เมื่อ AI จะมาแทนที่ “ผู้จัดการกองทุน”
เมื่อ AI จะมาแทนที่ “ผู้จัดการกองทุน”
การก้าวเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีพลิกโลก (disruptive technology) ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการแข่งขันในธุรกิจหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม รถโดยสาร การสื่อสาร การสั่งซื้อสินค้า สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ เป็นต้น
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา BlackRock บริษัทจัดการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ประกาศลดบุคลากรด้านการลงทุนลง 40คน โดยแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence- AI) และโปรแกรมซื้อขายหลักทรัพย์
Opimas บริษัทที่ปรึกษาด้านบริการทางการเงินได้ประเมินไว้ว่าการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ จะส่งผลให้ภายในปี 2568 อุตสาหกรรมการเงินจะมีการลดบุคลากรลง 10% หรือประมาณ 230,000 ตำแหน่ง โดย 40% หรือประมาณ 92,000 ตำแหน่งงานจะมาจากธุรกิจจัดการลงทุน
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา JP Morgan ได้ออกรายงานชื่อว่า “Big Data and AI Strategies: Machine Learning and Alternative Data Approach to Investing” โดย Marko Kolanovic และ Rajesh T. Krishnamachari โดยแจกแจงรายละเอียดถึงความสำคัญที่ปัญญาประดิษฐ์มีต่อนักวิเคราะห์ ผู้จัดการกองทุน เจ้าหน้าที่ค้าหลักทรัพย์ โดยข้อมูลที่นักวิเคราะห์ หรือผู้จัดการกองทุนมักใช้ในการให้คำแนะนำหรือตัดสินใจลงทุนในอดีต อย่างผลประกอบการรายไตรมาส และตัวเลข GDP เริ่มที่จะมีความสำคัญน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากผู้จัดการกองทุนนำข้อมูลทางเลือก (alternative data) และวิธีการใหม่ๆเพื่อคาดการณ์ผลที่มีต่อราคาหลักทรัพย์มาใช้ และซื้อขายหลักทรัพย์ก่อนที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการจะออกมา
JP Morganได้สรุปการแบ่งประเภทของข้อมูลทางเลือก ออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
1) ข้อมูลที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ มีลักษณะเป็นข้อความ และไม่มีโครงสร้างของข้อมูลที่ชัดเจน เช่น สื่อสังคมออนไลน์ (Twitter, Facebook, LinkIn)การรีวิวผลิตภัณฑ์(Yelp, Amazon)ข้อมูลคำค้นหา(Google หรืออีเมล์ส่วนตัว – Google เพิ่งประกาศเมื่อปลายเดือนมิถุนายนว่าจะหยุดสแกน Gmail ของผู้ใช้ประเภทบุคคลตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป)
2) ข้อมูลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางธุรกิจ มักเป็นข้อมูลที่มีรูปแบบชัดเจนและสามารถชี้นำถึงผลประกอบการได้ เช่น ข้อมูลการทำธุรกรรมทางธนาคาร ข้อมูลการสแกนสินค้าที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ข้อมูลการเชื่อมโยงทางการผลิต ข้อมูลการใช้จ่ายบัตรเครดิต เป็นต้น
3) ข้อมูลที่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์ตรวจจับ โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีโครงสร้างชัดเจน แต่มีปริมาณมหาศาลมากกว่าข้อมูลในอีก 2 ประเภทข้างต้น เช่น ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม การจราจรทางเท้าและทางรถไปยังห้างสรรพสินค้า หรือการเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ส่วนบุคคลต่างๆ เป็นต้น
แต่จริงหรือที่ว่า AI จะสามารถทดแทน หรือเหนือกว่าศักยภาพของมนุษย์ในการบริหารจัดการกองทุน?
บทวิเคราะห์ของ JP Morgan ได้กล่าวไว้ว่า “เครื่องจักรมีความสามารถที่จะวิเคราะห์ข่าว ทวีตส์ ในปริมาณมากๆ วิเคราะห์งบการเงิน แยกแยะข้อมูลจากเว็บไซต์ และสามารถซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลเหล่านี้ได้โดยทันที” ซึ่งทำให้ความจำเป็นที่จะต้องใช้นักวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน ผู้จัดการกองทุนด้านเทคนิค หรือนักลงทุนตามภาวะตลาดมีน้อยลงไปด้วย
อย่างไรก็ตามในระยะยาวแล้ว “เครื่องจักรยังไม่น่าที่จะประเมินการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้ดีนัก เช่น การหาจุดกลับตัวของตลาด การคาดการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการตีความการตอบสนองของมนุษย์ เช่น นักการเมือง หรือผู้บริหารธนาคารกลาง เป็นต้น”
การนำเอาฐานข้อมูลทางเลือกขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ในการวิเคราะห์ด้านการลงทุนด้วยปัญญาประดิษฐ์นั้นแม้ว่าจะมีประโยชน์ในการลดงานจำนวนมากของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนลงได้ รวมถึงเร่งกระบวนการตัดสินใจให้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ “มนุษย์” ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้าง “ผลตอบแทนในระยะยาว” ให้กับผู้ลงทุนอยู่นั่นเอง