1968 : ปีเปลี่ยนโลก
หากนึกถึงช่วงจังหวะของความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ในโลก คนจำนวนมาก อาจจะไม่นึกถึง ปี ค.ศ 1968 หลายคนคงจะลืมความหมายและความสำคัญของปีนี้ไปแล้ว
เพราะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ก็ได้ทำให้เราได้พบได้เห็นอะไรที่แปรเปลี่ยนไปมากมายจนอดีตหลายส่วนได้หลุดจากไปจากความทรงจำ
แม้ว่าโลกปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปจากปี 1968 อย่างมาก ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนในโลกวันนี้ ได้ยืนอยู่บนฐานที่สำคัญอันมาจากเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเมื่อ 49-50 ปีก่อน แม้ในกลุ่มชนชั้นนำไทยปัจจุบัน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีอายุระหว่าง 60-70 ปี ) ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลและผลกระทบจากเวลาของอดีตนี้ทั้งสิ้น
คำถามที่ต้องอธิบาย คือ เกิดอะไรขึ้นในปี 1968
ภายหลังจากสงครามโลกยุติลง แม้โลกจะตกอยู่ในสภาวะความหวาดกลัวต่อ “สงครามเย็น” ที่ได้เริ่มต้นก่อตัวขึ้นมา แต่ในอีกด้านหนึ่ง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกเสรีก็ได้สร้าง “ความหวัง”ชุดใหม่ให้แก่ผู้คน โดยเฉพาะในสหรัฐ และยุโรป ซึ่งเป็นความหวัง ที่จะมีโอกาสเลื่อนสถานะเปลี่ยนแปลงชนชั้นของตนเอง
การไหลเข้าสู่เมืองเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง คนยากจนที่เข้าไปเสี่ยงตายด้วยการเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คืนสู่สังคมด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า ตนและลูกหลานจะได้โอกาสของชีวิตที่ดีขึ้น
สภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างคนกลุ่มใหม่ ที่ได้เหมือนว่าจะได้โอกาสของชีวิตกว้างขวางมากขึ้น กับความเป็นจริงของสถาบันอนุรักษ์นิยมที่ไม่ได้ถูกทำลายไปพร้อมกับสงคราม เห็นได้ชัดเจนจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้เกิดความต้องการการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น
แต่รัฐในยุโรปกลับไม่สามารถเพิ่มมหาวิทยาลัยได้ทันความต้องการของผู้คน มิหนำซ้ำ มหาวิทยาลัยเดิมก็ยังคงปกครอง และสอนนักศึกษาด้วยกรอบความคิดแบบเก่าๆ ยังคง กีดกันประชาชนคนชั้นล่าง ไม่ให้เข้ามามีชีวิตนักศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น
ความหวังที่เกิดขึ้นจากความเชื่อในความเสมอภาค กลับถูกหักหลังจากความพยายามรักษาสถานะเดิมของกลุ่มชนชั้นสูง ที่สืบเนื่องความเป็นชนชั้นมาตั้งแต่ก่อนสงคราม จึงทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นนั้น มีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่อสถาบันสถาปนา( Establishment ) ทั้งหลาย
พวกเขาแสวงหา และพบทางเลือกในการต่อสู้กับสถาบันสถาปนา อันได้แก่ ความคิดฝ่ายซ้าย ไม่ว่าจะเป็นเหมาอิสต์ เลนินนิสต์ หรือ ทรอสกี้ยิสต์ งานเขียนของนักคิดฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่งได้ถูกหยิบมาศึกษา เช่น งานเขียนของโรซ่า ลักเซมเบอร์ก
พร้อมไปกับการสมาทานความคิดฝ่ายซ้าย การขับเคี่ยวกับระหว่าง โลกเสรี ( สหรัฐ) และ โลกคอมมิวนิสต์ ( รัสเซีย/จีน) ก็ส่งผลต่อกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นนั้นอย่างมาก
ในด้านหนึ่ง พวกเขาต่อต้านสงครามเวียตนามที่สหรัฐเป็นผู้นำ (ขบวนการคนหนุ่มสาว/นักศึกษาในเยอรมนีเปรียบเทียบ US=SS ) อีกด้านหนึ่ง การรุกรานประเทศเชคโกสโลวาเกียของรัสเซีย ก็ทำให้คนหนุ่มสาวไม่สามารถรับความคิดฝ่ายซ้ายแบบสตาลินผู้นำรัสเซียในขณะนั้นได้ หมายความว่าพวกเขาได้หลุดออกจากกรอบคิดมหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่าย และสามารถสร้างความคิดชุดใหม่ได้
การต่อต้านกระแสอนุรักษ์นิยมและการต่อต้านทุกอย่างที่เป็นของสถาบันสถาปนา (Establishment )เกิดการปะทุขึ้นทั่วทั้งยุโรป และสหรัฐ
กลุ่มคนหนุ่มสาวและนักศึกษาในฝรั่งเศสได้รับความร่วมมือในการประท้วงจากกลุ่มแรงงานอย่างกว้างขวาง ในเยอรมนีก็เช่นเดียวกัน ที่มีความร่วมมือกันระหว่างนักศึกษากับผู้ใช้แรงงาน
ส่วนในสหรัฐ การเคลื่อนไหวของคนผิวดำในนามของการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง (Civil rights movement) ก็เกิดขึ้นร่วมไปกับการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียตนาม
การเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การระดมคนเดินขบวน/การยึดเมือง ( เช่น ปารีส) อาจจะกินเวลาไม่นานมากนัก รวมไปถึงว่าผลลัพท์ทางการเมืองในหลายประเทศก็เรียกได้ว่าล้มเหลว เช่น การเลือกตั้งในประเทศฝรั่งเศสหลังการประท้วงก็ยังคงเป็นชนชั้นนำเดิม แต่ผลจากการเคลื่อนไหวในช่วงนี้ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมอย่างไพศาลที่ส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
การต่อสู้กับสถาบันสถาปนา Establishment ในปี 1968 ได้ทำให้อำนาจที่ครั้งหนึ่งจำกัดตัวอยู่กับชนชั้นนำเท่านั้น ก็ได้กระจัดกระจายมากขึ้น กลุ่มคนผู้ไม่เคยมีเสียง ไม่เคยมีพื้นที่ในสังคมสามารถแสดงตัวขึ้นอย่างเท่าเทียมมากขึ้น
กลุ่มผู้หญิงสามารถรวมตัวกันและสร้างพลังความเป็นหญิงได้อย่างเข้มแข็งและกว้างขวาง กลุ่มเพศที่สามได้ก้าวข้ามพรมแดนของมายาคติทางเพศ กลุ่มชนชั้นล่างได้ใช้สิทธิความเป็นพลเมืองต่อรองกับรัฐอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ที่สำคัญ การต่อสู้กับสถาบันสถาปนาของคนหนุ่มสาวในวันนั้นได้ทำให้เกิดกระบวนการสร้าง“ความรู้ชุดใหม่” ที่มุ่งเน้นการ “ คืนการตัดสินใจ” ให้แก่ผู้คนและสังคม อันได้แก่ การตั้งคำถามและข้อสงสัยกับ “ความรู้และความจริง” ที่สถาบันสถาปนา Establishment สร้างขึ้น (และทำให้ผู้คนเชื่อว่าเป็นความรู้ความจริงอย่างสมบูรณ์) ว่าเป็นเพียง “ ความรู้/ความจริง” ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับอำนาจของสถาบันสถาปนาทั้งสิ้น
อำนาจที่ผูกขาดการอธิบาย “ความรู้/ความจริง” ได้เสื่อมสลายลงไป
ในวันนี้ แม้ว่าการหวนคืนสู่อำนาจของฝ่ายสถาบันสถาปนาจะปรากฏขึ้นในหลายพื้นที่ แต่เชื่อว่าไม่สามารถที่จะจรรโลงไปได้นานสักเท่าใด เพราะสังคมโลกได้ก้าวมาไกลเกินกว่าที่จะหวนกลับครับ