Made in China 2025 แผนรุกด้วยนวัตกรรมจีน
เมื่อจีนประกาศแผนยุทธศาสตร์ชาติที่เรียกว่า “Made in China 2025” ในปี 2015 เพื่อผลักดันประเทศจากการเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการผลิต
ไปเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมและการผลิตของโลกใน 10 ปีข้างหน้า
รัฐบาลจีนได้มุ่งความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม การประสานเทคโนโลยีเข้าในกระบวนการอุตสาหกรรม การเป็นฐานการผลิตที่ความแข็งแกร่ง และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ของจีน รวมถึงการผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม อันได้แก่ กลุ่มนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มเครื่องจักร NC และหุ่นยนต์ กลุ่มวิศวกรรมอากาศยานและอวกาศ กลุ่มวิศวกรรมสมุทรศาสตร์และการต่อเรือ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟ กลุ่มรถยนต์ประหยัดพลังงาน กลุ่มอุปกรณ์พลังงาน กลุ่มการวิจัยและพัฒนาวัตถุหรือธาตุใหม่ กลุ่มอุปกรณ์การแพทย์และยา และกลุ่มเครื่องจักรการเกษตร ตลอดจนธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการด้านอุตสาหกรรม
แผนยุทธศาสตร์ในครั้งนี้เพื่อผลักด้นให้จีนก้าวพ้นจากการเป็นแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกและใช้แรงงานคนในการผลิต ไปเป็นผู้นำอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมการผลิตแบบสมาร์ทแฟคเตอรี่ (Smart Factory) ที่สายการผลิตสามารถเชื่อมต่อถึงกันเพื่อความทัดเทียมกับประเทศผู้นำอุตสาหกรรมรายอื่น อาทิ เยอรมัน ซึ่งเป็นผู้นำเรื่อง “Industry 4.0” และสหรัฐซึ่งเป็นผู้ริเริ่มเทคโนโลยีด้าน “Industrial Internet” รวมถึงญี่ปุ่นผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ให้กับจีนในขณะนี้
นับเป็นเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับจีน เนื่องจากปัจจุบันสายผลิตที่ทันสมัยของจีน ยังคงใช้แรงงานทำงานอยู่ด้วย โดยจีนคาดว่าในปี 2049 จะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิตและอุตสาหกรรมของโลก เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและลดความยากจนของประชากร
เริ่มจากหุ่นยนต์
ประเทศจีนนับเป็นประเทศที่มีการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากที่สุดและเพิ่มจำนวนเร็วที่สุดในโลก ในปี 2016 ติดตั้งหุ่นยนต์ถึง 87,000 ชุดเพิ่มขึ้น 27% จากปี 2015 โดยจีนมีหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมรวมกว่า 340,000 ชุด นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนเร่งเครื่องที่จะเป็นประเทศผู้ผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศและเพื่อจำหน่ายไปยังต่างประเทศ ประมาณมูลค่าตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมโดยรวมของจีนในปี 2017 อาจสูงถึง 4,220 ล้านดอลลาร์หรือเท่ากับหุ่นยนต์ใหม่ 110,000 ชุด
ผู้นำจีนได้เริ่มผลักดันแผน Made in China 2025 โดยส่งเสริมการพัฒนาและใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตด้วยการสนับสนุนบริษัทกว่า 1,000 บริษัทและก่อตั้งหน่วยงาน CRIA (China Robot Industry Alliance) นอกจากนี้จีนยังส่งเสริมและลงทุนในงานวิจัยด้วยการริเริ่มศูนย์นวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม (Manufacturing Innovation centers) เพื่อการพัฒนาและการผลิตในประเทศ โดยปี 2020 จะเปิดศูนย์ 15 แห่งและเพิ่มเป็น 40 แห่งในปี 2025
นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังได้ประกาศแผน 5 ปี “The Robotics Industry Development Plan” เพื่อเพิ่มสัดส่วนตลาดหุ่นยนต์จากผู้ผลิตในจีนให้สูงขึ้นกว่า 50% หรือเท่ากับ 100,000 ชุดในปี 2020 มุ่งเอาชนะคู่แข่งอย่างญี่ปุ่น เยอรมันและสหรัฐ แต่ถึงกระนั้นสัดส่วนการใช้หุ่นยนต์ของจีนอยู่ที่ 49 ชุดต่อคนงาน 10,000 คน ซึ่งนับว่ายังน้อยกว่าในสหรัฐที่จำนวน 176 และเยอรมันที่ 301 โดยสูงสุดคือประเทศเกาหลีที่ใช้หุ่นยนต์ 531 ชุดต่อคนแรง 10,000 คน
ผลักดันต่อเนื่อง
หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีรายงานว่านวัตกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลได้แก่ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ เครื่องใช้ในครัวเรือนที่สมาร์ทและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย โดยรัฐบาลกลางของจีนได้จัดเงินทุนสนับสนุนถึง 10,000 ล้านหยวนหรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และยังมีเงินสนับสนุนที่จัดให้ในระดับมณฑลอีกกว่า 10,000 ล้านหยวนในระหว่างปี 2016-2020 เช่นเดียวกันกับที่ธนาคาร China Development Bank ได้จัดสรรการสนับสนุนเงินทุนกว่า 300,000 ล้านหยวนในลักษณะของเงินกู้ พันธบัตรและลิสซิ่งกับโครงการขนาดใหญ่
นอกจากอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์แล้ว รัฐบาลจีนยังผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมหลัก เช่น รถไฟความเร็วสูงและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เป็นต้น โดยอุตสาหกรรมรถไฟของจีนแสดงศักยภาพที่เด่นชัดโดยการสร้างรายได้ถึง 243,700 ล้านหยวนและผลกำไรกว่า 16,300 ล้านหยวนในปี 2015 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ถือเป็นหัวแรงใหญ่ที่ช่วยสร้างโมเมนตัมให้กับนวัตกรรมอื่นอย่าง AI อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
ความท้าทายบนทางสายไหม
แผนยุทธศาสตร์และการสนับสนุนของรัฐบาลจีนได้ทำให้อุตสาหกรรมของจีนเบ่งบานก้าวกระโดด แต่การแข่งขันที่เข้มข้นจากทั้งภายในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ความคิดใหม่ด้านนวัตกรรม (Innovation) นโยบายด้านอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีกระบวนการผลิตที่ยังเป็นรองประเทศอย่างเยอรมัน ญี่ปุ่นหรือสหรัฐ ทำให้จีนต้องผ่านบททดสอบอีกมากเพื่อก้าวขึ้นสู่ระดับผู้นำและเป็นทางเลือกให้กับอุตสาหกรรม
สำหรับธุรกิจไทย ความแข็งแกร่งทางอุตสาหกรรมของจีนอาจเป็นทั้งคุณหรือโทษ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงต้องพร้อมรับมือกับนวัตกรรมและการแข่งขันที่ขยับใกล้เข้ามาทุกขณะ