มองอดีตตลาดแรงงาน ถึงโจทย์สำคัญของปีนี้
การบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่กลางปี 2557 มีความพยายามขับเคลื่อนให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายใต้กรอบที่กำหนด
อย่างไรก็ตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้เข้ามาบริหารประเทศ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังพึ่งพาการส่งออกมากกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ซึ่งยากที่ไทยจะการควบคุมรายได้ส่วนนี้ จากการผันผวนของตลาดโลกที่สูง
ดังนั้นรัฐบาลจึงหันมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้เกิดการขยายตัว แต่ก็มีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมต่ำกว่าการส่งออกมาก เช่น การใช้จ่ายภาครัฐ การใช้จ่ายในการบริโภคของเอกชน การลงทุนจากต่างประเทศ
รัฐพยายามสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่ของรัฐบาล และเป็นความหวังใหม่ของเศรษฐกิจไทย
แต่ในระยะสั้นมาตรการเหล่านี้ไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
หากย้อนมองกลับไปด้านตลาดแรงงานควบคู่กับช่วงก่อนและหลังการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบันจะพบว่า ในยุค คสช.มีการจ้างงานโดยรวมยังต่ำกว่าปี พ.ศ. 2556 เกือบทุกเดือน โดยเฉพาะเดือนเม.ย. การจ้างงานปี พ.ศ. 2557 ต่ำกว่าปี พ.ศ. 2556 ประมาณ 7 แสนคน และในเดือนที่มีการจ้างงานสูงสุด คือ เดือนมิ.ย. แต่การจ้างงานก็ยังต่ำกว่าปี พ.ศ. 2556 ประมาณ 5 แสนคน
เมื่อการจ้างงานลดลงก็จะส่งผลให้กำลังแรงงานที่ไม่ได้รับการจ้างงาน(คนว่างงาน) เพิ่มสูงขึ้น
ในปี พ.ศ. 2556 การว่างงานโดยรวมต่ำกว่า 1% (0.96) โดยมีการว่างงานสูงสุดในเดือนก.ค.จำนวน 3.6 แสนคน ปี พ.ศ. 2557 การว่างงานสูงสุดในเดือนมิ.ย.สูงถึง 4.5 แสนคนจากสถานการณ์ด้านตลาดแรงงานสะท้อนให้เห็นสภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้เกิดการลงทุนใหม่เพื่อสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อดูดซับอุปทานส่นเกินของแรงงานเก่าและใหม่ได้หมด
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรม หรือไทยแลนด์ 4.0 เป็นแผนการพัฒนาเศรษฐกิจให้ประเทศไทยก้าวผ่านประเทศที่ติดกับดักประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลาง
แต่จุดอ่อนของประเทศไทยจากอดีต คือ การผลิตและพัฒนากำลังคน(ด้านอุปทาน) และกระบวนการผลิตและการค้าที่ขาดนวัตกรรม(ด้านอุปสงค์)
ผลสำรวจภาวการณ์มีงานทำของประชากรไทย ในเดือน ต.ค. 2560 พบว่า ผู้มีงานทำที่จบสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มีจำนวนนับล้านคน แต่ส่วนใหญ่ทำงานไม่ตรงกับสาขาที่จบการศึกษา มีกำลังแรงงานเพียง 41% ของกำลังแรงงานที่อยู่ในข่ายสนับสนุนทั้งหมด 8.12 ล้านคนในภาคอุตสาหกรรม และมีแรงงานสาขาเทคนิคหรือแรงงานที่จัดอยู่ในกลุ่ม productive work force ไม่ถึง 2 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับกำลังแรงงาน 37.2 ล้านคน ในปีเดียวกัน
นอกจากความไม่สอดคล้องด้านปริมาณของแรงงานกับตำแหน่งงาน คุณภาพของแรงงานไทยเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ประเทศกำลังเผชิญ
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำเป็นเวลายาวนานส่งผลต่อคุณภาพของแรงงานที่เข้ามาเติมในตลาดแรงงานขาดคุณภาพไปด้วย และยังมีปัญหาเด็กที่ตกจากระบบการศึกษาที่ขาดโอกาสการพัฒนาทักษะการทำงานที่เหมาะสมและสอดคล้องกับตลาดแรงงาน ทำให้ประเทศเกิดการสูญเสียจากคนกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก และทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมาอีกด้วย
เมื่อพิจารณาแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP) โดยรวมในปี พ.ศ. 2561 น่าจะมีการขยายตัวต่อเนื่องจากปี พ.ศ. 2560
ผลการศึกษาของหลายหน่วยงานรวมทั้ง TDRI ให้ตัวเลขการคาดประมาณการเติบโตดีขึ้นในปี พ.ศ. 2561 น่าจะอยู่ระหว่าง 3.5-4.5%
การที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ตลาดแรงงานฟื้นตัวตามไปด้วยแน่นอน แต่การฟื้นตัวของตลาดแรงงานจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างอุปสงค์และอุปทานแรงงานในเชิงคุณภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
โจทย์สำคัญที่สุดในปีนี้คือ เตรียมคนคุณภาพจากระบบการศึกษา และยกระดับคนในตลาดแรงงานให้เป็นคนทำงานและแรงงาน 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม