ศาสตร์พระราชา แปลงนาในวัง
ข่าวคราวความคืบหน้าการสร้างพระเมรุมาศ ยิ่งมีความคืบหน้ามากก็ยิ่งทำให้ประชาชนใจหายมากขึ้น ซึ่งช่างตรงกันข้าม
กับการรอความสำเร็จของการก่อสร้างสิ่งอื่นเสียจริงฯ ยิ่งเมื่อใกล้จะเสร็จและใกล้จะถึงวันถวายพระเพลิงก็จะยิ่งใจหายมากยิ่งขึ้น บางคนอาจถึงขั้นอยู่ในภาวะใจสลายก็เป็นได้
ในการสร้างก่อพระเมรุมาศ ที่มีความงดงามทั้งด้านสถาปัตยกรรม และด้านภูมิสถาปัตย์ อันสมพระเกียรติ์ของพ่อหลวงของประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง และที่น่าภาคภูมิใจอีกประการหนึ่งสำหรับประเทศไทยที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่มีคุณภาพดีเป็นอันดับหนึ่งของโลกมา 30 กว่าปียกเว้นช่วงที่มีการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด คือการที่กรมการข้าวร่วมกับกรมศิลปากรน้อมรำลึก พระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 จัดภูมิสถาปัตยกรรมบริเวณพระเมรุมาศ เป็นแปลงนาข้าวบนเนื้อที่หนึ่งไร่โดยกรมการข้าวระดมปลูกข้าว 58,000 กระถาง แบ่งเป็น 3 ระยะ ช่วงเป็นต้นกล้า แตกกอ และออกรวง ลดหลั่นไล่ระดับเพื่อความสวยงาม ภายในคันนารูปเลขเก้าไทย
การจัดแปลงนาในบริเวณพระเมรุมาศ ดังกล่าว เป็นการการถ่ายทอดให้เห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของชาวไทยทรงมีความผูกพันกับข้าวไทย ชาวนาไทยเป็นอย่างมากหาที่สุดมิได้. ทรงมีความห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาที่ปลูกข้าวเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศ และสามารถส่งออกเลี้ยงคนอีกเกือบครึ่งโลก และเป็นสินค้าหลักที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ความผูกพันที่พ่อหลวงมีต่อข้าวไทยและชาวนาไทย ปรากฏจากการที่พระองค์เสด็จไปเยี่ยมราษฎรชาวนาถึงแปลงนาและโรงสีชุมชนอยู่บ่อยๆ บางครั้งต้องทรงพระราชดำเนินไปตามคันนา นอกจากนี้ยังทรงมี พระราชดำรัสที่เกี่ยวกับข้าวไทยและชาวนาไทยในโอกาสต่างๆ มากมาย เช่นพระราชดำรัสที่พระราชทานแนวคิดในการทำนาและการดำรงชีวิตของชาวนา ในวโรกาสเสด็จไปทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2516
มีความตอนหนึ่งคือ “เวลานึกถึงทำไมมีข้าวมากราคาข้าวก็ตก ก็น่าจะเป็นการดีที่มีข้าวมาก พวกเราที่บริโภคข้าวก็จะได้ซื้อข้าวในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่าข้าวที่บริโภคทุกวันนี้ ราคาก็ยังแพงเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ก็ต้องหาเหตุผล ทำไมแพง ข้าวที่บริโภคแพง และข้าวที่ชาวนาขายถูก… เข้าไปหากลุ่มชาวนา ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าแย่ ข้าวราคาถูก ก็ถามเขาว่า ยุ้งฉางมีหรือเปล่าที่จะเก็บข้าว เขาบอกว่ามี ก็เลยเห็นว่าควรที่จะเก็บข้าวเอาไว้ก่อน หลังจากที่ข้าวล้นตลาด แต่ว่าไม่ทันนึกดูว่า ทำไมเขาเก็บข้าวไม่ได้ แม้จะมียุ้งฉาง ก็เพราะเขาติดหนี้ เหตุที่ติดหนี้ก็คือ เสื้อผ้าเหล่านั้นหรือกะปิ น้ำปลา หรือแม้กระทั่งข้าวสารก็ต้องบริโภค ถ้าไม่ได้ไปซื้อที่ตลาด หรือร่วมกันซื้อ ก็คงเป็นพ่อค้า หรือผู้ที่ซื้อข้าวเป็นผู้นำมา อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ข้าวถูก… อันนี้เป็นปัญหาสำคัญถ้าจะแก้ปัญหานี้ ต้องแก้ด้วยการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกันและอาจจะต้องตั้ง หรือไปตกลงกับโรงสีให้แน่ จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่ม แล้วก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วไปพยายามสีเองหรือให้ผู้แทนของตัวสี ก็ผ่านมือเพียงผู้ที่ผลิต ผู้ที่สี และผู้ที่บริโภค ก็ตัดปัญหาอันนี้ (คนกลาง) ลงไป” และพระราชทานแนวคิด เกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งทรงศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติ ตั้งแต่ปี 2532
แนวคิดคือ “ทฤษฎีใหม่เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชน มีกิน แบบตามอัตภาพ คือ อาจไม่รวยมากแต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก… หลักมีว่าแบ่งที่ดินเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และมีที่สำหรับขุดสระน้ำ"
พระราชดำรัสที่แสดงว่าพระองค์เป็นผู้ลงมือทำนาด้วยการปฏิบัติจริงมิใช่ เป็นแค่เพียงอ้างตามตำราคือพระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนา เมื่อ พฤ.ค. 2504 “ข้าพเจ้าลองและทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากอยู่มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่งที่นานั้น เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรปลูกพืชอื่นๆ บ้างเพราะ จะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป”
ตามที่พระองค์มีพระราชดำรัสว่า ลองและทำนามาบ้างคือ การที่พระองค์ใช้พื้นที่วังสวนจิตรลดา จัดทำเป็นแปลงนาทดลอง คือ ในปี พ.ศ.2504 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าว ดำเนินการจัดทำแปลงนาใน บริเวณสวนจิตรลดา และนำพันธุ์ข้าวต่างๆ มาปลูกทดลอง เพื่อทำการศึกษา โดยในครั้งแรกทรงขับรถไถนาเตรียมแปลง หว่านข้าว และทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง ปัจจุบันแปลงนาข้าวทดลอง เป็นที่ปลูกข้าวพันธุ์ดี ซึ่งส่งเสริมให้ชาวนาปลูกในภาคต่างๆ เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จากนาข้าวทดลองจะนำไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และนำไปบรรจุซองเล็กๆ จัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” แจกจ่ายให้กับพสกนิกรและเกษตรกร ทั่วประเทศ เพื่อเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพ
แปลงนาทดลองในวังของพ่อหลวงดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ที่ใช้พื้นที่วังที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นแปลงนาทดลองเพื่อการพัฒนาและคัดหาเมล็ดพันธ์ข้าว ที่ดี มีการทดลองปลูกข้าวเพื่อหาวิธีปลูกข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่ในแต่ละภูมิประเทศ เมื่อเสร็จการทำนามีการทดลองปลูกพืชเพื่อการปรับปรุงดิน จนเป็นที่กล่าวกันว่าพระราชวังสวนจิตรลดา เป็นวังแห่งเดียวในโลกที่มีแปลงนา มีคอกควาย มีโรงสี
แปลงนาทดลองในวังของพ่อหลวง เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อการส่งเสริมพัฒนาการการทำนา วิธีการทำนา การพัฒนาพันธุ์ข้าว เหนือสิ่งอื่นใดยังเป็นขวัญเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวเสริมสร้างสร้างกำลังใจต่อวงการข้าวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งจะสถิตในดวงใจของชาวนาไทย บุคคลในวงการข้าวไทย และคนไทยทุกหมู่เหล่าตราบนิจนิรันดร์