จับตาเทรนด์สำคัญในสหภาพยุโรปสำหรับปี 2561

จับตาเทรนด์สำคัญในสหภาพยุโรปสำหรับปี 2561

ก่อนอื่น ขอแสดงความยินดีที่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป มีมติวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ปรับท่าทีโดยให้รื้อฟื้นการมีปฏิสัมพันธ์ทุกระดับกับประเทศไทย

รวมทั้งให้คณะกรรมาธิการยุโรปดูความเป็นไปได้ที่จะกลับมาหารือ FTA ไทย-อียู ด้วย ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียู เพราะจะทำให้ประเทศสมาชิกของอียูได้พูดคุยกับไทยในเรื่องความร่วมมือด้านสำคัญต่างๆ เช่น การค้า การลงทุน ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่สมประโยชน์ทุกฝ่าย

รีวิวปี 2560

ก่อนจะกล่าวถึงเทรนด์สำคัญในปี 2561 นี้ ขอย้อนกลับมาดูพัฒนาการสำคัญๆ ในอียูในปีที่ผ่านมา

เรื่องแรกคงหนีไม่พ้นเรื่อง การเจรจาเรื่องการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียูของสหราชอาณาจักร หรือ “Brexit” ซึ่งเริ่มขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรแจ้งอียูอย่างเป็นทางการว่าต้องการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกเมื่อเดือนมีนาคม และได้เริ่มการเจรจาระยะที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของ “การถอนตัว” มีเรื่องสำคัญได้แก่ เรื่องเงินงบประมาณอียูที่สหราชอาณาจักรต้องรับผิดชอบ เรื่องสิทธิประโยชน์ของพลเมืองทั้งสองฝ่ายซึ่งเป็นสมาชิกอียูในการอาศัยและทำงานหลังการถอนตัว และเรื่องด่านทางบกระหว่างไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์

แม้การเจรจาดูเหมือนจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ในที่สุด ที่ประชุมระดับผู้นำอียูเมื่อเดือนธันวาคม ก็ได้มีมติยอมรับว่า การเจรจาระยะที่หนึ่งมีความคืบหน้า “เพียงพอ” ที่จะเริ่มการเจรจาในระยะที่สองต่อไปได้ ซึ่งการเจรจาในระยะที่สอง ก็จะเป็นเรื่อง “รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูภายหลังการถอนตัว” นอกจากนี้ ผู้นำอียูยังเห็นชอบข้อเสนอของสหราชอาณาจักรที่จะให้มี “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” (transition period) ประมาณ 2 ปีหลังจากที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกแล้ว

ถือว่า ความคืบหน้าในเรื่องการเจรจาที่กล่าวถึง ทำให้หลายฝ่ายคลายความกังวลไปได้ระดับหนึ่ง ส่วนหน้าตาและผลของการเจรจาระยะที่สอง รวมทั้งช่วงเปลี่ยนผ่านจะเป็นอย่างไร ก็คงต้องรอติดตามต่อไปในปี 2561

เรื่องที่สอง ก็เป็นเรื่องเศรษฐกิจของอียู โดยปี 2560 นับเป็นช่วงปีแห่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ทั้งอียู (EU28) และยูโรโซน (EA19) โดยเศรษฐกิจยูโรโซนปิดฉากปี 2560 ด้วยสถิติการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี

โดยนาย Pierre Moscovici กรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและการเงิน ได้รายงานว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อียูสร้างงานใหม่กว่า 8 ล้านตำแหน่ง ทำให้อัตราการว่างงานในอียูลดจาก 10.9% ในปี 2556 ลงมาที่ 7.8% ในปี 2560 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่สอดรับประสานกันระหว่างประเทศหลักของยูโรโซน สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยทางการเมือง (การเลือกตั้งในประเทศหลัก คือ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย และเยอรมนี) ไม่ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจในอียูเท่าใดนัก

เรื่องที่สาม ก็น่าจะเป็นผลการเลือกตั้งในประเทศอียูสำคัญ คือ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรีย และเยอรมนี กระแสที่เกิดขึ้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง คือ ความหวาดเกรงว่า พรรคการเมือง “สายประชานิยม” และ “ต่อต้านอียู” จะได้รับความนิยมขนาดชนะการเลือกตั้งได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะทำให้อนาคตของอียูยิ่งมีความไม่แน่นอนมากขึ้นหลังจาก ที่ประสบ “ช็อก” จากการที่อังกฤษโหวตถอนตัวออกจากอียูมาแล้ว แต่ในที่สุด ผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้น ปรากฏว่า พรรค/ผู้นำฝ่ายกลาง-ขวา สาย “โปรอียู” ต่างได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศทั้งสิ้น

กล่าวคือ เนเธอร์แลนด์ได้เลือกนายรัตเตจากพรรคกลาง-ขวา ฝรั่งเศสเลือกประธานาธิบดีมาครงที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับอียู ออสเตรียได้รัฐบาลฝ่ายขวาที่มีท่าทีสนับสนุนอียู ส่วนเยอรมนีก็ได้เลือกนางแมร์เคิลกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ดังนั้น ในปี 2560 การเมืองในอียูจึงน่าจะถือได้ว่ากลับมามีบรรยากาศสดใสและมีความมั่นใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับภาวะที่ค่อนข้างอึมครึมในช่วงปลายปี 2559

จับตาสถานการณ์อียูในปี 2561

การเมือง – เศรษฐกิจ

บัลแกเรียรับตำแหน่งประธานคณะมนตรีในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศนี้รับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของอียู โดยบัลแกเรียได้กำหนดวาระงานสำคัญ คือ (1) อนาคตของยุโรปและเยาวชน (2) ความสัมพันธ์กับประเทศบอลข่านตะวันตก (3) ความมั่นคงและเสถียรภาพในยุโรป และ (4) การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล

แต่นอกจากประเด็นเหล่านี้แล้ว อียูคงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐาน (การรับคนอพยพด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือลี้ภัยสงคราม) และการขับเคลื่อนการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการเงิน (EMU - Economic and Monetary Union ซึ่งความลักลั่นระหว่างนโยบายการเงินกับการคลังมีส่วนทำให้เกิดวิกฤติสภาพหนี้ในประเทศยุโรปตอนใต้) ตลอดจนการรวมตัวของภาคการเงินและการธนาคาร ซึ่งกำหนดว่าต้องได้รับการตัดสินใจภายในเดือนมิถุนายน

จากผลการเลือกตั้งในประเทศสำคัญ คือ ฝรั่งเศสกับเยอรมนี ได้ผู้นำฝ่ายกลาง-ขวา จึงทำให้มีความคาดหมายว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองจะแนบแน่นเหมือนเช่นในอดีต (ที่มักเรียกกันว่า Franco-German axis) และจะนำไปสู่การขับเคลื่อนให้อียูมีนโยบายใหม่ๆ ด้วย

ที่น่าจับตา คือ ประธานาธิบดีมาครงกับนางแมร์เคิลนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้ตกลงกันที่จะแถลงกําหนดทาทีรวมกัน (common position) ในเรื่อง EMU ในเดือนมีนาคม (อย่างไรก็ดี ณ มกราคม ยังมีความไม่แน่นอนว่า นางแมร์เคิลซึ่งมาจากพรรค Christian Democrats (CDU) จะสามารถบรรลุการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค Social Democrats (SPD) และพรรค Christian Social Union (CSU) ได้เมื่อไหร่)

การเจรจา Brexit คงเข้าสู่ช่วงเข้มข้น เพราะจะต้องเร่งเจรจาระยะที่ 1 ให้ครบทุกประเด็น (รวมทั้งเรื่องละเอียดอ่อน เช่น ตัวเลขงบประมาณที่สหราชอาณาจักรจะต้องให้อียู) และเริ่มการเจรจาระยะที่ 2 ซึ่งยังขาดความชัดเจนในเรื่องสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงตลาดร่วมอียู และรูปแบบความสัมพันธ์กับอียูในอนาคต ทั้งหมดนี้ จะต้องเจรจาให้เสร็จออกมาเป็นเอกสารข้อตกลงทางการ (หรือสนธิสัญญา) ภายในเดือนตุลาคม เพื่อที่ประเทศสมาชิกอียูจะไปผ่านกระบวนการให้สัตยาบัน (คือ ผ่านรัฐสภาประเทศสมาชิกทั้งหมด) เพื่อให้การออกจากสมาชิกอียูของสหราชอาณาจักรเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2562

ทางด้านเศรษฐกิจนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่า เศรษฐกิจอียู น่าจะเติบโตในอัตราเฉลี่ยประมาณ 2.1% ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี เป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ต่อเนื่องจากปี 2560 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 1.7% เท่าเดิม

สำหรับเรื่องสุดท้าย ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับไทย นั้น ฝ่ายอียูจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมต่างๆ ในกรอบ Asia-Europe Meeting หรือ ASEM ซึ่งมีประเทศสมาชิก 53 ประเทศ รวมทั้งไทย โดยบัลแกเรีย จะเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมระหว่าง 1-2 มี.ค. รัฐมนตรีด้านการคลัง ระหว่าง 25-26 เม.ย. และที่สำคัญ คือ การประชุมระดับผู้นำ ASEM ที่กรุงบรัสเซลส์ระหว่าง 16-17 ต.ค.

จับตากฎระเบียบของอียู

สำหรับกฎระเบียบที่สำคัญของอียูที่จะออกมาหรือมีผลบังคับใช้ในปี 2561 นั้น มีเรื่องที่น่าสนใจซึ่งอาจกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ดังนี้

กฎระเบียบเรื่อง General Data Protection Regulation (GDPR) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ 25 .. นี้ โดยมีสาระสำคัญ คือ บริษัทธุรกิจที่จัดเก็บและจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองอียู (มักเป็นธุรกิจที่ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเก็บข้อมูลประเภทชื่อ ที่อยู่ รวมทั้งรสนิยมในการสืบค้นและสั่งซื้อสินค้าและบริการ) จะต้องเพิ่มมาตรการการปกป้องข้อมูลต่างๆ และกฎระเบียบกำหนดไว้ว่า ข้อมูลเหล่านี้จะไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว

การละเมิดกฎระเบียบนี้อาจถูกปรับเป็นจำนวนเงินค่อนข้างสูง และที่สำคัญกฎระเบียบนี้จะมีผลบังคับใช้ปกป้องข้อมูลพลเมืองอียูไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก และแม้ว่าบริษัทธุรกิจดังกล่าวจะไม่ได้ตั้งอยู่ในอียูก็ตาม (รวมทั้งบริษัทธุรกิจที่ตั้งอยู่ในไทย)

อียูยังคงความเคร่งครัดในการพัฒนาระเบียบเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร (ตามที่เคยรายงานเกี่ยวกับระเบียบด้าน “novel foods” ในคราวก่อน) โดยเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 60 อียูได้ประกาศรายชื่ออาหารใหม่ที่ได้รับการอนุมัติในอียูเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบได้ที่ ec.europa.eu/food/safety_en ซึ่งตอนนี้มีผลบังคับใช้แล้ว

นอกจากนี้ ได้ออกกฎระเบียบ (EC) No 2017/625 “Official Control Regulation (OCR)” หรือ การตรวจสอบและควบคุมการบังคับใช้กฎระเบียบอาหารและอาหารสัตว์ กฎระเบียบด้านสุขภาพ และสวัสดิภาพสัตว์ กฎระเบียบด้านสุขภาพพืช และผลิตภัณฑ์อารักขาพืช อยู่ในกฎระเบียบฉบับเดียว โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

อียู มีท่าทีที่จะออกกฎระเบียบจำกัดปริมาณไขมันทรานส์ในอาหารหรือหามใช้ไขมันทรานสในอาหารเหมือนสหรัฐฯและเปิดอภิปรายกับภาคประชาสังคม (public consultation) เมื่อ 17 พ.ย. 60 หลังจากสภายุโรปได้ลงมติเห็นชอบในการกําหนดปริมาณสูงสุดของไขมันทรานสในอาหารในยุโรปตั้งแต่ ต.ค. 59 และหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) เคยประกาศขอแนะนำวาควรบริโภคไขมันทรานสในปริมาณน้อยที่สุดเทาที่จะเปนไปได้ ซึ่งทีมงาน Thaieurope.net จะได้ติดตามนำเสนอรายงานต่อไป

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรต้องเตรียมตัวให้พร้อมในการรับมือกับกฎระเบียบใหม่ของอียู ทั้งเรื่อง GDPR และความปลอดภัยของอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น ทีมงาน Thaieurope.net จะคอยติดตามกฏระเบียบอียูใหม่ๆ มารายงานต่อไปในฉบับหน้า

โดย ...

ทีมงานThaieurope.net