ดุลยภาพทางการเมือง
ระบอบการเมืองทุกลักษณะจะดำเนินไปได้อย่างติดขัดน้อยที่สุด ก็เพื่อให้สามารถเกิดการจัดการ/จัดสรรอำนาจ กลุ่มต่างๆในสังคมให้“ดุลย์“กันอย่างลงตัว
ซึ่งก็หมายความว่าแต่ละฝ่ายยอมรับกันได้ว่าอยู่กันอย่างนี้ก็ดีแล้ว คุณได้ตัดสินใจบ้าง ฉันได้ตัดสินใจบ้าง และหากเกิดความขัดแย้งขึ้นมาก็จะมีกลไกประสานทำให้ข้อขัดแย้งนั้นไม่แหลมคมจนกระทบกระเทือนฐานของผลประโยชน์ของกลุ่มทั้งหมด
“ ดุลยภาพ” ทางการเมืองจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของกระบวนการทางการเมือง
การรักษา“ ดุลยภาพ” ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มสามารถที่จะเข้ามาต่อรองเพื่อให้ผู้ครองอำนาจได้ตัดสินใจว่าจะเลือกอะไรหรือจะเลือกประนีประนอมอย่างไร และในท้ายที่สุดการประคองให้ “ ดุลยภาพ” ทางการเมืองดำเนินต่อไปได้ ก็คือ การจำกัดเวลาของการครองอำนาจ เพื่อที่ให้ทุกฝ่าย/ทุกกลุ่มได้ทบทวนและจัดการกระบวนการตัดสินใจเลือกของกลุ่มตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากที่สุด ในสมัยจารีตก็จะเป็นการเปลี่ยนตัวผู้ปกครอง
“ ดลุยภาพ” ทางการเมืองของสังคมไทยก่อนหน้าเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นการจัดสรรอำนาจเฉพาะภายในกลุ่มชนชั้นนำให้ลงตัวเท่านั้นไม่เกี่ยวอะไรกับประชาชน แต่การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาและประชาชนในช่วงหลัง ๒๕๑๖ ได้ทำให้กลุ่มชนชั้นนำต้องปรับตัวผนึกกันเป็นกลุ่มก้อนที่เหนียวแน่น ( อาจจะเรียกได้ว่าได้กลายเป็น “ ชนชั้น” ผู้ปกครองอย่างแท้จริง) และได้สร้าง “ ดุลยภาพ” ทางการเมืองลักษณะใหม่ขึ้นมาที่จะต้องผนวกเอา “ ประชาชน/พลเมือง” เข้ามามีส่วนตัดสินใจโดยผ่านพรรคการเมือง
ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่สถาปนาขึ้นมาในทศวรรษ ๒๕๒๐ จึงไม่ใช่ความปรารถนาของชนชั้นนำบางกลุ่มเท่านั้น หากแต่เป็นความเห็นชอบร่วมกันของ “ ชนชั้นนำ” ทุกกลุ่มในสังคมไทยในการสร้างระบอบการเมืองที่มีการจัดสรรอำนาจกันระหว่างกลุ่มทุน กลุ่มราชการ และพรรคการเมือง โดยที่พรรคการเมืองก็ทำหน้าที่ “ตัวแทน” ประชาชนผ่านการเลือกตั้ง และที่น่าสนใจมาก ก็คือ พรรคการเมืองถูกทำให้เป็น “ตัวแทน” ประชาชนเฉพาะพื้นที่การเลือกตั้งเท่านั้นไม่ใช่ตัวแทนของ “พลเมือง”ทั้งหมด
การเมืองระหว่างสามกลุ่มนี้จะถูกทำให้มี “ ดุลยภาพ” ภายใต้การตัดสินใจของกลุ่มอำนาจอีกกลุ่มหนึ่งที่ลอยอยู่เหนือการเป็น “ตัวแทนอย่างชัดเจนหรือโดยตรง” อย่างที่กลุ่มการเมืองสามกลุ่มได้สังกัด
การสถาปนา “ ดุลยภาพทางการเมือง” แบบประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ทำให้ “ชนชั้นนำ” ทุกกลุ่มยอมรับเพราะสามารถเข้าไปต่อรองเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากมาย ขณะเดียวกัน “พลเมือง” เฉพาะพื้นที่ก็ได้รับผลประโยชน์มากขึ้นหากตัวแทนของตนมีอำนาจในพรรคการเมือง ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี
แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลังทศวรรษ ๒๕๔๐ นั้นได้เปลี่ยนแปลง “ฐาน” ของกลุ่มต่างๆในสังคมไทยไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ กล่าวคือ กลุ่มทุนเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น กลุ่มทุนใหม่บางกลุ่มที่สามารถเติบโตขึ้นมาได้โดยไม่ต้องแอบอิงกับอำนาจรัฐแต่ก็รับรู้อยู่ว่าการเข้าสู่การเมืองจะเอื้อให้กลุ่มของเขาเข้มแข็งขึ้นจึงเริ่มพยายามเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น กลุ่มราชการกลับเป็นกลุ่มที่อ่อนแอมากขึ้น เพราะท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้ไม่สามารถธำรงความเป็นผู้นำทางปัญญาได้อีกต่อไป กลุ่มอำนาจทางวัฒนธรรมก็อ่อนแรงลงมาก
กลุ่มที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด ได้แก่ ประชาชน/พลเมือง เพราะพวกเขาได้เชื่อมโยงชีวิตความเป็นอยู่/การทำมาหากินของตนเองกับสังคมไทยทั้งหมด ทำให้พวกเขาไม่พอใจกับการเป็น “ พลเมืองเฉพาะพื้นที่” อีกต่อไป พวกเขานิยามตนเองใหม่ว่าทั้งหมด คือ “ พลเมืองของรัฐไทย “ ดังจะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวทางด้านนโยบายเพิ่มมากขึ้นหลังทศวรรษ ๒๕๔๐
การก้าวข้ามความสำนึก “ พลเมืองเฉพาะพื้นที่” มาสู่ “ พลเมืองของรัฐไทย” ได้กลายเป็นพลังทางการเมืองสำคัญที่ก่อให้เกิดความตึงเตรียดใน “ ดุลยภาพ”ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบที่สืบทอดมา จนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของพลเมือง (เดินขบวนใหญ่) ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาและนำมาสู่ความพยายามผลักให้ระบอบการเมืองกลับไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบอีกผ่านการรัฐประหารสองครั้งหลัง และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้
เมื่อกระแสทางสังคมเริ่มเรียกร้องให้กลับคืนสู่การเมืองระบอบประชาธิปไตยโดยให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด นายกรัฐมนตรีก็จำเป็นที่จะต้องตอบต่อการเรียกร้องดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากการประกาศเวลาอย่างกว้างๆและไม่ชัดเจนถึงกำหนดการเลือกตั้งซึ่งก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่กำลังอึดอัดกับความคลุมเครือรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเล็กน้อย
แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะทำให้สังคมรู้สึกว่า “ อีกไม่นาน” ก็จะกลับเข้าสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันก็ได้ตั้งคำถามให้สังคมคิดว่าการเลือกตั้ง/การเมืองระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร และเมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของคณะรัฐประหารแล้วเป็นอย่างไร
แกนกลางทางความคิดที่อยู่ในหกคำถามคือความเชื่อของนายกรัฐมนตรี ( และชนชั้นกลางจำนวนหนึง ) ว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเก่านั้นไม่ได้ทำเพื่อชาติและสังคม แต่กลุ่มของคณะรัฐประหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงไม่ต้องผูกกับนโยบายหาเสียงเฉพาะกลุ่มได้ทำอะไรเพื่อสังคมโดยรวม ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่มตามที่หาเสียงไว้ และนายกรัฐมนตรก็ถามตรงๆว่าหากคณะรัฐประหารจะสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น ผิดตรงไหน
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็คือ การหวนกลับไปหา “ ดุลยภาพ” ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งต้องเตือนกันในที่นี้ว่ามันเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะหากมีการเลือกตั้งเมือใด เสียงของ “ พลเมืองของรัฐไทย” ก็จะกำกับให้พรรคการเมืองที่หวังจะได้อำนาจต้องขยับนโยบายให้พ้นจากผลประโยชน์เฉพาะพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ “ ดุลยภาพ” ที่ชนชั้นนำพยายามวางเอาไว้อย่างแน่นอน
ความขัดแย้งทางการเมืองรออยู่ข้างหน้า หากชนชั้นนำมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นและไม่พยายามปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง คงต้องช่วยกันภาวนาให้ “ชนชั้นนำ” มีสายตากว้างไกลนะครับ