Cashless ไทย เราอยู่ตรงไหนแล้ว

Cashless ไทย เราอยู่ตรงไหนแล้ว

สังคมทั่วโลกรวมถึงสังคมไทยในเวลานี้ล้วนตื่นตัวและพยายามผลักดันตนเองเข้าสู่ Cashless Society หรือ สังคมไร้เงินสด

 ที่มีการใช้วิธีต่างๆ แทนเงินสดในการแลกเปลี่ยนซึ่งมูลค่าให้แก่กัน เช่น Digital Currency, e-Wallet, และ Mobile Banking เป็นต้น 

กระแสการผลักดันประเทศไปสู่สังคมที่ไร้เงินสดได้เริ่มขึ้นในประเทศที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า ตั้งแต่สมัยยุค 90’s ที่ e-Banking เริ่มเป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงยุค 2010’s ได้เกิดรูปแบบของบริการทางการเงินรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนผู้ให้บริการ FinTech หน้าใหม่ๆ ออกมาให้เลือกมากมาย สอดคล้องกับการเติบโตทางการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศอย่าง e-Commerce

สาเหตุหลักที่ประเทศทั่วโลกมุ่งพัฒนาวงการการเงินไปในทิศทางเดียวกันและร่วมผลักดันสังคมไปสู่ Cashless Society นั้นก็เพราะว่า การเป็นสังคมที่ไร้เงินสดนำมาซึ่งประโยชน์ในหลายๆด้าน 

ถ้ามองเป็นภาพบุคคล ก็ทำให้สะดวกสบายไม่ต้องเสี่ยงถือเงินสดจำนวนมาก จะทำธุรกรรมอะไรก็ผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ให้เราสามารถตรวจสอบจัดสรรการใช้จ่ายและลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

เมื่อมองไปถึงระดับประเทศสังคมไร้เงินสดนี้ จะมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจในหลายๆแง่มุม อย่างที่รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับโครงการ National e-Payment เพื่อวางรากฐานไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด หรือพร้อมเพย์ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบชำระเงิน 

การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเครื่อง EDC ตลอดจนบริการภาครัฐอย่างการจ่ายและนำส่งภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ การกระจายสวัสดิการภาครัฐด้วย e-Payment และสนับสนุนด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับ e-Payment 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยลดต้นทุนในการจัดการเงินสดจำนวนมหาศาลและยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในเวทีระดับนานาชาติ 

สำหรับประเทศไทยนั้นคาดว่าจะลดภาระต้นทุนการจัดการเงินสดนี้ได้ถึงปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท และยังทำให้การกระจายสวัสดิการและบริการของรัฐทั่วถึง ตรวจสอบง่าย ลดความซ้ำซ้อน และรวดเร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังช่วยให้ระบบการจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพและเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น 

การที่ทุกอย่างเกิดขึ้นบนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ยังช่วยให้มีข้อมูลและหลักฐานที่ชัดเจน นำไปสู่การลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันและการฟอกเงินรวมไปถึงการค้าขายหรือการกระทำการผิดกฎหมายต่างๆ

ในส่วนของภาคเอกชนปัจจุบันมีหลายผู้เล่นที่เข้ามามีบทบาทในการผลักดันวงการการเงินในประเทศไทย นอกเหนือไปจากสถาบันการเงินการธนาคารก็ยังมีกลุ่ม FinTech ที่อาจจะมาจาก Telco หลายๆค่าย หรือจากกลุ่มสตาร์ทอัพหน้าใหม่ ออกมาให้บริการด้าน e-Payment และ e-Wallet อย่าง AirPay ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างนั้น 

อย่างไรก็ตาม เงินสดก็ยังถือเป็นระบบหลักของการใช้จ่ายภายในประเทศจากผลสำรวจช่องทางการใช้จ่ายของคนไทยโดย Visa เมื่อปี 2559 มีอัตราสูงถึงราวๆ 75% ซึ่งหากไทยต้องการจะก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ เราจะต้องลดสัดส่วนตรงนี้ลงและเพิ่มอัตราการใช้จ่ายผ่าน e-Payment ให้ไปถึง 60% เป็นอย่างต่ำ

หากเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆทั่วโลกแล้ว ต้องถือว่าไทยเรายังอยู่อีกไกลพอสมควรในเส้นทางไปสู่สังคมไร้เงินสดที่แท้จริง 

ในเอเชีย ยักษ์ใหญ่อย่างจีนมีการขยายตัวของการใช้จ่ายแบบ e-Payment ที่รวดเร็วจนน่าตกใจ ซึ่งปัจจุบันราวๆ 60% ของผู้บริโภคจีนใช้จ่ายผ่านช่องทาง e-Payment เป็นหลัก โดยเฉพาะสองผู้เล่นรายใหญ่ AliPay และ WeChat Pay ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ก็มีมูลค่าการใช้จ่ายสูงถึง 2.76 ล้านล้านดอลลาร์ และในปี 2559 ที่ผ่านมามีการใช้จ่ายผ่าน Mobile Payment ถึง 5.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 50 เท่าของประเทศสหรัฐ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ มีสัดส่วนการใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 61% 

ทั้งนี้หากมองไปไกลถึงกลุ่มประเทศอย่างยุโรปอัตราการใช้จ่ายผ่านช่องทาง e-Payment ยิ่งพุ่งสูงขึ้นจนทุกวันนี้ประชาชนแทบจะไม่คุ้นชินกับธนบัตรมูลค่าสูงแล้ว เช่น เบลเยียมที่ใช้จ่ายแบบไร้เงินสดสูงถึง 93% หรือประเทศต้นแบบอย่างสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศแรกๆของโลกที่สามารถก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบได้สำเร็จ 

ปัจจุบันมูลค่าการใช้จ่ายผ่านเงินสดลดต่ำลงจนคิดเป็นเพียง 3% ของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ตัวเลขเหล่านี้ล้วนตอกย้ำว่าไทย ยังต้องการความร่วมมือในการพัฒนาอีกมาก ปัจจัยที่ควรได้รับการแก้ไขนั้นได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่ดี เพราะอันที่จริงแล้วยังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่ต้นทุนต่ำและสามารถผลักดันให้เกิดการใช้งานในวงกว้างได้จริง

ตัวอย่าง  QR payment ปัจจุบันไทยยังไม่มีผู้เล่นหรือหน่วยงานใดเข้ามาผลักดันอย่างจริงจัง หากสามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้แบบที่ Alipay หรือ WeChat Pay ทำการจะทำให้เกิดการใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลายจนไปถึงระดับร้านค้าเล็กๆแม้แต่ในเขตต่างจังหวัดก็จะสามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้น 

อีกส่วนสำคัญมากคือเรื่องของความเชื่อมั่นและความรับรู้ของประชาชนในวงกว้างเกี่ยวกับ e-Payment ที่ต้องอาศัยความพยายามจากภาครัฐเป็นหลัก รวมไปถึงนโยบายและมาตรการสนับสนุนการเติบโต โดยเฉพาะมาตรการทางภาษีที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเติบโตของภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับระบบ e-Payment ในส่วนของภาคเอกชนเอง

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการขาดความร่วมมือระหว่างกันเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่ดีต่อระบบนิเวศโดยรวม หากประเทศของเราไม่มีการวางระบบที่ดีและร่วมมือกันอย่างแท้จริงแล้ว ผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต ย่อมทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่สามารถทัดเทียมหรือแข่งขันกับนานาประเทศได้