Educational Malpractice...ประพฤติมิชอบทางการศึกษา

Educational Malpractice...ประพฤติมิชอบทางการศึกษา

ด้อ่านบทความจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับความรับผิดของสถานศึกษาที่ไม่สามารถผลิตผู้จบการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพ

ตามที่ได้ศึกษาจากสถาบันการศึกษานั้น อย่างนี้สถาบันการศึกษาหรืออาจารย์ผู้สอนน่าจะมีความรับผิดต่อนักศึกษาอย่างไรหรือไม่

ปัจจุบันสถาบันการศึกษาถือเป็นการประกอบธุรกิจประเภทหนึ่ง (For-profit organization) เพราะลักษณะการประกอบการนั้นมุ่งหวังกำไรจากการดำเนินการ และนิสิตนักศึกษาที่เข้าไปเรียนที่สถาบันการศึกษาต่างก็มีต้นทุนจากค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่สูงมาก ใช้เวลาเรียนสามสี่ปีหรือมากกว่า แต่เมื่อจบการศึกษา กลับไม่สามารถหางานที่เหมาะสมคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายและเวลาที่หมดไปในสถาบันการศึกษา อย่างนี้ถือว่าสถานศึกษาต้องรับผิดต่อนักศึกษาอย่างไรหรือไม่

สถาบันการศึกษาจำนวนมากมีการประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้มาเรียน มีกิจกรรมต่างๆเพื่อดึงดูดให้คนมาสมัครเรียน มีการอ้างถึงความสำเร็จของผู้ที่จบการศึกษาที่จบไปแล้วประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน มั่งคั่งมั่นคง มีเกียรติในสังคม ในสถาบันมีเครื่องมือและอุปกรณ์ใช้เพื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย และที่สำคัญคือมีครูอาจารย์ศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญ เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ สิ่งเหล่านี้ดึงดูดใจให้ผู้ที่ต้องการศึกษาในมหาวิทยาลัยตัดสินใจสมัครเข้ารับการศึกษา และคาดหวังว่า เมื่อจบการศึกษาจากสถาบันเหล่านั้น จะมีงานที่ดีรองรับและมั่งคั่งร่ำรวยเหมือนดังเช่นที่มหาวิทยาลัยประชาสัมพันธ์

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งดีๆเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้จบการศึกษา บัณฑิตจำนวนมหาศาลไม่สามารถหางานทำได้ ไม่สามารถหารายได้เพียงพอกับการใช้ชีวิต ไม่สามารถคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ ทั้งๆที่ได้เรียนกับสถาบันที่กล่าวอ้างว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นดีมีคุณภาพ

Educational Malpractice...ประพฤติมิชอบทางการศึกษา

อย่างนี้ มหาวิทยาลัยและครูอาจารย์ศาสตราจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ต้องรับผิดอะไรเลยหรือ

เมื่อไม่นานมานี้ ที่สหรัฐมีปรากฎการณ์ผู้จบการศึกษาที่เรียนจบแล้วไม่สามารถทำงานมีรายได้พอที่จะส่งคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และถูกสำนักงานกู้ยืมเพื่อการศึกษาติดตามทวงถามและดำเนินคดี เขาเหล่านั้นโต้แย้งว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากพวกเขากระทำ แต่เกิดจากมหาวิทยาลัยไม่สามารถทำให้พวกเขาที่จบการศึกษาได้มีงานทำที่ดี มีรายได้พอเพียงที่จะดำรงชีวิต และทำให้ไม่มีเงินเหลือพอส่งคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยและครูอาจารย์ไม่ได้ทำให้พวกเขามีความรู้ความสามารถเพียงพอในการประกอบวิชาชีพตามที่ได้ศึกษามา

บ้านเราเองก็มีปัญหานี้เช่นกัน เพราะมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดมีลักษณะการบริหารจัดการแบบองค์กรแสวงหาผลกำไร หรือ For-profit organizationจำนวนมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน ทั้งหมดตั้งขึ้นเพื่อผลิตบัณฑิตที่ต้องใช้เงิน ใช้เวลาเรียนหลายปี และจำนวนมากที่ต้องกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ถือเป็นการลงทุน

แต่เมื่อจบการศึกษาแล้ว กลับไม่สามารถหางานที่ได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน ไม่สมกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของสถาบันการศึกษาทั้งโดยตรงและโดยแฝงว่าโดดเด่น มีผู้จบการศึกษาประสบความสำเร็จ ผลิตบัณฑิตได้ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน มีครูอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งการสอนการวิจัย มีอุปกรณ์ทันสมัยเพื่อการเรียนการสอน และอื่นๆอีกมากมาย

ทั้งนี้ไม่รวมถึงกลยุทธ์วิธีการทางการตลาดที่ใช้ระบบขายตรง หาคนมาเรียน มีการให้ค่านายหน้า ส่วนลด เปอร์เซ็นต์ แจกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จัดอาหารเลี้ยงดูระหว่างพักพร้อมของว่าง และอีกมากมายหลายอย่างหลายวิธีที่แต่ละสถาบันจัดสรรขึ้นมาเพื่อเอาใจผู้มาเรียน และนี่คือการขายบริการเช่นกัน

แน่นอนว่าสิ่งที่สรรหาให้ผู้เรียนที่นอกเหนือจากการเรียนการสอน เป็นเรื่องการลงทุนทางธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ประเด็นสำคัญก็คือผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจำนวนมากไม่สามารถหางานทำได้ ผลการสำรวจของหลายสถาบันพบว่าผู้ที่จบปริญญาตรีของบ้านเรามีอัตราการว่างงานสูงที่สุด สูงกว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับอาชีวะ และที่สำคัญคือผู้มีความรู้จบปริญญาตรีกว่าสามหมื่นคนเป็นคนจนที่ขอรับสวัสดิการจากรัฐ นอกเหนือจากผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท และแม้กระทั่งปริญญาเอกอีกนับพันคน ที่ยื่นขอรับสวัสดิการจากรัฐ

การผลักภาระทั้งหมดให้ผู้รับการศึกษาว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถความชำนาญของแต่ละบุคคลเป็นสิ่งที่ผิวเผินเกินไป เพราะถ้าอย่างนั้น พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียนมหาวิทยาลัย และถ้าไม่ไปเรียน ทำให้เขาไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ อย่างนี้เขาโทษใครไม่ได้แน่นอน

แต่นี่เป็นเรื่องที่เขาขวนขวายไปเรียนเพื่อว่าจะได้มีความรู้ความสามารถมาประกอบวิชาชีพ แต่เมื่อจบมาแล้วกลับไม่มีงานทำ หรือมีงานทำแต่เป็นงานที่มีรายได้น้อยจนกระทั่งไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ อย่างนี้สิ่งที่เขาได้ทุ่มเทไปทั้งเวลา ทั้งเงินทุน เป็นการสูญเปล่าอย่างสิ้นเชิง โดยไม่มีใครต้องรับผิดเลยหรือ

บางที อาจต้องหันมาคิดใหม่ว่ามหาวิทยาลัยกว่าสองร้อยแห่งที่เปิดสอนขณะนี้ได้ดำเนินการอย่างรับผิดชอบในผลผลิตของตัวเองอย่างไรหรือไม่ และถ้าไม่ได้ดำเนินการอย่างมืออาชีพ ก็น่าจะต้องรับผิดในความสูญเสียทางการศึกษาด้วย ไม่ใช่ลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

ระบบความรับผิดจากการประกอบวิชาชีพโดยมิชอบ หรือที่เรียกว่า Malpractice ได้ใช้กับผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลายมานานแล้ว ไม่ว่าแพทย์ ทนายความ นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก แต่เรายังไม่เคยคิดว่าครูอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้นก็เป็นผู้มีวิชาชีพเช่นกัน

และถ้าเป็นเช่นนั้น ครูอาจารย์มหาวิทยาลัยก็อาจต้องรับผิดในฐานประพฤติมิชอบในวิชาชีพหรือ Malpractice ได้เช่นเดียวกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ

อาจจะถึงเวลาที่จะต้องมาประเมินทั้งสถาบันการศึกษาและครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษาว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพในด้านการเรียนการสอนในฐานะผู้มีวิชาชีพว่าเป็นผู้มีความสามารถ (Competency) อยู่ในมาตรฐานอย่างไรหรือไม่ และตัวชี้วัดที่สำคัญคงไม่ใช่แค่ใบปริญญาของบุคคลากร แต่เป็นความรู้ความสามารถของบัณฑิตที่จบการศึกษาจากสถาบันนั้น ที่จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ

และถ้าผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย จบมาแล้วไม่มีงานทำมากๆ หรือมีรายได้ไม่มากพอ เหมือนกับที่มหาวิทยาลัยได้โฆษณาประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้มาเรียนกับสถาบันนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงที่จะต้องมีความรับผิดด้วย