ยาพิษจากแป้งเด็ก

ยาพิษจากแป้งเด็ก

กลิ่นแป้งเด็กปนกลิ่นกายทารกสร้างความรู้สึกอ่อนโยนเพราะมันช่างเป็นกลิ่นที่ ‘น่ารัก’ เสียนี่กระไร

อย่างไรก็ดี สิ่งไร้เดียงสาที่มนุษย์ชื่นชอบมานานนี้อาจจะต้องหมดไปเพราะความกังวล เนื่องจากปัจจุบันมีงานวิจัยพบว่าฝุ่นแป้งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งได้ โดยเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้หญิงชนะคดีในสหรัฐจากเรื่องนี้ ได้รับเงินชดเชยนับล้านดอลลาร์

เมื่อปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา คณะลูกขุนของศาลรัฐแคลิฟอร์เนีย ตัดสินให้บริษัทผลิตแป้งเด็ก Johnson&Johnsonจ่ายเงินชดเชยให้หญิงเป็นมะเร็งในมดลูกมูลค่า 471 ล้านดอลลาร์ ในกรณีฟ้องร้องที่โจทก์อ้างว่า talc (หรือ talcum เป็นวัสดุคล้ายดินมีชื่อเรียกว่า hydratedmagnesium silicate) ซึ่งเป็นสารหลักของฝุ่นแป้งเด็กทำให้เธอเป็นมะเร็งมดลูก หลังจากใช้มายาวนานเพื่อความสะอาดของร่างกายโดยเฉพาะในที่ลับ

โจทก์คือนางEva Echeverriaด้รับเงินก้อนใหญ่สุดจากคดีนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายคดีที่Johnson & Johnsonถูกฟ้องอยู่ในขณะนี้ 

ในคำอ้างเรื่องการก่อให้เกิดมะเร็งของแป้งเด็กต่อศาลนั้น ประเด็นของเธอก็คือบริษัทมิได้เตือนผู้บริโภคอย่างเพียงพอ ในเรื่องที่ talcum powder อาจก่อให้เกิดมะเร็ง เธออ้างว่าใช้สินค้านี้ทุกวันตั้งแต่เมื่อทศวรรษ 50 รวมกว่า 50 ปี และพบว่าป่วยเป็นมะเร็งดังกล่าวในปี 2007

คณะลูกขุนซึ่งเป็นผู้ตัดสินระบุว่า 68 ล้านดอลลาร์ คือ ส่วนที่เป็นเงินชดเชยเธอจากความสูญเสีย ซึ่งไม่อาจนำกลับคืนมาได้ และความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น(compensatory damages) ส่วนที่เหลือคือการลงโทษเพื่อป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก (punitive damages)

ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะวิ่งไปหยิบแป้งกระป๋องเด็ก Johnson&Johnson โยนทิ้ง ข้อมูลต่อไปนี้อาจเป็นวัตถุดิบให้ท่านตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับนิสัยที่เคยชินกับการใช้แป้งกระป๋อง (ไม่ว่ายี่ห้อไหนทั้งนั้น)

Talcum powder มาจาก talc วัสดุธรรมชาติซึ่งประกอบด้วย magnesium / silicon / และoxygen เมื่อป่นเป็นฝุ่นและบรรจุเป็นแป้งกระป๋องก็จะช่วยดูดซับความชื้นได้ดี ลดการเสียดสี ทำให้ผิวแห้ง และป้องกันมิให้เกิดผื่น ฝุ่นนี้ใช้เป็นแป้งเครื่องสำอางด้วยตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่นๆ มิใช่เพียงแป้งเด็กเท่านั้น

ในสภาวะธรรมชาติ talc ในบางแหล่งมี ใยหิน (asbestos)ซึ่งเป็นสารที่วงการวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นสารก่อมะเร็ง(carcinogenic)ในปอดเมื่อหายใจเข้าไปปนอยู่ด้วย ผู้ผลิตแป้งกระป๋องทั้งหลายจึงประกาศว่าใช้ talc ที่มั่นใจว่าไม่มีใยหินปน 

ข้อมูลจากThe American Cancer Society ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ talcum ทั้งหมดที่ใช้ในบ้านในสหรัฐปลอดใยหินมาตั้งแต่ทศวรรษ 70

อย่างไรก็ดี จากการทดลองกับหนูหลายพันธุ์ในห้องทดลอง โดยให้สัมผัสกับ talc ที่ไร้ใยหินในลักษณะต่างๆ ก็พบว่า บางการทดลองก่อให้เกิดเนื้องอก และบางการทดลองก็ไม่มีผล

ผลการทดลองเช่นนี้จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่า talc ที่ไร้ใยหินจะก่อให้ผลเสียกับหนูหรือแม้แต่มนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงสภาพที่แตกต่างระหว่างห้องทดลองกับสภาพโลกที่เป็นจริง และระหว่างความเป็นหนูกับคน

ในเรื่องการศึกษาว่าแป้งฝุ่นที่ขายกันอยู่นั้นก่อให้เกิดมะเร็งมดลูกหรือไม่นั้น ผลจากการทดลองก็ไม่ชัดเจน กล่าวคือบางการทดลองพบว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงขึ้นเล็กน้อยในการเป็นมะเร็งในมดลูก บางการทดลองก็พบว่าไม่มีผล ดังนั้นจึงไม่อาจตอบได้อย่างชัดแจ้งว่าก่อให้เกิดมะเร็งในมดลูกหรือไม่

การตัดสินของศาลดังกล่าวก็ยังไม่จบลง จะต้องมีการต่อสู้กันไปอีกนานจากการอุทธรณ์ และยังมีอีกหลายคดีในลักษณะเดียวกันที่รออยู่ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นหนังยาว ซึ่งระหว่างนี้ผู้บริโภคต้องตัดสินใจเองว่าจะใช้แป้งกระป๋องต่อไปหรือไม่โดยเฉพาะใช้ทาในบริเวณอวัยวะเพศ

ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กในปัจจุบันต่างยืนยันว่าใช้ talc ซึ่งปราศจากใยหินเหมือนดังที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคจะต้องพิจารณาเองว่ามีความจริงมากน้อยเพียงใด 

ในสหรัฐนั้นมีความเข้มข้นในกฎเกณฑ์การผลิตกว่าประเทศทั้งหลายเป็นอันมาก talc ที่ปราศจากใยหินจึงน่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ำในการเป็นมะเร็งในมดลูก ในปอด หรือแม้แต่ต่อมลูกหมาก ซึ่งชายจำนวนมากใส่ในร่มผ้าอย่างสนุกมายาวนานโดยไม่ตระหนักว่ามันสามารถเข้าไปทางทวารหนัก ซึ่งเชื่อมต่อไปถึงต่อมลูกหมากได้

การกลัวว่าแป้งเด็กจะก่อให้เกิดความเสี่ยง(ไม่ว่าฝุ่นแป้งจะมีใยหินปนอยู่หรือไม่ก็ตาม)หมดไป เพราะในปัจจุบันแพทย์และโรงพยาบาลทั้งหลายไม่แนะนำให้ใช้แป้งเด็กอีกต่อไป ถึงจะไม่มีโทษเรื่องมะเร็งแต่ผลทางลบที่เบาที่สุดที่อาจเกิดขึ้นก็คือฝุ่นเข้าไปในปอดเด็กโดยไม่จำเป็นเพราะพ่อแม่บางรายไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ

เพื่อความสบายใจของสุภาพสตรีที่ใช้แป้งในการแต่งหน้า ยังไม่มีหลักฐานที่ระบุได้ว่าแป้งก่อให้เกิดมะเร็ง บริษัทผลิตสินค้าเพื่อความงามตลอดจนผลิตแป้งกระป๋องเด็กต่างพยายามให้ความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าแป้งที่ใช้นั้นปราศจากใยหิน

องค์กรชื่อThe International Agency for Research on Cancer (IARC)ซึ่งเป็น ส่วนหนึ่งของWHO(World Health Organization)ให้คำแนะนำว่าถึงแม้จะมีหลักฐานจำกัดจากการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างฝุ่นแป้ง talc กับมะเร็งในมดลูกแต่ก็ระบุว่าแป้งที่ใช้ทาในบริเวณอวัยวะเพศอาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ได้ (“possibly carcinogenic to humans”)

การตัดสินใจใช้แป้งกระป๋องทาตัวโดยเฉพาะในบริเวณอวัยวะเพศนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ตัดสินใจแทนกันไม่ได้ เพราะเรื่องลึกลับและลึกซึ้งเช่นนี้เจ้าของเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ตอบได้ 

 สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักในการตัดสินใจก็คือมนุษย์มักเป็นทาสของความเคยชิน ดังนั้นจึงไม่สมควรให้ความเคยชินมาครอบงำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้นใหม่ๆ เป็นอันขาด