การกีดกันทางการค้า หรือ การเผชิญหน้ากันทางอุดมการณ์เศรษฐศาสต
“Tariffs and quota announced on US imports of solar panels and washing machines marks the start of an effort by Mr. Lighthizer to focus
on trade enforcement rather than compromise….. it represents a profound shift. China and US are on a collision course” (WSJ 23 January 2018)
“The action fits a pattern of focusing on high-visibility sectors that play well with Mr. Trump’s base but won’t hit China where it hurts. The narrow focus of these tariffs explains the muted reaction in markets. Shares in both Shanghai and Seoul rose 1% on 23 Jan (WSJ “Head on the Street” 23 Jan 2018)
เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวสำคัญทางการค้าระหว่างประเทศคือ การประกาศเก็บภาษีศุลกากร โดยรัฐบาลสหรัฐเพื่อคุ้มครองฉุกเฉินผู้ผลิตแผงโซลาเซลล์ และผู้ผลิตเครื่องซักผ้า ในประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังสหรัฐหลายประเทศ เช่นจีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย
นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ดำเนินมาตรการทางการค้า ที่มีผลในการปฏิบัติหลังจากการกล่าวหา และขู่ว่าจะจัดการกับการค้าที่ไม่เป็นธรรมมานานกว่า 1 ปี
แต่หลายคนอาจจะไม่ได้รับทราบเลยว่าได้มีการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าดังกล่าว เพราะตลาดเงินและตลาดทุนมิได้รับผลกระทบกระเทือนแต่อย่างใด
ตรงกันข้าม ดังที่ผมนำเสนอรายงานข่าวจาก Wall Street Journal ในวันที่ 23 ม.ค. หลังการประกาศขึ้นภาษี โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ราคาหุ้นในจีนและเกาหลีใต้ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% ตามแนวโน้มของตลาดหุ้นทั่วโลก
นักวิเคราะห์ “Heard on the Street” ซึ่งมีผู้ติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก มีข้อสรุปว่า มาตรการที่ประกาศออกมานั้น ได้พยายามกำหนดขอบเขตและเงื่อนไขให้ส่งผลกระทบต่อจีนน้อยที่สุด โดยคาดหวังว่าจะสร้างภาพกับฐานเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ว่า ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติแล้ว
ผมเข้าใจว่าการตีความไปในแนวนี้ ยังเป็นแนวคิดหลักของนักลงทุน ซึ่งทำใจดีสู้เสือว่า การกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสงครามทางการค้าระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของโลก (ในเชิงเศรษฐกิจคือสหรัฐ) กับประเทศที่ใหญ่เป็นที่ 2 ของโลก(คือจีน) จะไม่เกิดขึ้น จึงจะไม่กระทบราคาในปี 2018 นี้
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ดังกล่าวอ้างเหตุผลสนับสนุนว่า ทรัมป์จะไม่ดำเนินนโยบายการค้าที่รุนแรงกับจีน เพราะทรัมป์ย่อมรู้ว่าจีนไม่ใช่ลูกไล่ของอเมริกา แตกต่างจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรและต้องพึ่งพาสหรัฐในด้านความมั่งคง แต่ทรัมป์ต้องพึ่งพาจีนในการกดดันเกาหลีเหนือ
เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวดีอยู่แล้วโดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่หากทรัมป์ทำสงครามการค้ากับจีนก็จะต้องถูกจีนตอบโต้ โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรครีพับลิกัน และทรัมป์เอง
คนใกล้ชิดทรัมป์ที่ต่อต้านจีนอย่างรุนแรงที่สุดคือ Steve Bannon ก็ได้ลาออกจากรัฐบาลของทรัมป์ไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ทรัมป์ ยังเขียน Twitter และแสดงท่าทีที่รุนแรงด้านการค้า เรื่องที่จะต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดคือ การประกาศผลการดำเนินการสอบสวนของ USTR ภายใต้มาตรา 301 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐกล่าวหาจีนว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ โดยมีวิธีการต่าง ๆ เช่นการบังคับให้บริษัทสหรัฐต้องร่วมลงทุนกับบริษัทจีน และเปิดทางให้บริษัทจีนเข้าถึงเทคโนโลยีของบริษัทสหรัฐ และการบังคับให้เปิดเผยเทคโนโลยีด้วยมาตรการต่างๆ ของรัฐ
การประกาศคำตัดสินของสหรัฐควรจะเกิดขึ้นภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า(หรืออาจจะเร็วกว่านั้น) โดยทรัมป์ได้เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อกลางเดือนม.ค. ตอนหนึ่งกล่าวว่าเขากำลังพิจารณา “a very big intellectual property fine” สำหรับจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ
แนวคิดอีกด้านหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์ลง Wall Street Journal ในวันที่ 23 ม.ค. เช่นกัน สรุปดังที่ผมนำเสนอข้างต้นว่า หลังจากที่ทรัมป์ไม่พอใจผลงานของรัฐมนตรีพาณิชย์คือ Wilbur Ross (อายุ 80 ปี) จึงให้ Robert Lighthizer ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เป็นหัวหน้าทีมการค้าแทน ซึ่ง Lighthizer ก็เลิกการเจรจาเพื่อหาข้อยุติกับจีน แต่หันมาบังคับใช้กฎหมายการค้าของสหรัฐอย่างเคร่งครัดแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่ต้องคิดจะพึ่งพากระบวนการยุติข้อพิพาท (Dispute Settlement Mechanism) ขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่ง Lighthizer ขัดขวางการแต่งตั้งกรรมการใหม่ของคณะกรรมการตัดสินข้อพิพาท จนกระทั่งมีกรรมการเหลืออยู่เพียง 3 คน (จาก 7 คน)
นอกจากนั้น USTR ก็ยังได้ทำรายงานประจำปี สรุปว่า WTO ไม่สามารถควบคุมความประพฤติของจีนให้ดำเนินการตามกฎเกณฑ์การค้าของโลกได้ และสหรัฐเองก็ “ผิดพลาด” (erred) ในการสนับสนุนให้จีนเข้ามาเป็นสมาชิกของ WTO ในปี 2001
ยังมีต่อในสัปดาห์หน้าครับ