ในโลกนี้ยังมี “ คนดี” อยู่
ผมทอดทิ้งการเขียนถึงงานวรรณกรรมมานานมากแล้ว เพราะอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน
เท่าที่จำได้ งานชิ้นสุดท้ายที่เขียนถึงวรรณกรรมโดยตรง ก็น่าจะเป็นการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ต่อหนังสือรวมเล่มบทกวีของ “แรคำ ประโดยคำ” เรื่อง “ในเวลา” ที่ได้รางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งก็เป็นเวลาเกือบยี่สิบปีมาแล้ว
แต่การที่นักเขียนอายุน้อยเป็นคนรุ่นใหม่ (น่าจะอายุน้อยที่สุด) ได้รับรางวัลซีไรต์ในปีนี้ ได้กระตุ้นให้ผมกลับมาอ่าน คิด และเขียนถึงวรรณกรรมอีกครั้งหนึ่ง เพราะผมอยากจะรู้ว่าคนรุ่นนี้คิดอะไร มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร และการตัดสินให้รางวัลของคณะกรรมการนั้น มีความสอดคล้องทางความคิด และอารมณ์ความรู้สึกแบบไหนในสังคมไทย
หากจะสรุปกรอบความคิดของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ในการเขียนเรื่องสั้นรวมเล่มชื่อว่า “สิงโตนอกคอก” ให้สั้นและกระชับที่สุด ก็คือ ความเชื่อที่ว่าในโลกนี้ยังมี “คนดี” อยู่ และ “ คนดี “ นี่แหละทำให้เราทุกคนยังมีความหวัง ว่าในโลกที่เลวร้ายนี้ไม่ได้เลวร้ายจนกระทั่งเราอยู่ไม่ได้
เจ้าเมือง “มอเดร็ด“ที่ตัดสินใจเผาหนังสือเพื่อให้ผู้คนในเมืองได้รอดพ้นจากความหนาวเย็นในปีที่โหดร้าย ก็ยอมรับการกล่าวโทษจากชาวเมืองว่าเขาเป็นคนทำลายความรู้
จิดานันท์ ได้สะท้อนความรู้สึกรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าเมืองผ่านห้วงคำนึงของลูกชายว่า “จะบาปหนักแค่ไหนพ่อก็จะรับเอาไว้ทั้งหมดเอง”
การตั้งคำถามกับการควบคุมมนุษย์ด้วยไพ่ ที่จะกลายเป็นสีดำทันทีที่ถูกหาว่า “ทำผิด” ก็ทำให้เรารู้สึกว่าแม้แต่ในโลกที่ถูกควบคุมก็ยังคงมีคนที่สงสัย และอยากจะตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (เรื่อง “ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี”)
ความรัก ถูกนำเสนอให้เป็นรากของความเป็นมนุษย์ที่มีค่า แม้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล้ำยุคก็ยังรับรากฐานที่ดียิ่งนี้ไว้ (เรื่อง “โอนถ่ายความเป็นมนุษย์”)
“ผม” ตัดสินใจที่จะเดินทางไปกับรถไฟที่ไม่รู้ต้นทาง-ปลายทาง เพื่อจะแสวงหาทางดับทุกข์ตาม “สิทธา” ที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว (เรื่อง “รถไฟเที่ยงคืน )
การให้คำอธิบายกับความประพฤติของผู้ชายที่มีความสัมพันธ์กับหญิงหลายคน ด้วยบันทึกจากพ่อว่าชะตากรรม/ชะตาชีวิตที่ถูกกำหนดมาแล้ว คนไม่ได้เลวเพราะสังคม (เรื่อง “อดิมกับลลิธ”) การเสียสละของพี่สาวของ “ผม” ในการต่อสู้กับการปกครองของหุ่นยนต์ ด้วยการฆ่ารัฐมนตรีตัวแทนของหุ่นยนต์ ซึ่งนำมาสู่ความหวังที่จะมีคนดีต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ (เรื่อง “ซินเดอเรลล่าแห่งเมืองหุ่นยนต์”)
บันทึกของเซทที่เล่าให้ฟังถึงความเป็นจริงของ “ วัล” ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพเจ้าว่า ในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น (เรื่อง “กุหลาบย้อมสี”)
“ผม” ในเรื่อง “สมาชิกในหลุมหลบภัย” ตั้งคำถามกับการควบคุมให้ทุกคนอยู่ในบ้านหลบภัยของพ่อ และท้ายที่สุดก็ได้นำให้ครอบครัวออกมาจากที่จำกัดนั้น
ในเรื่องสุดท้ายที่เป็นเสมือนการขมวดปมทางความคิดของจิดานนท์เอาไว้ เป็นการต่อสู้ของกลุ่มที่มีสีของนัยน์ตาดำขาวต่างกันนั้นไม่ได้เลวร้ายทุกมิติ เพราะในความเป็นมนุษย์ก็ทำให้ “แซคคารี” คนตาดำแสดงความเป็นมนุษย์และไม่ฆ่าเพื่อนคนตาขาวโดยเชื่อมโยงกลับไปสู่ครู และนิทานที่เน้นให้สิงโตไม่ฆ่าแกะ และนำแกะกลับไปสู่ฝูง เพื่อชี้ให้รู้สึกว่าแม้สิงโต และเพื่อนตาดำ ก็ไม่ได้ร้ายกาจจนหลงลืมด้านดีของการอยู่ร่วมกันเยี่ยงมนุษย์ (เรื่อง “สิงโตนอกคอก”)
กรอบคิดหลักที่เสนอให้ผู้อ่านหวังไว้ว่า “ในโลกนี้ ยังมีคนดีอยู่”
“คนดี” คือใคร
“คนดี” ก็คือคนที่ยอมเสียสละตัวเองเพื่อประโยชน์สุขของผู้คน “คนดี” คือ คนที่พยายามนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากการกำกับ/จำกัดพรมแดนแห่งความเป็นมนุษย์ และ “คนดี” ย่อมไม่ยอมสยบต่อการครอบงำทั้งหมด แต่พยายามหาช่องเล็กช่องน้อยเพื่อช่วยเหลือคนอื่น
“ คนดี” เหล่านี้ คือ ผู้ที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่าแม้โลกจะโหดร้ายแต่ก็ไม่ควรสิ้นหวัง เพราะน่าจะมีคนดีแบบนี้อยู่ตรงไหนสักที่หนึ่ง
ผมจึงไม่แปลกใจเลยแม้แต่น้อยว่าทำไมหนังสือเล่มนี้จึงได้รับการคัดเลือก เพราะวิธีคิดเช่นนี้เป็นความคิดหลักของสังคมไทย
เราถูกทำให้เชื่ออย่างสนิทใจว่าที่สังคมไทยดำเนินมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะเรายังมี “คนดี” อยู่ เราสร้างคำอธิบายไว้ทำนองว่า “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี” การสืบทอดความคิดชุดนี้มีพลังอย่างมากในการกำกับความคิดของคนในสังคมไทยแม้กระทั่งจิดานันท์ซึ่งเป็นคนรุ่นหลังก็ยังคงถูก “ฝัง” (embedded) ไว้ด้วยชุดความหวังนี้
กรอบความคิดนี้ไม่ผิดหรอกครับ แต่ไม่เพียงพอสำหรับความฝันและความหวังที่จะเห็นสังคมก้าวไปข้างหน้าอย่างสมานฉันท์ (จริงๆ ไม่ชอบคำนี้เลย แต่ขอใช้เพื่อสื่อสารกับคนในชุดความคิดเดิม) และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ
เราต้องการชุดความคิดและความรู้สึกที่ว่าเรากำลังอยู่ในโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจอย่างไร และเราจะร่วมกันต่อสู้/ต่อรองอย่างไร
การทอดทิ้งภาระให้ “คนดี” จึงเป็นเพียงเครื่องมือในการกล่อมเกลาให้เราสยบต่อโครงสร้างอำนาจที่ชนชั้นนำต้องการรักษาสถานะเดิมที่ตนเองได้เปรียบต่อไป มากกว่าการทำให้คนลงมือทำตามความใฝ่ฝัน
จิดานันท์เป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ การเลือกเสนอเรื่องราวเหนือจริงและนอกบริบทสังคมไทยทำให้กรอบความคิดหลักของสังคมไทยดูดีและมีพลังมากขึ้น (ลองคิดดูนะครับว่าหากจิดานันท์ใช้ฉากและชื่อตัวละครทั้งหมดเป็นไทย เราก็จะอ่านไปในอีกทางหนึ่ง และเผลอๆ อาจจะไม่ได้รางวัลซีไรต์) การใช้ภาษาก็ต้องถือว่าอยู่ในระดับควบคุมเป็นนายของภาษา
แต่ในฐานะนักอ่านก็อยากจะแนะว่าต้องก้าวให้พ้นกรอบจำกัดของวิธีคิดแบบไทยเพื่อที่จะทำให้เข้าใจ “มนุษย์” และ “สังคม” มากขึ้น
ท้ายที่สุดก็หวังใจไว้ว่าการได้รับรางวัลตั้งแต่เป็น “นักขียนเด็ก” นี้จะไม่ทำให้รางวัลกลายเป็น “ จุมพิตเพชณฆาต” นะครับ