จะเก็บค่าน้ำไปทำไม
เมื่อมีข่าวว่า (ร่าง) พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... จะมีการเก็บค่าน้ำก็ทำให้สังคมไทยกระสับกระส่ายแบบแทบจะตั้งตัวไม่ติด
ในขณะที่กรมทรัพยากรน้ำพยายามอธิบายว่าทำไมต้องเก็บค่าน้ำ ท่านนายกฯ ก็สวนกลับมาว่า ไปสั่งมันตอนไหน ภายใต้ความสับสนในกลไกการทำงานของภาครัฐว่าตกลงจะเอายังไงกันแน่ระหว่างผู้นำรัฐบาลกับผู้ร่างกฎหมายน้ำ เราน่าจะหันมาดูกันว่า จะเก็บค่าน้ำไปทำไม
ที่ผ่านมา น้ำเป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน ทุกคนมีสิทธิใช้น้ำได้ ภายใต้แนวคิดนี้การใช้น้ำในประเทศไทยจึงเป็นไปตามยถากรรม ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรชัดเจน ใครอยู่ต้นน้ำก็ใช้น้ำได้ก่อน ส่วนใครอยู่ปลายน้ำก็ต้องรอน้ำที่เหลือจากต้นน้ำ บางทีคนต้นน้ำสูบน้ำไปใช้หมด คนอยู่ปลายน้ำก็อดใช้ ใครมีฐานนะทางเศรษฐกิจดีกว่ามีปั๊มน้ำตัวใหญ่กว่า มีท่อน้ำที่ใหญ่กว่าก็ใช้น้ำได้มาก ส่วนใครยากจนไม่มีปั๊มน้ำก็ต้องอดใช้น้ำ
ภายใต้สภาวะการไร้กติกาการใช้น้ำเช่นนี้เราจึงมักเห็นภาพที่น่าอนาถเมื่อเข้าฤดูแล้ง น้ำขาดแคลน คนจนมักจะไม่มีน้ำใช้ ในขณะที่เจ้าของธุรกิจรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน โรงแรม หรือสนามกอล์ฟจะมีน้ำใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้ง
การเก็บค่าน้ำเป็นกลไกหนึ่ง ที่ช่วยทำให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการใช้น้ำอย่างประหยัด ลดการใช้น้ำในกิจกรรมที่ไม่สร้างประโยชน์ เพื่อให้มีน้ำเหลือให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ แต่ที่สำคัญคือการเก็บค่าน้ำจะทำให้ภาครัฐมีรายได้จากการเก็บค่าน้ำโดยรายได้จากการเก็บค่าน้ำนี้เองสามารถนำไปใช้เพื่อการลงทุนขยายระบบชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตรมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรที่ทำการเกษตรโดยพึ่งพาน้ำฝนอีกจำนวนมากสามารถได้รับประโยชน์จากการขยายระบบชลประทาน
ที่สำคัญคือเมื่อระบบชลประทานสามารถสร้างรายได้ได้เองจากการเก็บค่าน้ำ และสามารถขยายการลงทุนได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน ส่วนงบประมาณเดิมที่รัฐเคยต้องจัดสรรเพื่อการชลประทานก็สามารถนำไปใช้เพื่อปรับโครงสร้างในภาคเกษตรกรรมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ มาเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น พืชสวนหรือผลไม้ หรือนำงบประมาณจำนวนนี้มาใช้ เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรและนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร ซึ่งเท่ากับเป็นการพัฒนาให้ภาคการเกษตรไทยก้าวสู่การเป็นเกษตร 4.0 ไปในตัว
มากไปกว่านั้น ภาครัฐได้กำหนดให้อัตราค่าน้ำเป็นอัตราก้าวหน้า คือ ให้ผู้ใช้น้ำในภาคธุรกิจจ่ายค่าน้ำในอัตราที่สูงกว่าภาคการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่ใช้น้ำเพื่อการยังชีพจะไม่ต้องจ่ายค่าน้ำเลย การกำหนดโครงสร้างค่าน้ำในลักษณะนี้เป็นการจัดวางระบบทางการคลัง เพื่อให้ผู้ใช้น้ำเชิงพาณิชย์ที่มีกำลังจ่ายสูงกว่ามีส่วนรับผิดชอบค่าน้ำมากกว่าผู้ใช้น้ำเพื่อการยังชีพ
ดังนั้นหากพิจารณาในแง่ของการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศ การเก็บค่าน้ำในอัตราที่แตกต่างกันนี้รวมถึงการนำรายได้จากการเก็บค่าน้ำมาลงทุนเพื่อขยายระบบชลประทานและการปรับโครงสร้างทางการเกษตรถึงว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร
ในส่วนของรายละเอียดของการเก็บค่าน้ำนั้น ควรมีการแยกระหว่างน้ำในฤดูแล้งและฤดูฝน การเก็บค่าน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำควรนำมาใช้เฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ประเทศมีปัญหาการขาดแคลนน้ำเท่านั้น เพื่อนำไปสู่การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนในฤดูฝนที่ประเทศมีน้ำใช้เกินพอและต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากอยู่แล้ว การเก็บค่าใช้น้ำในฤดูฝนจึงไม่ควรทำอย่างยิ่ง
สำหรับฤดูฝนหากต้องการให้การบริหารจัดน้ำมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเช่นเดียวกับการเก็บค่าน้ำในฤดูแล้ง รัฐบาลควรดำเนินการเก็บ ค่าป้องกันน้ำท่วม เนื่องจากเมื่อประเทศต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม หลักการที่ควรนำมาใช้คือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข หมายความว่าหากพื้นที่ใดทำแนวกันน้ำเพื่อป้องกันไม่ใช้น้ำเข้ามาในเขตของตน เช่น กทม. มีระบบป้องกันน้ำเหนือไม่ให้ไหลเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน กทม. ก็ควรต้องจ่ายค่าป้องกันน้ำท่วมเพื่อให้รัฐสามารถนำเงินรายได้ส่วนนี้มาจ่ายชดเชยเป็นค่าเยียวยาให้กับพื้นที่นอกคันกั้นน้ำที่ต้องรับภาระน้ำแทนคนกรุงเทพฯ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเก็บค่าน้ำนั้นเป็นนวัตกรรมทางการคลังที่จะช่วยพัฒนาภาคการเกษตรไทยให้ก้าวสู่การเป็นเกษตร 4.0 ได้เป็นอย่างดี ช่วยให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ใช้น้ำเชิงพาณิชย์รับผิดชอบจ่ายค่าน้ำมากกว่าผู้ใช้น้ำในภาคเกษตรกรรม ภาครัฐมีรายได้เพื่อนำไปใช้ในการขยายระบบชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายอื่นๆ ที่ยังมีน้ำไม่เพียงพอในฤดูแล้ง ช่วยยกระดับการพัฒนาการเกษตรไทย และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยไปในตัว
แต่จะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหากการเก็บค่าน้ำไม่สามารถดำเนินการได้
////
โดย... อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา