั่นหมายความว่าหากเกิดปัญหาขึ้น ก็ไม่ได้กระทบกับธนาคารพาณิชย์เหมือนในอดีต
สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารพาณิชย์ ที่มองว่า ภาวะโอเวอร์ซัพพลายของอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้น่าเป็นห่วง เพราะเกิดขึ้นแค่ในบางเซกเตอร์และบางพื้นที่เท่านั้น เช่น คอนโดมิเนียมราคาต่ำตามแนวรถไฟฟ้า และคอนโดมิเนียมในแถบชานเมือง
ในขณะที่ราคาระดับกลางไปถึงบน ทั้งกลุ่มบ้านเดี่ยว และทาวเฮ้าส์ยังขายได้ดี โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมหรู ยิ่งขายดีมาก สะท้อนว่าภาวะโอเวอร์ซัพพลายไม่ได้เกิดจากตลาดไม่มีความต้องการ แต่เกิดจากการเร่งเกิดของคอนโดราคาต่ำ ที่ออกมามากเกินไป
ความต้องการของตลาดที่ยังมีการเติบโต เห็นได้จากสินเชื่อบ้านของธนาคารพาณิชย์ที่เติบโตในระดับที่สูง ขณะที่สินเชื่อในกลุ่มอื่นๆ มีการเติบโตในระดับต่ำ จากข้อมูลของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย พบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกสินเชื่อบ้านเติบโตได้ถึง 5-6% จากสิ้นปีก่อน และทั้งปียังตั้งเป้าการเติบโตถึง 10% ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้าในระดับกลางและระดับบน เช่นเดียวกับทางธนาคารกสิกรไทยที่ตั้งเป้าสินเชื่อบ้านในปีนี้มีการเติบโตถึง 5-10%
จากเป้าหมายที่ตั้งไว้สูง และยอดการปล่อยสินเชื่อบ้านล่าสุดที่มีการเติบโต ทำให้เห็นว่า ตลาดยังมีความต้องการที่อยู่อาศัย แต่อาจจะจำกัดอยู่ในกลุ่มที่มีฐานรายได้สูง แต่การ จะทำให้ไปถึงเป้าหมายนั้นคาดว่าแต่ละธนาคารจะต้องงัดกลยุทธ์การแข่งขันออกมาอย่างเต็มที่ ในช่วงครึ่งปีหลัง ของปีนี้จึงอาจจะได้เห็นธนาคารพาณิชย์แข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดสินเชื่อบ้าน จากปัจจุบันที่แข่งขันกันแรงอยู่แล้ว
ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้นั่นก็คือการแข่งขันด้วยอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศกันในปัจจุบันจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 3% แต่ความเป็นจริงหากเป็นลูกค้าชั้นดี บางธนาคารยอมหั่นอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3% เลยที
.................
วรินทร์ ตริโน