จีนจะแซงหน้าอเมริกาใน ปี2023
สำนักวิจัย Center for Economics and Business Research (CEBR) ในกรุงลอนดอน ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการพยากรณ์ทางเศรษฐกิจ
ได้แถลงผลการวิจัยเมื่อ 26 ธ.ค. 2017 โดยมีข้อสรุปสำคัญคือ เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐ (วัดจากมูลค่า จีดีพี) ตั้งแต่ปี 2032 หรืออีกใน 14 ปี ข้างหน้า
นอกจากนั้นเราก็จะเห็นถึงความสำคัญ และความโดดเด่นที่ชัดเจนของทวีปเอเชียในเศรษฐกิจโลก กล่าวคือ จะมีประเทศเอเชียถึง 3 ประเทศ คือ จีน (ที่ 1) อินเดีย (ที่ 3) และญี่ปุ่น (ที่ 4) ซึ่งจะติดอันดับ 5 ประเทศ ที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
สำหรับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก 10 อันดับแรกนั้น ก็จะพบว่ามีประเทศเอเชีย ติดอันดับดังกล่าวถึง 5 ประเทศ (จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, เกาหลีใต้ และ อินโดนีเซีย) ซึ่งประเทศที่ไต่อันดับมากที่สุด ในช่วง 2018-2032 คือ อินเดีย (จากที่ 7 เป็นที่ 3) เกาหลีใต้ (จากอันดับ 12 เป็นอันดับ 8) และ อินโดนีเซีย (จากอันดับ 16 เป็นอันดับ 10) ประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 11 คือ ออสเตรเลีย ซึ่งก็อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเช่นกัน
ประเทศที่ความสำคัญทางเศรษฐกิจลดลงนั้น ได้แก่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด ซึ่งประเทศที่ตกอันดับมากที่สุดได้แก่ ฝรั่งเศส (จาก ที่ 5 เป็นที่ 9) อิตาลี (จากที่ 9 เป็นที่ 13) และแคนาดา (จากที่ 10 เป็นที่ 12)
นอกจากนั้น ผมมีข้อสังเกตว่าไม่มีการกล่าวถึงรัสเซีย ในเรื่องของขนาดของเศรษฐกิจเลย เพราะเศรษฐกิจของรัสเซียมีขนาดเล็กมาก (เล็กกว่าอิตาลี) ในขณะนี้
CEBE สรุปว่า “Russia’s economy is among those expected to perform least well between now and 2032” ซึ่งจะขัดกับความรู้สึกในเชิงของความมั่นคงระหว่างประเทศ และด้านการทหารว่ารัสเซียเป็นมหาอำนาจ แต่ในเชิงเศรษฐกิจโลกนั้น รัสเซียแทบจะไม่มีบทบาทเลยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
การที่เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และแซงหน้าสหรัฐในอีกไม่ถึง 15 ปีข้างหน้านั้น เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมองในภาพรวมอีกมิติหนึ่งว่า เศรษฐกิจของทวีปเอเชียนั้นจะเป็นแกนนำหลักของเศรษฐกิจโลกอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคตอันใกล้
แต่หากวัดจีดีพีโดยการคำนวณอำนาจซื้อจริง หรือที่เรียกว่า Purchasing power parity เอเชียอาจจะเข้าสู่สถานะดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนานั้นมักจะมีจีดีพี คิดเป็นมูลค่าเงินดอลลาร์ต่ำกว่าอำนาจซื้อจริง เพราะในประเทศดังกล่าวราคาสินค้าและค่าบริการต่าง ๆ จะถูกกว่าประเทศพัฒนาแล้ว
หากประเมิน จีดีพีโดยใช้ PPP เป็นตัววัดแล้ว จีนและเอเชียนั้นเทียบเท่าหรือนำหน้าสหรัฐ และประเทศกลุ่ม จี 7 ไปแล้วในปัจจุบันไม่ต้องรอปี 2032 ด้วยซ้ำ
แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ก็ต้องยอมรับว่ามาตรฐานความเป็นอยู่ของจีนยังต่ำกว่าสหรัฐมาก
หากรัฐบาลต้องการจะเก็บภาษีประชาชนและระดมทรัพยากรมาพัฒนาศักยภาพทางการทหาร เพื่อความเป็นหนึ่งในด้านความมั่นคงระหว่างประเทศแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า สหรัฐจะยังมีศักยภาพเหนือกว่าจีนหลายเท่าตัว เพราะคนจีนมีรายได้ต่อหัวเพียง 15,400 ดอลลาร์ ในปี 2016 โดยการคำนวณแบบ PPP ซึ่งยังต่ำกว่ารายได้ต่อหัวของคนอเมริกันที่ 57,400 ดอลลาร์ ในปีเดียวกัน
ดังนั้น คนอเมริกันก็ยังร่ำรวยกว่าคนจีนเกือบ 4 เท่า จึงน่าจะมีศักยภาพในการเสียภาษีให้รัฐบาลนำไปสร้างกองทัพที่มีศักยภาพสูงกว่าจีนต่อไปได้อีกหลายสิบปี กล่าวคือจะดูเพียงขนาดของจีดีพีเพียงอย่างเดียว และไม่ดูจีดีพีต่อหัวในการประเมินศักยภาพโดยรวมของประเทศไม่ได้ครับ